นายกฯ เมินอุ้มเอกชนหนีวิกฤตค่าเงินบาท


ยันรัฐไม่เกี่ยว พาณิชย์-เอกชนต้องส่งสัญญาณชัดเจน ชี้ จี20 ระบุแทรกแซงค่าเงินไม่เกิดผลบวก ประเทศภูมิภาคเอเชียเจอปัญหาเดียวกัน


วันนี้ (15 พ.ย.) นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ว่า ที่ประชุมรับทราบมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาทตามที่กระทรวงพาณิชย์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เฉพาะข้อเสนอการขออนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และการลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออกเพื่อทดแทนกับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น โดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบนำกลับไปพิจารณาต่อไป รวมทั้งต้องปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาทเป็นวาระจรซึ่งมีทั้งหมด 6 มาตรการ ซึ่งในที่ประชุมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อที่ประชุมว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้หารือกับภาคเอกชน ซึ่งต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นข้อเสนอของรัฐบาลแต่อย่างใด โดยนายกฯได้ย้ำว่าจากการหารือกับผู้นำของประเทศต่างๆทั้งในเวทีของผู้นำเอเปกและประเทศในกลุ่มจี 20 ต่างเห็นร่วมกันว่าการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินนั้นไม่ได้เกิดผลใด ๆ ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นไปตามธรรมชาติที่ทุกสกุลเงินในภูมิภาคนี้ต่างแข็งค่าเหมือนกันหมดไม่ได้มีอะไรที่ผิดปกติ ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเป็นไปตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า

การพิจารณาของค่าเงินบาทนั้นเป็นหน้าที่ของธปท. โดยครม.ไม่มีอำนาจในการพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งนายกฯย้ำว่าข้อเสนอที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมานั้นมีสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ใน 2 เรื่องคือการชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศและการลดค่าธรรมเนียมศุลกากร เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของธปท.และกระทรวงการคลังที่จะเข้ามาดูแลในรายละเอียดทั้งหมด รวมทั้งระบุว่ากรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าราคาน้ำมันไม่ปรับลดลงทั้งที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากนั้นจากการไปศึกษาโครงสร้างราคาสินค้าพบว่าอัตราการขึ้นราคาน้ำมันดิบที่ผ่านมามีอัตราใกล้เคียงกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจึงทำให้ไม่สามารถลดราคาลงได้

รายงานข่าว กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมานั้นมีทั้งหมด 6 มาตรการคือ

ธปท.ต้องแทรกแซงค่าเงินไม่ผันผวนและสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และควรใช้อัตราซื้อสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เป็นอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงในการคำนวณการแข็งค่าที่แท้จริงของเงินบาท,การควบคุมการไหลของเงินทุนต่างประเทศ หรือแคปปิตอล คอนโทรล ด้วยการกำหนดระยะเวลาการนำเงินเข้ามาลงทุน การออกมาตรการเรื่องค่าธรรมเนียม เป็นต้น, การอนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้,การลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออก,ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและขอให้หน่วยงานภาครัฐรับฟังและติดตามแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์