มาร์คยันช่วย5,000เร่งเร็วสุด รับช่วยเหลือ100%ไม่ทุกพื้นที่ ยอดตายพุ่ง59ราย น้ำป่าสักทะลักถ.เอเซีย

"มาร์ค"ยันช่วย5,000เร่งเร็วสุด รับช่วยเหลือ100%ไม่ทุกพื้นที่ ยอดตายพุ่ง59ราย น้ำป่าสักทะลักถ.เอเซีย

"น้ำป่าสัก"ทะลักไหลบ่าเข้าถนนสายเอเซียแล้ว จ่อท่วม อ.บางบัวทอง นนทบุรี-อ.บางเลน นครปฐม สธ.เผยน้ำท่วมตายแล้ว59ราย รพ.เสียหาย42แห่ง "มาร์ค"ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำกทม. ยันช่วย5,000เร่งเร็วสุด รับช่วยเหลือ100%ไม่ทุกพื้นที่


"มาร์ค"ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำกทม.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจความพร้อมศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ


ต่อมาเวลา 11.40 น. นายกฯได้ลงพื้นที่ตรวจอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม โดยนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงวิกฤตสถานการณ์น้ำว่าผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้วหรือไม่ ว่า คงจะดูอีก 1 – 2 วัน แต่ขณะนี้ถ้าระดับเป็นอย่างนี้จะไม่มีปัญหา ซึ่งระบบของกทม.การใช้อุโมงค์ระบายน้ำยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


“แต่ผมได้ฝากไว้ดังนี้
1.มีชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำที่เขาโดนผลกระทบแน่นอน ซึ่งขณะนี้มีกว่า 1,000 ครัวเรือน ต้องมีการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
2.แม้พ้นช่วงนี้ไปช่วงต้นเดือนหน้ายังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
3.จะมีพื้นที่ทางตะวันออกซึ่งอยู่ด้านนอก ต้องมีการติดตามเนื่องจากเมื่อ 4 ปีก่อน จะมีน้ำท่วมอยู่และมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร ซึ่งเชื่อมการระบายน้ำลงมาจากทางเหนือที่จะอ้อมมาทางตะวันออก ซึ่งขอให้เขาช่วยติดตามเป็นพิเศษ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


สั่งประเมินที่อยู่อาศัยใกล้ทางน้ำ เล็งอพยพตามความสมัครใจ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการสนับสนุนการทำอุโมงค์ระบายน้ำนั้น ขณะนี้มีโครงการที่เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคงจะดูว่าเร่งสนับสนุนอย่างไร ส่วนถนนต้องดูว่าจะใช้ระบบไหน บางที่ถนนเป็นคันอยู่ ซึ่งจะแต่ต่างในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามการวางระบบบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศต้องทำแน่นอน แต่สิ่งที่หลายพื้นที่ในขณะนี้ต้องทำซึ่งทำได้เร็วกว่าคือการดูแลสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ


“ปัญหาในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ซึ่งเป็นจุดที่ตนคิดว่าจะต้องเร่งทำหลังจากช่วงสถานการณ์นี้ผ่านไป เดี่ยวพอสถานการณ์ผ่านไปอยากให้ประเมินในแง่ของผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งจะประสบปัญหาอย่างนี้เกือบทุกปีว่าจะมีทางอย่างไร ในการที่จะพูดคุยกับชาวบ้านว่าจะหาทางอย่างไร”


ผู้สี่อข่าวถามว่า จะอพยพประชาชนในพื้นที่เลยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ต้องอยู่ที่ความสมัครใจ แต่ก็น่าคิดเพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาเกือบทุกปี” เมื่อถามว่า ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา สนามกีฬาที่สร้างใหม่ มีส่วนขวางทางน้ำ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะไปตรวจสอบว่าเป็นความจริงมาน้อยเพียงใด


เมื่อถามว่า ประชาชนจะต้องอยู่ในสภาพน้ำท่วมไปอีกนานแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แล้วแต่พื้นที่ ถ้าไล่ลงมาเริ่มมีพื้นที่ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีพื้นที่ที่น้ำยังไปไม่ถึง ฉะนั้นอย่างน้อยอีกหลายสัปดาห์กว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะผ่านพ้นไป ซึ่งจะต้องดูในช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ไปด้วย เมื่อถามว่า สถานการณ์ภาพรวมขณะนี้จะกระทบต่อจีดีพีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน จะให้เขาประเมินมาอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ แต่ทั้งหมดอยู่ในช่วงนี้ด้วย เพราะหากกทม.และปริมณฑลได้รับผลกระทบตรงนี้จะหนัก เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจล้วนๆ


เมื่อถามว่า ตัวฉุดจีดีพีมีอะไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ซึ่งเหตุน้ำท่วมเป็นปัญหาอยู่แล้ว และความชะงักงันที่เกิดขึ้น ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน นอกการประเมินความเสียหายจะมีประเด็นที่มีมาตรการเกี่ยวกับผู้ประกอบการ ซึ่งทางหน่ยวยงานเขาได้เสนอมาแต่ตนไม่อยากให้เกิดความสับสน เพราะในการประชุมครม.ต้องการดูแลประชาชนก่อน


ยันช่วย 5,000 เร่งให้เร็วที่สุด รับยังช่วยเหลือ100%ได้ไม่ทุกพื้นที่


เมื่อถามว่า มีเสียสะท้อนว่าเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อครัวเรือน อาจจะช้าเกินไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะเร่งให้เร็วที่สุด ตนพูดเผื่อไว้ก่อน คิดว่าพอเขาเสนอรูปแบบวิธีการมาได้ ยอมรับว่าพอเร็วการตรวจสอบจะไม่เข้มข้นเท่าที่บางฝ่ายอยากจะเห็น ฉะนั้นต้องหาความพอดี อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือขณะนี้ตนเรียนตรงๆว่าไม่มีที่ไหนที่จะบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าได้ช่วยเหลือ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตราบใดที่การสื่อสารทำได้ จุดไหนที่มีปัญหาขอให้แจ้งมาเราจะส่งคนเข้าไป


เมื่อถามว่า ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาหลังจากนี้จะแก้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการดำเนินการสั่งการไปก่อนที่น้ำท่วมแล้ว ซึ่งเราได้พูดถึงการบริหารจัดการลุ่มน้ำที่เป็นโครงการการระบายน้ำทั้งหมดรวมถึงสิ่งก่อสร้าง ความจริงพูดและเป็นมติครม.ไปก่อนที่น้ำท่วม เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาเป็นวัน มันต้องเป็นเดือนหรือปี ที่ตนไม่ได้พูดมากตอนนี้เพราะไม่ต้องการให้เกิดความสับสน เนื่องจากประชาชนจำนวนมากยังมีความกังวลและเครียดกับสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ถ้าเราเร่งพูดในเรื่องเหมือนกับเหตุการณ์ปกติ มันกระทบความรู้สึกของเขาเหมือนกัน แต่ไม่ได้ละเลยแน่ เราไม่ปล่อยผ่านไป


รับปีหน้าอาจมีน้ำท่วมอีก อ้างสร้างระบบทั้งหมดไม่ทัน


เมื่อถามว่า ในปี 2554 จะต้องเจอปัญหาน้ำท่วมอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปีหน้าก็อาจจะมีหลายพื้นที่ เพราะอย่าลืมว่าโครงการเวลาเราทำมันไม่ได้เสร็จภายในปีเดียว เช่น อุโมงค์ระบายน้ำ ต้องใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้าง ฉะนั้นในหลายพื้นที่ที่ต้องปรับปรุงโครงการระบายน้ำที่เป็นระบบทั้งหมดต้องใช้เวลา เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าการช่วยเหลือล้าช้า เช่น เงินภัยแล้งยังไม่ถึงประชาชน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลังตนเข้ามาตนไล่จ่ายเงินที่ค้างมา 2 – 3 ปีเกือบหมดแล้ว เหลือในช่วงนี้ซึ่งถ้าเราใช้วิธีปกติมันจะช้า เราถึงได้ตัดสินใจจ่าย 5,000 บาท แล้วจะมีส่วนอื่นที่ตามมา อย่าลืมว่าขณะนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง บางพื้นที่ให้เขาเข้าไปสำรวจความเสียหายยังไม่ได้ แต่พื้นที่ไหนที่น้ำลดกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าได้เตรียมการและเริ่มดำเนินการแล้ว แต่เราต้องอยู่กับความเป็นจริงอย่างพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรี ยังต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาขยายวงอยู่ เราจะให้เจ้าหน้าที่ทำในเรื่องอื่นไมได้ เจ้าหน้าที่ต้องช่วยเหลือประชาชนเฉพาะหน้าก่อน

สธ.เผยน้ำท่วมตายแล้ว59รายสถานบริการทางการแพทย์เสียหาย42แห่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (วอร์รูม สธ.) วันที่ 27 ตุลาคมว่า มีผู้ป่วยจากสถานการณ์น้ำท่วมได้รับบริการทางการแพทย์จำนวน 122,000 ราย เสียชีวิต 59 ราย เพิ่มจากเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมอีก 3 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตจากจ. สระบุรี ชัยนาท และพิจิตร ในจำนวนดังกล่าวพบว่า 52 รายเสียชีวิตจากการจมน้ำ  ในหลายกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่า มีหลายรายไม่น่าเสียชีวิต หากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ออกจากบ้านในช่วงน้ำหลาก และถูกน้ำพัดหายไป หรือกรณีอุ้มเด็กทารกฝ่ากระแสน้ำและก็หล่นจมน้ำหายไป รวมทั้งกรณีออกไปหาปลา และจมน้ำพัดหายไป กรณีเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้


สำหรับสถานบริการในสังกัด สธ. เสียหาย 42 แห่ง โดยในจำนวนดังกล่าวมี  3 แห่งใหญ่ คือ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ชัยภูมิ และรพ.พิมาย  เปิดให้บริการตามปกติแล้ว ส่วนความเสียหายเบื้องต้น พบว่า รพ.มหาราชนครราชสีมาเสียหาย 30 ล้านบาท รพ.ชัยภูมิเสียหาย  7 ล้านบาท รพ.พิมายเสียหาย  7 ล้านบาท รพ.จิตเวชนครราชสีมา เสียหาย 6 ล้านบาท รวมแล้ว 50 ล้านบาท  จะต้องหารือกับสำนักงบประมาณพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ แต่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเบื้องต้นในเรื่องงบประมาณดูแลแล้ว 


ส่วนการแจกยาชุดน้ำท่วม ทั้งยาแก้ไข้ ยารักษาน้ำกัดเท้า ยารักษาโรคผิวหนัง ไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว 300,000 ชุด แต่มีความจำเป็นต้องใช้ยาอีกจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีอัตราการผลิตอยู่ที่ 25,000 ชุดต่อวัน ตนได้สั่งการให้เพิ่มการผลิตโดยภายใน 5 วันจะต้องผลิตให้ได้ 900,000 ชุด


“ถุงดำสำหรับแก้ปัญหาประชาชนไม่ให้ขับถ่ายลงน้ำทางกรมอนามัยรายงานว่า ได้แจกจ่ายไปแล้ว 360,000 ถุง และอยากแนะนำให้ประชาชนทำสุขาชั่วคราวขึ้นใช้เองโดยใช้ถุงดำ หากล่องใช้ได้และเจาะรูตรงกลาง และใส่ถุงดำลงไป เพราะถ่ายเสร็จก็มัดเชือกตรงปลายถุงดำ และนำไปเก็บรวมไว้จะมีเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บต่อไป  โรคที่มักมากับน้ำท่วม คือ โรค อุจจาระร่วง ไข้หวัด ไข้เลือดออก  ฉี่หนู โรคหัด รวมถึงภาวะทางอารมณ์ เครียด ทางกรมสุขภาพจิตกำลังติดตามอยู่ 168 ราย”


ด้าน นพ.อภิชัย  มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องติดตาม 168 รายนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในจ.นครราชสีมา พบว่ามีความเครียดสูงมาก บางคนเสี่ยงกับการฆ่าตัวตาย จึงต้องติดตามเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยเก่าด้านจิตเวช ซึ่งได้รับการรักษาจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะปกติได้แล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมทำให้มีอาการกำเริบขึ้น ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตจะคอยติดตามอาการทุกสัปดาห์ โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะกลับมามีอาการเป็นปกติ

       
ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 10-27 ตุลาคม  มีผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยรวม  59 ราย  ใน 18 จังหวัด  ประกอบด้วย

จ.นครราชสีมา 9 ราย 

จ.บุรีรัมย์ 6 ราย  

จ.ลพบุรี 10 ราย 

จ.ขอนแก่น 3 ราย  

จ.เพชรบูรณ์ 3 ราย 

จ.ระยอง 2 ราย 

จ.ชัยภูมิ 2 ราย

จ.ตราด 1 ราย 

จ.สระแก้ว 1 ราย

จ.สระบุรี 3 ราย

จ.พระนครศรีอยุธยา 1 ราย

จ.นนทบุรี 1 ราย

จ.อุทัยธานี 1 ราย 

จ.ชัยนาท 2 ราย

จ.กำแพงเพชร 3 ราย 

จ.นครสวรรค์ 8 ราย

จ.สิงห์บุรี 2 ราย 

จ.พิจิตร 1 ราย

น้ำป่าสักทะลักไหลบ่าเข้าถนนสายเอเซียแล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม  ว่าระดับน้ำในเขต ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นเพราะแม่น้ำป่าสักไหลเข้ามาตามคลองบ้านม้า สูงกว่า 2 เมตรเศษ และพบว่าได้ไหลข้ามถนนช่างแสง ระดับความสูงของน้ำไหลกว่า 50 ซม. ระยะทางยาวกว่า 500 เมตร โดยน้ำทั้งหมดไหลลงข้างพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิวิทยาเขตหันตรา และไหลไปถึงถนนสายเอเชียช่วงหลัก กม.14-15 และไหลลงคลองสาคู โดยมุ่งหน้าไป  หลังตลาดกลางเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา และมุ่งหน้าต่อไปยังเขต ต.ข้าวเม่า , ต.ธนู , ต.คานหาม อ.อุทัย ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากแล้ว  


สำหรับพื้นที่ อ.อุทัย ปกติ เป็นพื้นที่อยู่ในคันล้อมป้องกันน้ำท่วมและอยู่ในเขตชลประทาน  โดยน้ำที่ไหลทะลักเข้าจำนวนมากเช่นนี้จะเริ่มสร้างความเสียหายให้แก่ อ.อุทัย แล้วเช่นกัน


นอกจากนี้พบว่าน้ำจาก ต.หันตรา ได้ไหลข้ามถนนสายป่าโค-บ้านเกาะ สูงกว่า 70 ซม. ระยะทางยาวกว่า 500 เมตร จนรถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสายสำคัญเส้นทางหนึ่งที่จะเข้าตัวเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา   


ขณะที่ถนนโรจนะซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้าจังหวัด พบว่าช่องทางขาออกของถนนโรจนะ ในช่องทางซ้ายสุดตั้งแต่วงเวียนกลางถนน ไปจนถึงแยกวัดพระญาติ น้ำจาก ต.หันตรา และ ต.ไผ่ลิง ได้ไหลเข้าท่วมผิวการจราจรสูงกว่า 30 ซม.แล้วเช่นกัน



จ่อที่ อ.บางบัวทอง นนทบุรี - อ.บางเลน นครปฐม


 


นายสมชัย ไตรถาวร อายุ37 ปี แกนนำกลุ่มเกษตร จ.พระนครศรีอยุธยา  กล่าวว่า  น้ำจากเจ้าพระยาไหลเข้าคลองโผงเผงมาออกแม่น้ำน้อยที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ทำให้น้ำในเขต อ.เสนามีระดับสูงมาก และน้ำในเขต อ.บางไทร ที่ติดแม่น้ำน้อย ก็มีระดับความสูงมากเช่นกัน  โดยพบว่า น้ำจากแม่น้ำน้อยในเขต อ.เสนา และ อ.บางไทร ได้ไหลข้ามถนนคันคลองชลประทานหลายจุดในประมาณมาก เช่นในเขต ต.บางยี่โท ต.ช่างเหล็ก ของ อ.บางไทร หรือ ต.บางนมโค อ.เสนา และน้ำทั้งหมดไหลลงทุ่งนาในเขตรอยต่อ อ.เสนา และ บางไทร เข้าท่วมพื้นที่ข้าวนาปรังแล้ว  โดยทุ่งนาที่น้ำทะลักเข้าท่วมนี้ขนาดหลายแสนไร่ อยู่ในอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง 4 อำเภอ คือ อ.เสนา , อ.บางไทร , อ.บางซ้าย และ อ.ลาดบัวหลวง  

แกนนำกลุ่มเกษตร จ.พระนครศรีอยุธยา  กล่าวต่อว่า   ทางน้ำไหลไม่ได้มาตามลำคลองแล้วเพราะระดับน้ำท่วมสูงกว่าพื้นนาประมาณ 1 เมตร ได้ได้ไหลบ่าข้ามเป็นทุ่ง ๆ กินพื้นที่บริเวณกว้า  และเชื่อว่าในระยะ 1-2 วันนี้น้ำจำนวนมหาศาลจะไหลเข้าสู่ทุ่งในเขต  อ.ลาดบัวหลวง ได้แก่ ทุ่ง ต.ลาดบัวหลวง , ต.หลักชัย , ต.สามเมือง ซึ่งจะเป็นเขตติดต่อไปยังทุ่งนาในเขต อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และทุ่งนาในเขต อ.บางเลน จ.นครปฐมได้เช่นกัน   ทั้งนี้  ทุ่งนาพื้นที่กว้างขนาดนี้เคยถูกน้ำท่วมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2549 เพราะมีการผลักดันน้ำเข้าทุ่ง และครั้งนี้ก็มีน้ำไหลเข้าทุ่งแล้วเช่นกัน ปัจจุบันนาปรังที่ต้นข้าวเริ่มตั้งท้อง เริ่มจมน้ำเสียหายแล้วเช่นกัน และชาวนาในเขต อ.ลาดบัวหลวง ที่ต้นข้าวออกรวงและจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อนกำหนด และสามารถขายได้เพียงราคาตันละ 6,000 บาทเท่านั้น  นอกจากทุ่งนาแล้วยังมีสวนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ๆ และสวนผลไม่ขนาดใหญ่อีกจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบ

“  ชาวนาในทุ่งก็มีความคิดเป็นสองทาง กลุ่มแรกไม่เห็นด้วยกับการผันน้ำเข้าทุ่ง เพราะบ้านเรือนเสียหายไปแล้วจะให้ไร่นาเสียหายอีกก็แย่หมดตัวหมดช่องทางทำมาหากินและขอขัดขวางเต็มที่  กลุ่มที่สองก็ยอมรับสภาพและเชื่อว่าการผันน้ำเข้าทุ่งเพื่อแบกรับภาระน้ำแทนคนกรุงเทพ ซึ่งต้องจำยอมเสียสละพื้นที่นาเพื่อรองรับน้ำเหนือหลาก แต่อยากขอให้รัฐและคนที่เราแบกรับน้ำแทน มาเห็นใจพวกเราบ้าง โดยต้องมาช่วยเหลือตามสภาพความเสียหายที่แท้จริง  อยากให้เห็นใจอกเขาอกเราบ้าง ” นายสมชัย ไตรถาวร

เตรียมรับน้ำเขื่อนกระเสียว "ทต.บางหลวง"หวั่นตลาดเก่า100ปีพัง


ด.ต.บำรุง  วิมูลชาติ  นายกเทศมนตรีตำบลบางหลวง อ.บางเลน จ.นครปฐม เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีน ที่กำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ว่าได้เตรียมรับมือการเพิ่มของระดับน้ำโดยประสานความร่วมมือไปยังโรงเรียนการบินกำแพงแสน จัดส่งทหารมาช่วยทำผนังกั้นน้ำตลอดแนวสองฝั่งลำน้ำท่าจีน และคลองสาขาที่เชื่อมต่อแม่น้ำท่าจีน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นเข้ามาในพื้นที่เศรษฐกิจ ตลาดน้ำบางหลวงซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่กว่า 100 ปี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย  และเสริมคันกั้นน้ำถนนสายหลักเชื่อต่อระหว่างตำบล และหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ได้นำผลผลิตส่งตลาดได้ทันเวลา

ด.ต.บำรุง  กล่าวว่า เทศบาลได้ตั้งวอร์รูมเพื่อรับปัญหาน้ำท่วม โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด24 ชั่วโมง และประสานกับผู้ดูแลประตูระบายน้ำพระพิมล ซึ่งเป็นประตูน้ำสำคัญที่จะผันน้ำลงท่าจีน และประชุมร่วมกับนายอำเภอ ป้องกันภัยจังหวัด เพื่อเช็คระดับความปลอดภัย และขณะนี้ได้เตรียมรับมือน้ำทีเขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ระบายออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าแนวป้องกันที่ทำไว้น่าจะรับไว้ได้ และหรือหากไม่ไหวจริงๆเรามีพื้นที่แก้มลิงเตรียมไว้แล้ว

รบ.ใช้งบฯ5พันล้านเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย25 จังหวัดเต็มที่


นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 25 จังหวัดว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย เบื้องต้นได้เยียวยาแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน ด้านความเป็นอยู่, อาหาร ส่วนระยะยาวต้องรอประเมินตัวเลข โดยประชาชนกว่า 5 แสนครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ โดยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติวงเงินกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อชดเชยทรัพย์สินที่เสียหายจากน้ำท่วมเฉียบพลัน ซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับประชาชน รวมทั้งอนุมัติวงเงินเพิ่ม 308 ล้านบาท จัดซื้อเรือท้องแบน, เต็นท์ยกพื้น ที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน ได้เปิดศูนย์ประสานการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้รับผิดชอบ ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอำนวยการกำกับและติดตามช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ คชอ. มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการประสานนโยบายและทำความเข้าใจ ในการแก้ไขปัญหาข้อติดขัด เพื่อนำความช่วยเหลือเข้าสู่พื้นที่อย่างรวดเร็ว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์