ทรท.-ปชป.ยกทีมรับข้อหาคดียุบ

สั่ง"พี่อ้อ"จ่ายภาษีจันทร์นี้!


2 พรรคใหญ่ทรท.-ปชป.ลุ้นระทึกวันนี้ ตุลาการรธน.นัดฟังข้อกล่าวหาคดียุบพรรค "ชวน"นำทีมประชาธิปัตย์ ส่วนไทยรักไทยนำโดย"พงศ์เทพ" ต่างคุยต่างมั่นใจต่อสู้คดีได้แน่ กดส.สรุปแล้วรายชื่อสมัชชาแห่งชาติได้ทั้งหมด 1,989 คน เตรียมส่งประธานคมช.พิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประธานสนช."มีชัย"ยันไม่เปลี่ยนวิธีการสรรหาเลือกสมัชชาแห่งชาติเหลือ 200 คน "บรรณพจน์ ดามาพงศ์" ต้องมาเสียภาษีกรณีรับหุ้นชินคอร์ปวันจันทร์ที่ 4 ธ.ค. นี้

หลังคตส.ไล่บี้กรมสรรพากรจี้ออกคำสั่งพี่อ้อ "เสี่ยเช"โผล่แจงคตส.คดีซีทีเอ็กซ์ อ้างมาในฐานะพยานข้อมูลทุกอย่างเคยให้ดีเอสไอไปหมดแล้ว "เติ้ง"หม่ำหูฉลาม"สุวัจน์"หลังพยายามขอพบเพื่อเชิญไปงานศพพ่อ ส่วนจะมาอยู่กับพรรคชาติไทยหรือไม่ให้ตัดสินใจเอง เตือนรัฐบาล-คมช.รับมือการเคลื่อนไหวหลังยกเลิกกฎอัยการศึก เชื่อมีปัญหาแน่โดยเฉพาะม็อบที่มีเบื้องหลัง "สพรั่ง"คุยมั่นใจคุมสถานการณ์ได้ เลยยอมเลิกอัยการศึก อ้างคนดีไม่มีปัญหา มีแต่คนเลวเท่านั้นที่เดือดร้อน ส่วน"แม้ว"จะทำอะไรก็เชิญ ไม่ให้ราคาความสำคัญอยู่แล้ว

-"ชวน"พร้อมไปศาลรธน.สู้คดียุบปชป.

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้ว่าคดีที่อัยการสูงสุดฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคของพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า วันที่ 30 พ.ย.นี้ เวลา 13.30 น. ตนและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคจะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังกระบวนการไต่สวนตามที่ตุลาการรัฐธรรมนูญนัดหมาย พร้อมคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย พรรคเตรียมเอกสารหลักฐานทั้งหมด 99 หน้า และพยานบุคคลที่มีร่วม 20 ปาก รวมถึงสื่อมวลชนที่ต่างก็เผชิญกับระบอบทักษิณร่วมเป็นพยานด้วย

"ผมยังมั่นใจต่อข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐาน และพยานบุคคลที่พรรคเตรียมพร้อมไว้ชี้แจงในชั้นศาล เพราะไม่ได้ทำความผิดตามที่มีการกล่าวหา ซึ่งยังไม่สามารถประเมินผลทางคดีได้ว่าจะแพ้หรือชนะ เพราะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าผู้ฟ้องทั้งกกต. และอัยการสูงสุดเตรียมสู้คดีนี้เช่นกัน พรรคจึงไม่ประมาทต่อข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อ" นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวอีกว่า ข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อ เน้นไปที่สาระของอุดมการณ์และนโยบาย 2 ข้อ ส่วนอีก 2 ข้อเกี่ยวข้องและพาดพิงถึงตัวบุคคลภายในพรรค แต่ไม่ได้วิตกกังวลต่อข้อกล่าวหาข้อใดข้อหนึ่ง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่พาดพิงถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แม้นายสุเทพไม่ใช่นักกฎหมายที่จะสามารถชี้แจงหักล้างข้อกล่าวหาได้เป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าจะสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ โดยชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง

-"เทือก"ฟุ้งมั่นใจไม่ได้ทำผิด


ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว และมั่นใจจะสู้คดีได้ ที่มีความมั่นใจเพราะพวกเรารู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าได้ทำอะไรลงไปบ้าง โดยมีวัตถุประสงค์เป้าหมายเพื่ออะไร ทั้งหมดที่พรรคดำเนินการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์นโยบายทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่มีเจตนาทำผิดกฎเกณฑ์กติกา ขนบธรรมเนียมประเพณีทางการเมือง หรือกฎหมายทั้งสิ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลักฐานที่นำเสนอพาดพิงถึงกกต.ชุดเก่าหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า มีบ้าง โดยมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่จะระบุให้เห็นว่ากกต.ชุดเก่าทำไม่ถูกต้องอย่างไร และคำพิพากษาบางส่วนก็จะนำมาอ้างเป็นพยานด้วย

สำหรับข้อหาทั้ง 4 ประเด็นนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ประเด็นที่ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำลายระบอบทักษิณ ด้วยการปราศรัยตามที่ต่างๆ ได้มอบหมายนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทำหน้าที่ซักพยาน ประเด็นที่กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังการสมัครรับเลือกตั้งของส.ส.พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า 3 คน ที่จ.ตรัง มอบหมายนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ซักพยาน ส่วนประเด็นที่มีผู้กล่าวหาว่านายไทกร พลสุวรรณ เป็นตัวแทนของเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจ้างหัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่าใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และพรรคไทยรักไทยนั้น มอบหมายนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ซักพยาน

-เชื่อไม่มีพยานกลับคำให้การ

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ประชาชนชุมนุมขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งที่จ.สงขลา มอบหมายนายถาวร เสนเนียม ซักพยาน ซึ่งทั้งหมดจะซักซ้อมทำความเข้าใจกัน รวมทั้งศึกษาว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวางแนวทางการพิจารณาคดีอย่างไร และพรรคจะได้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าตั้งใจจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคจะเป็นผู้ช่วยเตรียมข้อมูลด้วย

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแม้ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ไม่กังวล เพราะทราบข้อเท็จจริงมาตั้งแต่ต้น และทั้งหมดมีสาเหตุมาจากกรณีพรรคการเมืองใหญ่จ้างพรรคเล็กลงสมัคร ซึ่งตนได้รับทราบ รับรู้ และร่วมกันช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รวมทั้งกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีกกต.ด้วย และไม่คิดว่าจะมีพยานคนไหนกลับคำให้การ

ผู้สื่อข่าวถามว่าระยะเวลาในการพิจารณาคดียุบพรรคจะส่งผลอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มีผลอะไร ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว พรรคไม่กังวล แต่สิ่งที่มุ่งประสงค์ก็คือ ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ รับทราบ และเห็นความถูกผิดไปชัดเจนพร้อมๆ กัน

-"พงศ์เทพ"เล่นจิตวิทยาคดียุบทรท.


ที่พรรคไทยรักไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญเรียกเข้ารับฟังประเด็นข้อกล่าวหาตามคำร้องยุบพรรคจากศาลรัฐธรรมนูญูในวันที่ 30 พ.ย. ว่า กรณีบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบริหารในปัจจุบันกล่าวถึงผลการพิจารณาคดีนี้ ว่าพรรคไทยรักไทยจะถูกยุบแน่นอน พรรคเห็นว่าผู้พูดไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินคดี และพรรคยังเชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรมในคดีนี้ เพราะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนนั้น 8 คนมาจากศาลยุติธรรม และอีก 1 คนมาจากศาลปกครอง เราเชื่อมั่นคนเหล่านี้ เพราะล้วนเคยเป็นผู้พิพากษาตุลาการมาก่อน มีจริยธรรมในการตัดสินคดีความ จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงและสำนวนคดี ไม่ปล่อยให้ใครมาชี้นำแน่นอน

นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า สำหรับพรรคเตรียมทีมทนายต่อสู้เต็มที่ โดยมีฝ่ายกฎหมายของพรรค 6 คน และมีบุคคลภายนอกเป็นทนายความ 1 คนคือ นายสมศักดิ์ โตรักษา พรรคเตรียมประเด็นชี้แจงทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนข้อเท็จจริงเพิ่มจากของเดิม เพราะของเดิมอ้างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เมื่อถูกยกเลิกก็ต้องเปลี่ยนคำชี้แจงตามเหตุผลหลังเกิดรัฐประหาร

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย กล่าวต่อว่า สำหรับข้อต่อสู้หลักคือ 1.กระบวนการพิจารณาของอนุกรรมการ กกต. ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน ไม่ชอบด้วยกระบวนการพิจารณา เพราะไม่เปิดโอกาสให้พรรคชี้แจง 2.ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนของพ.ร.บ.กฎหมายประกอบพรรคการเมือง เนื่องจากเมื่อมีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก แต่พ.ร.บ.ประกอบพรรคการเมือง กลับถูกยกขึ้นมาใหม่ เหมือนปลุกผีดิบให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย 3.ในส่วนข้อกล่าวหาว่านายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่เป็นไปตามนั้น ทั้ง 2 คนก็ปฏิเสธ อีกทั้งพรรคไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว

-ชู"แม้ว"เป็นหนึ่งในพยานปากสำคัญ

"ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ จะเป็นกระบวนการนัดฟังระเบียบว่าด้วยพิจารณาคดี ซึ่งยังไม่เคยใช้กับคดีใดมาก่อน ซึ่งต้องรอฟัง ส่วนพยานบุคคลมีจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยไม่เคยนำพยานเข้าไปชี้แจง และข้อกล่าวหาเกิดขึ้นหลายสถานที่ ต่างกรรมต่างวาระ เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ดังนั้น ต้องเอาบุคคลทั้งหมดเข้าชี้แจง และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็เป็นหนึ่งในบัญชีพยานปากสำคัญ เพราะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคขณะเกิดเหตุ และตามกฎหมายหัวหน้าพรรคถือเป็นผู้แทนของพรรค สำหรับนายพงษ์ศักดิ์และพล.อ.ธรรมรักษ์ก็อยู่ในรายชื่อบุคคลที่ขึ้นให้ปากคำด้วยเช่นกัน" นายพงศ์เทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณยังไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้ จะเป็นปัญหาในการสืบพยานหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตนพอทราบว่าตุลาการรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้สืบพยานผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดังนั้นเจ้าตัวคงไม่ต้องเดินทางมาที่ศาลก็ได้ สำหรับประกาศของคปค. ฉบับที่ 27 ที่เพิ่มโทษให้กรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีนั้น เราไม่ได้ทำข้อโต้แย้งไป เพราะยังไม่เคยได้ยินว่าอัยการและผู้ร้องเปลี่ยนคำฟ้องเพิ่มโทษเข้าไป แต่ตามหลักการกฎหมายจะมีผลใช้ย้อนหลังไม่ได้ หรือหากสุดท้าย เกิดบังคับใช้ก็จะมาดูว่ามีผลอย่างไร

-โต้เสียงวิจารณ์เล่นเกมยืดเยื้อ


เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งตัดสินคดีให้เสร็จก่อนสิ้นปี นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ไม่ทราบไปเอาข่าวมาจากไหน ไม่เคยได้ยินตุลาการรัฐธรรมนูญคนใดพูดว่าจะเร่งตัดสิน ต่อข้อถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคไทยรักไทยเตรียมพยานบุคคลและเอกสารจำนวนมาก เพราะต้องการให้การพิจารณาคดียืดเยื้อ นายพงศ์เทพ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง คดีนี้มีผลกระทบต่อพรรคและสมาชิกพรรคทุกคน ดังนั้น จึงต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

นายพงศ์เทพ กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่จะเร่งรัดให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว และทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่ถูกครอบงำโดยใคร ตนติดตามกระบวนสรรหาผู้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ยังหนักใจ เพราะไม่เคยเห็นว่าจะมีรัฐธรรมนูญหลังปฏิวัติฉบับไหนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญที่ถือเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด คือรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งควรนำมาเป็นต้นแบบ ขณะเดียวกันประชาชนควรติดตามตรวจสอบ อย่าให้รัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์

-"จำลอง"จวกระแวงทรท.เกินเหตุ

ส่วนนายจำลอง ครุฑขุนทด ประธานคณะทำงานศึกษาติดตามการปฏิบัติราชการของฝ่ายบริหาร พรรคไทยรักไทย แถลงถึงการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ว่า มีผลกระทบหลายด้าน อาทิ ส่งผลกระทบถึงหลักความสมานฉันท์ การที่รัฐบาลไม่ชี้แจงถึงเหตุผลไม่ยกเลิกในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนในจังหวัดที่ยกเลิกและไม่ยกเลิกถกเถียงกัน เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความสมานฉันท์ก็จะมีปัญหา และยังเกิดปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของรัฐบาล เพราะมักพูดอยู่เสมอว่าประชาชนชื่นชมไม่ต่อต้านกับการยึดอำนาจรัฐประหาร ดังนั้นการอ้างเรื่องคลื่นใต้น้ำแล้วใช้เป็นเหตุผลไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก จึงเป็นปัญหาเรื่องความเชื่อถือ โดยเฉพาะต่างประเทศมองว่าไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ถ้ายกเลิกทั้งหมดเชื่อว่าจะเป็นไปในทางบวก และที่รัฐบาลบอกว่าจะพยายามยกเลิกให้หมดภายในสิ้นปีนั้น ตนเห็นว่าการพูดกับการกระทำต่างกัน

"การยกเลิกบางพื้นที่น่าจะเกิดจากความผิดพลาดของข่าวหน่วยงานความมั่นคง รัฐบาลน่าจะทบทวนเรื่องนี้ ถ้าประกาศโดยอาศัยความเชื่อตามรายงาน ผมคิดว่ารัฐบาลต้องปรับปรุง แต่ถ้าการยกเลิกครั้งนี้ดูที่ตัวบุคคลของพรรคไทยรักไทยเป็นสำคัญ จะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง พรรคยืนยันว่าไม่ทำอะไรที่เป็นการให้ต่อท่ออำนาจแน่นอน ดังนั้นการโยงเรื่องนี้กับพรรคไทยรักไทยจะทำให้ประชาชนเดือนร้อน ทำให้การใช้กฎหมายกับประชาชนไม่เป็นธรรม พรรคไม่มีคลื่นใต้น้ำแน่นอน

-"ศิธา"จี้ยกเลิกอัยการศึกทั้งหมด


วันเดียวกันน.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกเฉพาะบางพื้นที่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)และรัฐบาล ว่า ความจริงควรยกเลิกตั้งนานแล้ว เนื่องจากการคงกฎอัยการศึกไว้ไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตย และยังทำให้ต่างประเทศมองไม่ดี รัฐบาลไม่ควรระแวงอะไรอีกแล้ว ควรยกเลิกทั้งหมด ไม่ต้องคงไว้อีกแล้วในบางพื้นที่ โดยเฉพาะการเพ่งเล็งมาที่พรรคไทยรักไทย เพราะเราไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรอยู่แล้ว ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนถูกมัดมือชก พยายามกดดันทุกวิถีทาง รมว.กลาโหมก็ชี้นำยุบพรรคไทยรักไทยอยู่ตลอด

น.ต.ศิธา กล่าวอีกว่า การคงกฎอัยการศึกจะทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายกับความหวาดระแวงของรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าการคงเอาไว้อยู่ 35 จังหวัด เป็นการหวังผลเชิงสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลรู้ว่ามีคลื่นใต้น้ำตรงไหนบ้างมากกว่า การกระทำของรัฐบาลและคมช. เปรียบเหมือนมีเสือดำมากินไก่ในบ้าน แต่พอเอาเข้าจริงแค่เห็นเงาแมวก็บอกว่าเป็นเสือแล้ว ทุกวันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาประเทศแบบจับต้นชนปลายไม่ถูก เห็นเรื่องไหนเป็นกระแสก็ทำเรื่องนั้น ทั้งๆ ที่เหตุผลการทำรัฐประหารมีเหตุผลอย่างหนึ่ง แต่วันนี้กลับไปทำอีกอย่างหนึ่ง แก้ปัญหาแบบเปรอะไปหมด ทำให้คนทั้งประเทศสับสนว่ารัฐบาลนี้ปฏิรูปประเทศไทยเพื่ออะไรกันแน่

-"วราเทพ"ยังแทงกั๊กเรื่องอนาคต

ด้านนายวราเทพ รัตนากร อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ลาออกจากพรรคไทยรักไทยยังไม่ได้ตัดสินใจอนาคตทางการเมือง ได้คุยกันในกลุ่มซึ่งมีประมาณ 8 คนบ้าง แต่ยังเร็วไปที่จะคุยว่าจะไปอยู่ที่ไหน เนื่องจากต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าพรรคไทยรักไทยจะถูกยุบพรรคหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่ยุบ ทุกอย่างก็จบ แต่หากชี้ว่ายุบ ก็ต้องขึ้นกับการตีความอีกว่ารวมกรรมการบริหารพรรคในยุคที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษด้วยหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าการพิจารณาต้องยึดตามระบอบประชาธิปไตย สิทธิของมนุษย์จะถูกจำกัดขณะเกิดเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นเท่านั้น ไม่ใช่จำกัดย้อนหลังได้

นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ได้ทำกิจกรรมกับประชาชนในพื้นที่กำแพงเพชรอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ลงไปคลุกเต็มที่เนื่องจากไม่อยากให้ถูกมองว่าเป็นเหตุให้เกิดคลื่นใต้น้ำ ส่วนอนาคตทางการเมืองจะสังกัดพรรคใดต้องขึ้นกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยทำประโยชน์กับประชาชนจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังนั้นหากพรรคไทยรักไทยยังคงอยู่ก็ต้องพิจารณากัน แต่ก็ขึ้นกับพรรคไทยรักไทยด้วยว่าจะส่งคนอื่นลงสมัครส.ส.ในจ.กำแพงเพชรแทนหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามถึงการไปร่วมงานที่บ้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มวังน้ำยมเมื่อไม่กี่วันก่อน นายวราเทพ กล่าวว่า การไปวันนั้นก็เหมือนกับแข่งกีฬา นักกีฬาต้องมีออกกำลังกาย ต้องซ้อม แต่ไม่ได้ตัดสินว่าจะอย่างไรต่อไป

-"เติ้ง"มีคิวแจงคตส.คดีที่ดินอ้อ-หวย


เมื่อเวลา 10.30 น.ที่พรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ในวันที่ 7 ธ.ค.จะไปชี้แจงข้อมูลกับคตส.เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ และหวย ซึ่งเรื่องหวยนั้น ตนตอบได้ง่ายมากเพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้ อย่างไรก็ตามอาจเตรียมเรื่องคุณธรรม จริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯไปด้วย หากซักถาม ทั้งนี้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯควรกำชับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงให้ความร่วมมือให้ข้อมูลแก่คตส. เพราะมีเสียงบ่นกันมากว่าไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร หากได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ งานของคตส.จะเดินหน้าได้เร็วมากขึ้น ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการทำงาน

นายบรรหาร กล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ 41 จังหวัดว่า ถือเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ในสายตาของต่างประเทศ เห็นด้วยกับการเพิ่มพื้นที่กทม.และปริมณฑลเข้ามาด้วย และต่อไปนี้จะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยตำรวจต้องทำงานมากขึ้น และงานข่าวกรองจะต้องปรับปรุงให้ดี มีแผนรับมือพร้อมเพราะหลังจากนี้อาจจะมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องได้ ผบช.น.ต้องมีบทบาทมากกว่านี้ ต้องทำงานอย่างถึงลูกถึงคน ส่วนบางจังหวัดที่รัฐบาลยังคงประกาศกฎอัยการศึกไว้นั้น ก็เห็นด้วยเพราะยังมีการเคลื่อนไหวเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย หรือบุรีรัมย์

-เตือนระวังม็อบที่มีเบื้องหลัง

"ต่อจากนี้คงจะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมกันมาก แต่ม็อบที่น่าห่วงมากที่สุดคือม็อบที่มีเบื้องหลังมีปัญหาแน่นอน ส่วนจะมีการต่อท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่ ไม่สามารถพิสูจน์ แต่ต้องตรวจสอบ แต่กลไกของรัฐบาลชุดที่แล้วในระบบราชการยังมีอยู่ ต้องระมัดระวัง" นายบรรหาร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วจะทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ต้องดูสักระยะหนึ่งก่อน คิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณ คงจะไม่ขยับอะไรอีก เพราะคงท่องเที่ยวเพียงพอแล้ว กลับไปอังกฤษดีกว่า เมื่อถามว่าอดีตนายกฯควรรอสถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยเดินทางกลับประเทศหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ท่านรู้ดี รู้ดีทุกอย่าง

-นัดหม่ำหูฉลามกับ"สุวัจน์"


ต่อข้อถามว่ามองอย่างไรกับกรณีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เดินทางไปพรรคประชาธิปัตย์ นายบรรหาร กล่าวว่า นายสุวัจน์ติดต่อตนมาเช่นกันว่าจะขอพบวันที่ 29 พ.ย. เพื่อเชิญไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพบิดา ซึ่งตนตอบไปว่าไม่จำเป็นต้องมาเจอกันก็ได้ ส่งบัตรเชิญมาอย่างเดียวก็พอ แต่นายสุวัจน์ยืนยันว่าจะมาพบ จึงนัดกันในช่วงเย็น

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะชวนนายสุวัจน์และกลุ่มโคราชมาร่วมงานการเมืองด้วยหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า นายสุวัจน์เป็นคนดี จะเข้าพรรคชาติไทยหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ท่าน อาจพูดเรื่องการเมืองด้วยก็ได้ ขณะนี้ตนไม่คิดเชิญกลุ่มใดมาร่วมพรรคด้วย จะมีก็แต่กลุ่มชลบุรีที่ยื่นใบสมัครเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่า นายบรรหารและนายสุวัจน์นัดรับประทานอาหารที่ร้านซ้งหูฉลาม ย่านปิ่นเกล้าในค่ำวันเดียวกันนี้

-"เสี่ยเช"โผล่สตง.แจงซีทีเอ็กซ์

วันเดียวกันที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้ามีการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของกทม. ภายหลังประชุม นายประเสริฐ บุญศรี ประธานคณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเชิญนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกทม. เข้าชี้แจง โดยก่อนหน้านี้เชิญพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผอ.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เข้าชี้แจงแล้ว ทำให้อนุกรรมการได้ข้อมูลคืบหน้ามาก คณะอนุกรรมการจะนำการชี้แจงมาประกอบกับสำนวนของสตง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อดูว่าต้องหาข้อมูลอะไรเพิ่มเติมบ้าง และจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อไป

ต่อมาช่วงบ่ายประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกของคุณหญิงพจมานประชุมกัน โดยเชิญนายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังมีการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเชิญนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช กก.ผจก.บริษัทแพทริออต เข้าชี้แจง ซึ่งนายวรพจน์ กล่าวก่อนชี้แจงว่า ตนมาให้ข้อมูลทุกอย่างในฐานะพยาน เพราะไม่อยากให้วิศวกรด้วยกันต้องมาขูดรีดกันเอง และกลายเป็นเหยื่อของนักการเมือง ที่ผ่านมาตนเคยให้ข้อมูลไว้กับดีเอสไอแล้ว ดังนั้นการให้ข้อมูลครั้งนี้คงไม่มีอะไรใหม่

นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า นอกจากคณะอนุกรรมการจะตรวจสอบการหลีกเลี่ยงเสียภาษีในการซื้อขายหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นแล้ว คณะอนุกรรมการยังตรวจสอบเรื่องที่เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ อีก 4 ประเด็น โดยมีกรณีโอนหุ้นผ่านนอมินีด้วย ถ้าเรื่องไหนตรวจสอบเสร็จก่อนก็จะว่าเป็นเรื่องๆ ไป

-สั่ง"บรรณพจน์"มาเสียภาษี4ธ.ค.นี้


นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการคตส. กล่าวถึงการส่งหนังสือถึงกรมสรรพากรให้รีบเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ว่า ได้โทรศัพท์สอบถามกรมสรรพากรว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ซึ่งกรมสรรพากรระบุว่าได้ให้นายบรรณพจน์มาเสียภาษีในวันจันทร์ที่ 4 ธ.ค.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินภาษีที่นายบรรณพจน์จะต้องจ่าย

วันเดียวกัน เวลา 18.00 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์กรณีป.ป.ช.เตรียมชี้มูลความผิดกรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในการหลีกเลี่ยงเก็บภาษีการโอนหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 738 ล้านบาท ระหว่างนายบรรณพจน์ กับ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ว่า ล่าสุด น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวแจ้งว่า มี 1 ใน 6 ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พร้อมหลักฐานชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมมายังคณะอนุกรรมการ ทำให้คณะอนุกรรมการต้องนำหลักฐานดังกล่าวมาพิจารณาว่าจะมีข้อมูลที่ต้องไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ จึงอาจไม่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่วันที่ 7 ธ.ค. เพราะตามกระบวนการเมื่อผู้ถูกกล่าวหาส่งหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่ป.ป.ช.จะลงมติ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ในวันที่ 12 ธ.ค. ป.ป.ช.จะแถลงผลงานในรอบเดือนพ.ย.ด้วย

-"สพรั่ง"มั่นใจคุมได้หลังเลิกอัยการศึก

วันเดียวกัน พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผบ.ทบ. และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ คมช. กล่าวถึงมาตรการรองรับการทำงานของทหารภายหลังยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่หากเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นในพื้นที่ยกเลิกกฎอัยการศึก เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อให้อำนาจทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่กทม.และปริมณฑล แสดงว่ามั่นใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ พล.อ.สพรั่ง กล่าวว่า มั่นใจ การที่รัฐบาลและคมช.เห็นพ้องต้องกันให้ยกเลิกในหลายพื้นที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่สภาวะความสงบเรียบร้อย

พล.อ.สพรั่ง กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดใดที่ยังไม่เรียบร้อย มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ก็จำเป็นต้องคงกฎอัยการศึกไว้ คนที่เคลื่อนไหวต้องยอมรับว่าขณะนี้เป็นห้วงเวลาของการฟื้นฟู อย่าออกมากวนน้ำให้ขุ่น ทั้งนี้การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นการดำเนินการด้านจิตวิทยา และต่างประเทศเริ่มเข้าใจว่าทหารเข้ามาในเวลาสั้น ต่างชาติเห็นภาพไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่งเข้าใจประเทศไทย ทำให้รัฐบาลได้รับการตอบรับจากต่างประเทศอย่างดี

-คนไม่ดีเท่านั้นที่เดือดร้อน


เมื่อถามว่าใครเป็นผู้เสนอยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่กทม.และปริมณฑล พล.อ.สพรั่ง กล่าวว่า คมช.เป็นผู้เสนอ เพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล และให้เห็นภาพว่าคมช.และรัฐบาลทำงานสอดคล้องกันดี ทั้งนี้รัฐบาลและคมช.ไม่มีความขัดแย้งกันเรื่องนี้ ส่วนเหตุผลที่ยกเลิกเพราะกทม.เป็นเมืองหลวง เป็นสถานที่ตั้งของรัฐบาลซึ่งมีความสงบสุขดี และเมื่อมีกฎอัยการศึกก็ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนดี มีเพียงคนไม่ดีเท่านั้นที่เดือดร้อน คนที่รับเงินมาเคลื่อนไหวมาต่อต้านรัฐบาลและคมช.ก็ต้องหยุด

"นี่ไม่ใช่การรัฐประหารเหมือนในอดีต แต่คมช.มาเพื่อยับยั้งและหยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรามาฟื้นฟูประเทศ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นคนดีจะช่วยต่อต้านคนไม่ดีที่ออกมาเคลื่อนไหว และเหตุผลหนึ่งที่ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อยืนยันว่าเรามีความสงบเรียบร้อย และให้ความมั่นใจกับประชาชนและสังคมโลกเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ" พล.อ.สพรั่ง กล่าว

-ไม่ให้ราคาความสำคัญ"แม้ว"

ต่อข้อถามว่ากลัวหรือไม่ว่าหลังจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านคมช.และรัฐบาล พล.อ.สพรั่ง กล่าวว่า ไม่กลัว แต่ถามว่าอะไรเป็นเกราะป้องกัน ก็คือประชาชนที่จะออกมาต่อต้านเชื้อโรคร้ายเหล่านั้น อย่าอ้างรักประชาธิปไตยจ๋า เพราะหากอ้างประชาธิปไตยต้องพูดถึงการซื้อสิทธิขายเสียงว่าใครอยู่เบื้องหลัง อย่ามาว่าคนดี ขอให้ไปด่าคนเลว

เมื่อถามว่าคมช.หวั่นหรือไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังเลิกกฎอัยการศึก พล.อ.สพรั่ง กล่าวว่า "ช่างเขาเถอะ เราไม่ให้ความสำคัญ เพราะการไปให้ความสำคัญเหมือนไปเพิ่มค่าให้กับเขา แต่ไม่ใช่ว่าจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ซึ่งคมช.ให้ความสำคัญการฟื้นฟูในสิ่งที่เราอยากเห็นชาติบ้านเมืองเจริญขึ้นมากกว่า"

ต่อข้อถามถึงมาตรการรับมือกลุ่มต่อต้านคมช.และรัฐบาลที่จะชุมนุมใหญ่วันที่ 10 ธ.ค.นี้ พล.อ.สพรั่ง กล่าวว่า สถานการณ์เป็นตัวกำหนด แต่ต้องไม่ล้ำเส้น หากอยู่ได้ให้อยู่ไป แต่หากเคลื่อนไหวกีดขวางถนน เป็นหน้าที่ตำรวจต้องดูแลควบคุมสถานการณ์ให้ได้

-"เตมูจิน"คุย10ธ.ค.ม็อบเกิน3หมื่น


ขณะที่นายชนาพัทธ์ ณ นคร ประธานเครือข่ายประชาชนผู้รักประชาธิปไตย กล่าวว่า เครือข่ายจะชุมนุมใหญ่วันที่ 10 ธ.ค. นี้ที่ท้องสนามหลวง เพื่อเรียกร้องรัฐบาลเร่งคืนอำนาจประชาชนภายใน 90 วัน ล่าสุดได้รับการยืนยันจากกลุ่มแรงงานในกทม. กลุ่มเกษตรกรจากภาคอีสานและภาคเหนือ ส่วนกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ส.จ. อบต. เพิ่งมาประชุมกับตนเมื่อเช้าวันนี้ ยืนยันว่าจะส่งตัวแทนมาชุมนุมด้วยแน่นอน ประกอบด้วยกลุ่มองค์กรท้องถิ่นจากภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคใต้ 5 จังหวัด ภาคอีสาน 10 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด คาดว่าจะมีผู้ชุมนุมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน

สำหรับกำหนดการการชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค.นั้น หลังจากชุมนุมที่สนามหลวงเสร็จ ทางเครือข่ายจะเคลื่อนพลไปวางพวงหรีดที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นไปบก.สส. เพื่อกดดันคมช. เร่งให้มีเลือกตั้งและเปิดโอกาสอดีตส.ส. และส.ว.ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ด้านพล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผบช.น. กล่าวถึงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในกทม. ภายหลังยกเลิกกฎอัยการศึก ว่า ตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการป้องกันและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมืองนั้น ตำรวจนครบาลให้ความสำคัญมาก หลังครม.มีมติยกเลิกกฎอัยการศึกในกทม. คิดว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตำรวจนครบาลเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ตลอดเวลา โดยจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่ากลุ่มต่างๆ รวมทั้งคลื่นใต้น้ำด้วย

-"มีชัย"ไม่เปลี่ยนสรรหาสมัชชาแห่งชาติ

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นผู้แทนกลุ่มและจัดทำบัญชีรายชื่อเสนอคมช. ที่มีนางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหนังสือคัดค้านวิธีสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ที่เปิดให้เลือกข้ามกลุ่มกันได้ ว่า ตนยังไม่เปลี่ยนวิธีสรรหาที่ได้กำหนดไว้ โดยเปิดให้เลือกข้ามกลุ่มได้ ส่วนที่อนุกรรมการทำหนังสือคัดค้านนั้น ถือว่าทำงานกันแปลกๆ ไม่ทราบว่า คณะอนุกรรมการจะทำงานเป็นอิสระจากคณะกรรมการชุดใหญ่หรือไม่ เพราะจากที่สอบถามคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) ชุดใหญ่ ก็เห็นชอบกับวิธีการสรรหาที่ตนเสนอ ดังนั้นถ้ากดส.มีความเห็นอย่างไร ขอให้บอก และข้อเสนอต้องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าให้เรียงตามลำดับคะแนนจากมากลงมาหาน้อย ถ้ากำหนดให้เลือกภายในกลุ่ม หากกลุ่มหนึ่งมีคะแนนมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ไม่ได้รับเลือกเพราะเป็นโควตารายกลุ่มแล้วจะอธิบายกับสังคมอย่างไร ส่วนขั้นตอนการเลือกจาก 200 คนเหลือ 100 คน ของคมช. เชื่อว่าจะมีความหลากหลาย คมช.คงต้องพิจารณาเฉลี่ยกันแต่ละกลุ่ม

-สรุปแล้ว1,989สมัชชาแห่งชาติ


วันเดียวกัน เวลา 18.30 น. ที่รัฐสภา พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) แถลงข่าวภายหลังประชุมว่า ขณะนี้รายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 1,989 คน ขาด 11 คน แยกเป็นภาครัฐ 576 คน ภาคเอกชน 546 ภาคสังคม 540 คน ภาควิชาการ 327 คน ถือว่าภารกิจของกดส.เสร็จสิ้นแล้ว แม้จะขาดไป 11 คน ก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าต้องได้ถึง 2 พันคน อีกทั้งระยะเวลามีจำกัด ไม่อยากใช้เวลามากกว่านี้เพราะจะเกิดความไม่ยุติธรรมและกระทบต่อส่วนอื่น จึงไม่สรรหาเพิ่ม

ประธานกดส. กล่าวอีกว่า วันที่ 30 พ.ย. จะนำรายชื่อทั้งหมดส่งประธานคมช. รับทราบ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนการคัดสรรสมาชิกสมัชชาฯ จาก 2 พันคน ให้เหลือ 200 คน เป็นหน้าที่ของสมาชิกสมัชชาฯ ที่จะคัดเลือกและกำหนดวิธีกันเอง โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. เป็นประธานโดยตำแหน่ง การดำเนินการของกดส. ถือว่าเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ทุกประการ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการให้สมาชิกสมัชชาฯ เลือกข้ามกลุ่ม อาจเกิดการบล็อกโหวตได้นั้น พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์ เพราะไม่ใช่ภาระของกดส.แล้ว เป็นขั้นตอนที่สมาชิกสมัชชาฯ จะเป็นผู้คัดเลือกกันเอง กดส.มีหน้าที่แค่สรรหา โดยคัดเลือกให้เร็วที่สุด ส่วนที่มองว่าสมาชิกสมัชชาฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนจากประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ตนมองว่าคน 65 ล้านคนเป็นคนไทยทั้งสิ้น มีหลากหลายสาขาอาชีพอยู่แล้ว สำหรับบางกลุ่มที่ไม่มีรายชื่อ กดส.จะรายงานคมช.รับทราบโดยจัดทำเป็นบันทึกแนบท้าย สำหรับสมาชิกที่เหลือที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะมาช่วยให้ข้อมูลเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สมบูรณ์ ส่วนสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 100 คน สามารถเชิญผู้ที่มีความรู้ให้เข้ามาช่วย ส่วนตัวมองว่าไม่อยากให้ออกมาคัดค้านก่อน แต่เห็นว่าทุกฝ่ายควรมาช่วยกันทำงาน

เมื่อถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีตัวแทนจากนักการเมืองเข้ามามากนั้น พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า มองว่าควรพิจารณาเป็นกรณีไปว่านักการเมืองที่เข้ามาเลวร้ายหรือไม่ ซึ่งกดส.พยายามคัดเลือกบุคคลจากหลายหลายอาชีพ จึงขอให้ดูในภาพรวม



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์