กฤษฎีกาชี้ มาร์ค ต้องทำตามมติ ก.ตร. เพิกถอนคำสั่งปลด พัชรวาท

เมื่อวันที่  23 สิงหาคม มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็น

ในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีสอบถามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีนายกฯมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)

ในประเด็นการปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการ ตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนหน้านี้ (กรณีใช้กำลังสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)

ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 224/2552 ลงโทษปลดพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการตามมติที่คณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ต่อมาพล.ต.อ.พัชรวาท ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.ตร. ตามมาตรา 105(2) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547  เมื่อ ก.ตร.ได้มีมติแล้ว และสำนักงานก.ตร. ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาตามมาตรา72(1)แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ จึงมีหน้าที่ต้องยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 224/2552 เพื่อดำเนินการตามมติ ก.ตร.โดยไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้


สำหรับอำนาจของนายกรัฐมนตรีนั้น มาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  ประกอบกับมาตรา4(12) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีหรือมีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาหรือรับทราบได้ ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ากรณีใดเป็นเรื่องสำคัญหรือมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารับทราบ ก็สามารถนำเสนอหรือมีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีได้


อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้เสนอความขัดแย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นว่ากรณีนี้ แม้ว่าครม.และ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญฯ แต่การเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร

ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีไม่ว่าครม.จะมีมติประการใด ก็หาได้กลายเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร และไม่ทำให้ครม.มีฐานะเป็นผู้ร้องตามมาตรา 214  เนื่องจากการดำเนินการให้เป็นไปตามมติก.ตร. เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผบ.ตร. ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ครม.ตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์