เปิดคำโต้แย้งจารุวรรณสู้สุดฤทธิ์ ยันคดีพ้นเก้าอี้ไม่อยู่ในอำนาจศาล ปค.

ในการไต่สวนของศาลปกครองกลาง  เมื่อวันที่  4 ตุลาคม 2553

กรณีที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในคดีที่ นายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดี และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาสผู้ร้องสอด ยื่นฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่ากาฯ. กรณีออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการ สตง.ให้รักษาราชการแทนผู้ว่า สตง.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น


คุณหญิงจารุวรรณ ได้ยื่นคำชี้แจงโต้แย้งคำชี้แจงของนายพิศิษฐ์มีใจความสรุปว่า การกระทำของนายพิศฺษฐ์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการข่มขุ่ คุกคามทั้งทางวาจาและการกระทำก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อข้าราชการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ชั้นผู้น้อยโดยทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลสร้างความเสียหายและกระทบการบริหารงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอย่างร้ายแรง

นอกจากนั้น ยังเป็นว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองกลาง

สำหรับคำโต้แย้งของคุณหญิงจารุวรรณสรุปได้ดังนี้

 1.คำร้องของผู้ร้องสอด(นายพิศิษฐ์) เป็นการกล่าวอ้างและให้ข้อเท็จจริงต่อศาลไม่ครบถ้วน พยายามให้ถ้อยคำเพื่อให้ศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยมิชอบ โดยอาศัยเพียงคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอ้างตนเองยังเป็นผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี กระทำการโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายหลายประการ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ร้องสอด เช่น


- การออกหนังสือเวียน ตผ.0004/พ2016 เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลว 2 สิงหาคม 2553 และประกาศ สตง. เรื่อง คุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลว 23 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นการขัดขวางการทำงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ใช้อำนาจหน้าที่ประธานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้โดยตรง


- ออกหนังสือบันทึกข้อความที่ ตผ 0004/พ242 ลว 13 กันยายน 2553 ให้ข้าราชการและลูกจ้างของ สตง. ถือปฏิบัติตามคำสั่งที่ 75/2552 เรื่องการแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผุ้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อ 9 เม.ย.2552 ต่อไปโดยเคร่งครัด หากข้าราชการผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ถือเป็นความผิดวินัยข้าราชการและผู้กระทำการฝ่าฝืนจะต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวทั้งทางแพ่งและอาญา


-ออกหนังสือบันทึกข้อความที่ ตผ 0004/พ245 ลว 13 กันยายน 2553 เรื่อง การรักษาสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการ โดยให้ ผอ.สนง.บริหารงานกลาง ดำเนินการยึดคืนยานพาหนะ พัสดุและครุภัณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีครอบครองอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนห้ามการเข้าไปในบริเวณอาคาร สตง.โดยถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้พ้นจากตำแหน่งแล้วตามความเห็นของ คกก.กฤษฎีกาคณะที่ 1


ต่อมาได้มีหนังสือเร่งรัดให้ ผอ.สนง.บริหารงานกลาง ดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 21 กันยายน 2553 พร้อมทั้งให้คิดค่าเสื่อราคาสินทรัพย์ด้วย ตามหนังสือบันทึกข้อความที่ ตผ 0004/พ256


- ออกหนังสือบันทึกข้อความที่ ตผ 0004/พ255 ลว 15 กันยายน 2553 เรื่อง การใช้ระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยมีสาระให้ ผอ.สนง.เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ยกเลิกระบบไปรษรีย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ถูกฟ้องคดี และเรียกคืนอุปกรรณ์คอมพิวเตอร์ที่ครอบครองอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


ต่อมาได้มีหนังสือบันทึกข้อความที่ ตผ 0004/พ263 ลว 29 กันยายน 2553 เร่งรัดให้ ผอ.สนง.เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ไปคาดโทษว่าหากปฏิบัติตามไม่ได้อาจต้องถูกโยกย้ายไปต่างจังหวัดและงดเลื่อนขั้นเงินเดือน ตามเอกสารที่ ตผ 0011/467 ลว 30 กันยายน 2553


-ออกหนังสือคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ สตง.จำนวนมากโดยผู้ร้องสอดได้แจ้งทางโทรศัพท์อ้างถึงการรักษาราชการของตน และให้ข้าราชการ สตง.ที่ถูกโยกย้ายต้องมารายงานตัวที่ผู้ร้องสอดเท่านั้นสำหรับข้าราชการที่อยู่ส่วนกลางทำให้เกิดปัญหาความสับสนต่อข้าราชการ สตง. ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้รับแจ้งทางโทรศัพท์กล่าวขอโทษจากข้าราชการเหล่านี้ว่า จำเป็นต้องปฏิบัติตามผู้ร้องสอดเพราะเกรงว่าตนจะถูกการกลั่นแกล้งกล่าวหาให้มีความผิดทางวินัยในการขัดขืนคำสั่งของผู้ร้องสอด


- ออกหนังสือคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 231/2553 สั่งให้นางสุดารัตน์ สุกาญจนะ ผอ.กลุ่มสำนักงานบริหารงานกลาง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 8 ย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานวินัยทางงบประมาณและการคลัง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ทันทีอย่างเร่งด่วน ผิดปกติจากธรรมเรียมปฏิบัติโดยทั่วไปของ สตง.ในการให้ระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่ง โดยอ้างว่านางสุดารัตน์ สุกาญจนะ กระทำการอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ สตง.โดยไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่ประการใด


ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกิดจาก การกระทำโดยสุจริตของนางสุดารัตน์ สุกาญจนะ ผอ.กลุ่มสำนักงานบริหารงานกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

ตามหนังสือบันทึกข้อความที่ 13/112 ลว 17 กันยายน 2553 ซึ่งออกโดยนางสุดารัตน์ มีไปถึงผู้ร้องสอดในการชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วว่ามิได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนประกาศ คำสั่งใดๆ ที่ออกมาหลายฉบับ หากแต่เห็นว่าตนต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างถูกต้องในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยแจ้งชัดว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พ้นจากตำแหน่งแล้วหรือไม่ และศาลมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น


-ออกหนังสือคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 202/2553 ลว 13 กันยายน 2553 เรื่อง การมอบหมายให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สาระสำคัญคือ ยกเลิกการมอบหมายให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (นายศิริพงษ์ วีระแสงพงษ์) และผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 (นางสาวกาญจนา เลิศเวช) โดยให้งานทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้ร้องสอดเป็นผู้พิจารณาสั่งการโดยตรง


เมื่อพิจารณาการกระทำข้างต้นดังกล่าวทั้งหมดของผู้ร้องสอดนั้น จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าผู้ร้องสอดมีเจตนาขัดขวางปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี กระทำการทั้งๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่ายังไม่มีคำวินิจฉัยเป็นที่ยุติว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งภายหลังศาลปกครองกลางได้โปรดมีคำสั่ง ลงวันที่ 10 กันยายน 2553 ไม่รับคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ร้องสอดยังกระทำการโดยไม่มีอำนาจเพื่อต้องการใช้อำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของผู้ถูกฟ้องคดี


การกระทำของผู้ร้องสอดเป็นการข่มขุ่ คุกคามทั้งทางวาจาและการกระทำก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อข้าราชการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินชั้นผู้น้อยโดยทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลสร้างความเสียหายและกระทบการบริหารงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอย่างร้ายแรง ซึ่งหากยังคงให้ผู้ร้องสอดกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อไปย่อมสร้างความเสียหายส่งผลต่อการบริหารงานภายในของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจนอาจไม่สามารถแก้ไขเยียวยาต่อไปได้ในอนาคต


2.ผู้ถูกฟ้องมีความเห็นว่า การพิจารณาวินิจฉัย การออกคำสั่งหรือมีคำพิพากษาเกี่ยวกับสถานะ การดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของผู้ถูกฟ้องคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณาวินิจฉัยเพื่อออกคำสั่งหรือคำพิพากษาได้


 ดังนั้น ศาลปกครองกลางจึงไม่สามารถออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาได้ เนื่องจากจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งจะมีผลกระทบต่อการบริหารงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี


นอกจากนี้ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2553 ข้อ 69 วรรคแรก การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง เห็นว่า คำสั่งเมื่อศาลยังมิได้มีคำสั่งหรือพิพากษา เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพผู้ถูกฟ้องคดีจึงจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการไปพลางก่อน


เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่มีผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่ผูร้องสอดแต่อย่างใด


ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่ผู้ร้องสอด จึงขอศาลปกครองกลางได้โปรดมีคำสั่งไม่รับหรือยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดและขอให้มีคำสั่งไม่รับคำขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของผู้ร้องสอดด้วย

อนึ่ง คดีดังกล่าวศาลปกครองมีคำสั่งสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม คาดว่าจะพิพากษาคดีในเร็วๆนี้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์