กองทุนฟื้นฟูจ่าย823ล.คืนหญิงอ้อ

กองทุนฟื้นฟูฯไม่อุทธรณ์คดีที่ดินรัชดา พร้อมจ่ายเงิน-ดอกเบี้ยรวม 832 ล้าน คืน "หญิงอ้อ"หลังปรึกษาอัยการสูงสสุด เชื้อไม่คุ้มหากแพ้คดียันไม่มีเสีย มีแต่ได้ เหตุราคาประเมินที่ดินพุ่งกว่า 900 ล้านซ้ำประกาศผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ปี 49 ให้สร้างตึกสูง-อาคารขนาดใหญ่ได้
   
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นางทองอุไร ลิ้ม ปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้บริหารจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ)

เปิดเผยว่า กองทุนฯ ยอมจ่ายเงินคืนค่าซื้อที่ดินรัชดา 772 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี เป็นเงิน 51 ล้าน รวม 823 ล้านบาท ให้แก่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หลังขอความเห็นสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการ ซึ่งสำนักงานอัยการเห็นว่าคำพิพากษาศาลแพ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงชอบด้วยเหตุผลและเป็นธรรมแก่คู่กรณี จึงไม่ควรอุทธรณ์ นอกจากนี้กองทุนฯเห็นว่าการปฏิบัติตามคำของศาลจะเป็นประโยชน์ต่อทางการและกองทุนฯ มากกว่าการอุทธรณ์ฎีกา เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสูงที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า
   
อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ เห็นว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งในส่วนที่ให้นิติกรรมการซื้อคืนที่ดินตกเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อที่ดิน พร้อมให้คุณหญิงพจมาน ส่งมอบที่ดินคืนแก่กองทุน
   
เป็นไปตามคำฟ้องของกองทุนฯ แล้ว จึงไม่อุทธรณ์ รวมทั้งส่วนที่กองทุนฯ ต้องชำระค่าที่ดินคืนพร้อมดอกเบี้ยนั้น

ศาลแพ่งพิพากษาว่าเมื่อนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างกองทุนฯ กับคุณหญิงพจมาน เป็นโมฆะแล้ว ย่อมไม่มีมูลหนี้ตามกฎหมายที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะอ้างให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องชำระหนี้แก่ตน การที่กองทุนฯโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดิน หรือการที่คุณหญิงพจมาน ชำระค่าที่ดิน จึงเป็นกรณีที่ต่างได้รับทรัพย์สิน ดังนั้นทั้งกองทุนฯ และคุณหญิงพจมาน จึง    ต้องคืนทรัพย์สินที่ได้รับไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง
   
สำหรับอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่คุณหญิงพจมาน ฟ้องแย้งนั้น ศาลแพ่งพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ตามมาตรา 224 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี” และสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา 871/2551 และคำพิพากษาศาลฎีกา 4075/2546 ทั้งนี้ การอุทธรณ์ฎีกาจะต้องใช้เวลานานกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา และในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลแพ่งให้ชำระดอกเบี้ยแล้ว กองทุนฯ จะต้องรับภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก ซึ่งคิดเป็น 57 ล้านบาทต่อปี
   
“กองทุนได้ชำระเงินคืนค่าที่ดินแล้ว ซึ่งวางไว้ที่ศาลเพื่อหยุดการคิดดอกเบี้ย เมื่อเช้าวันที่ 7 ต.ค. รวมแล้วประมาณ 823 ล้านบาทเศษ ถือว่ายังต่ำกว่ามูลค่าที่ดินที่ได้รับคืน เพราะปัจจุบันราคาประเมินราชการของกรมที่ดินประเมินไว้ที่ 918 ล้านบาท ประกอบกับกองทุนได้เงิน 772 ล้านบาท มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 46 ซึ่งกองทุนฯได้ประโยชน์จากเงินดังกล่าวมากกว่า 8 ปีแล้ว โดยกองทุนฯ ได้นำเงินก้อนนี้ไปชำระหนี้ และลงทุนรวมทั้งเมื่อได้ที่ดินกลับคืนมาก็สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เนื่องจากตามประกาศผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ปี 49 ให้ที่ดินดังกล่าวสร้างตึกสูงและอาคารขนาดใหญ่ได้ ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นส่วนเมื่อได้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาแล้วนั้น จะทำการประมูลทันทีหรือไม่ หรือจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น ต้องนำเข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯก่อน เพื่อพิจารณาต่อไป” นางทองอุไร กล่าว.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์