ทนายทักษิณส่งจ.ม.จวกมาร์คฉบับ 3

เมื่อ 23 ก.ย. นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายส่วนตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 ถึงนายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีใจความสรุปว่า จากการที่เคยส่งจดหมายเพื่อย้ำเตือนรัฐบาลของท่านถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2553 และครั้งล่าสุดในวันที่ 6 ส.ค.2553 เนื้อหาจดหมายได้ย้ำเตือนรัฐบาลไทยถึงพันธกรณีที่มีต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ว่าจะต้องมีการจัดการสอบสวนถึงสาเหตุของการเสียชีวิตของพลเรือนกว่า 80 รายที่ถูกสังหารในระหว่างการชุมนุม และยังระบุถึงหน้าที่ที่รัฐบาลที่จะต้องให้โอกาสแก่ทีมทนายของผู้ถูกกล่าวและทางสำนักงานกฎหมายของเราในการเข้าถึงพยานหลักฐาน แต่จนถึงบัดนี้ท่านไม่ได้ตอบสนองถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวของเรา

 แทนที่คณะรัฐบาลของท่านจะปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

แต่กลับพยายามปกปิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กองทัพไทยกระทำต่อผู้ชุมนุมที่ปราศจากจากอาวุธระหว่างการชุมนุม โดยในวันที่ 20 เมษายน 2553 รัฐบาลของท่านได้ถอดถอนเจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากหน้าที่ในการสอบสวนเหตุการณ์การสังหารประชาชน โดยมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ในสี่เดือนที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้ดำเนินการสอบสวนการสังหารดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งที่มีพยานหลักฐานอยู่มากมาย อาทิ รูปพรรณสัณฐานผู้กระทำการ และหลักฐานที่ระบุว่าการกระทำดังกล่าวได้สัดส่วนต่อความรุนแรงหรือไม่

 ในขณะเดียวกัน คณะรัฐบาลของท่านได้จับกุมและกล่าวหาแกนนำนปช.ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน

ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของถูกกล่าวหา ในปัจจุบันแกนนำนปช.ทั้ง 19 คนยังคงถูกรัฐบาลคุมขังตามอำเภอใจ การที่ ศอฉ.ได้ถอดถอนอำนาจหน้าที่ของกรมตำรวจในการสอบสวนคดีดังกล่าวในวันที่ 20 เมษายน 2553 ทำให้กระบวนการการสอบสวนคดีเกิดความล่าช้า กรมสอบสวนคดีพิเศษมีผลการชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตทั้งหมด แต่ทางทีมทนายของผู้ถูกกล่าวหาและญาติของผู้เสียชีวิตไม่ได้รับผลการชันสูตรดังกล่าว หรือวิดีโอบันทึกเหตุการณ์การการสลายชุมนุมแต่อย่างใด

 "เราขอย้ำเตือนในท่านเห็นถึงความล้มเหลวของท่านในการเยียวยาเหยื่อของอาชญากรรมอันทารุณ อาทิ การสังหารประชาชนโดยใช้ศาลเตี้ยหรืออำนาจมืด ซึ่งเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง รวมถึงบทบัญญัติกรุงโรมซึ่งเป็นรากฐานของศาลอาญาระหว่างประเทศที่บัญญัติให้ทหารหรือพลเรือนผู้มีอำนาจเหนือประชาชนที่ล้มเหลวในการดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต้องรับผิดชอบ หากปรากฏชัดว่ากลุ่มคนดังกล่าวได้จงใจเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ระบุชัดแจ้งว่าผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว ซึ่งได้ระบุไว้ในบทบัญญัติกรุงโรม มาตรา 28 (b) (III) หลักการดังกล่าวยังเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่สามารถนำไปปรับใช้กับประเทศไทยได้

 จากการกระทำของรัฐบาลที่ได้กล่าวมาข้างต้น  แสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจและความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลในการดำเนินการการสอบสวนคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเป็นอิสระ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ด้วยความนับถือ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีรอฟฟ์ ลอนดอน สหราชอาณาจักร"

 สำหรับจดหมายฉบับนี้ ท้ายฉบับยังระบุว่า ได้ส่งไปทางอีเมล์ให้นางนาวี พิลเลย์ กรรมการข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์