ธปท.เผยศก.เดือนก.ค.ชะลอตัว แต่ภาคท่องเที่ยว-ลงทุนเอกชนยังขยายตัวดี

นายเมธี สุภาพงษ์  ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ แถลงถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับการขยายตัวในเดือนก่อนหน้า

โดยการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการผลิตขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราว และอีกส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงมากในช่วงก่อนหน้าสำหรับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง


ทั้งนี้ แรงส่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีในช่วงครึ่งปีแรก ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามราคาอาหารสด ผัก และผลไม้
 

สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้
 
ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย โดยในเดือนนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน1,258,000 คน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.9 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียนและจีน อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 46.9 สูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 37.3 ตามการปรับดีขึ้นของการเข้าพักโรงแรมในทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้

นอกจากนี้ การลงทุนขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อรองรับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ นอกจากนี้ การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ตามการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร


การบริโภคภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ชะลอลงเล็กน้อยจากที่เร่งขึ้นมากในเดือนก่อน

โดยเครื่องชี้ทุกรายการยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังมีคำสั่งซื้อที่รอการส่งมอบ นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี


อุปสงค์จากต่างประเทศขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยการส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า 15,475 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.2 แม้ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.1 แต่การส่งออกยังขยายตัวดีในทุกหมวด ยกเว้นการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งแม้โดยรวมจะขยายตัวได้ดี แต่เป็นผลจากด้านราคาที่ขยายตัวสูง ขณะที่ปริมาณส่งออกหดตัวโดยเฉพาะข้าว เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากเวียดนาม ด้านการนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 16,266 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 36.5 ขยายตัวดีทุกหมวด โดยเฉพาะการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วน และวัตถุดิบที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ผลิตเพื่อการส่งออกในระยะต่อไป

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก

โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 21.9 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผลิตได้เร่งตัวสูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงานบางส่วน ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์เคมี และการขาดแคลนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่ภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นทางด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผัก ยางพารา ผลไม้ ข้าวเปลือกเหนียว และมันสำปะหลังจากอุปสงค์โลกที่ยังขยายตัวดี และอุปทานที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยระบาด ขณะที่ผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตปาล์มน้ำมัน และยางพารา จากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิต ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 46.1จากระยะเดียวกันปีก่อน


สำหรับภาคการคลัง ในเดือนนี้การใช้จ่ายของภาครัฐเมื่อรวมการเบิกจ่ายจากโครงการไทยเข้มแข็งแล้วยังสูงกว่ารายได้นำส่งคลัง

ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิ 56.3 พันล้านบาท สะท้อนแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐยังมีอย่างต่อเนื่องเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) ขยายตัวร้อยละ 8.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากการเพิ่มขึ้นของตั๋วแลกเงินเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงิน ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 8.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

 
เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสด

และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดเครื่องประกอบอาหารและสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด อัตราการว่างงานลดลงจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและการค้า ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศ ยังคงแข็งแกร่ง แม้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แต่ดุลการชำระเงินเกินดุล และเงินทุนสำรองทางการอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์