อภิสิทธิ์ ควรท้า ฮุนเซน ออก Hard Talk ของ บีบีซี

วาทกรรมของ นายกฯ ฮุนเซน แห่งกัมพูชา เมื่อสองสามวันก่อน ขณะที่เกิดการ "ดีเบต" กันอย่างคึกคักในประเทศไทยว่าด้วยประเด็นเขาพระวิหารนั้น

 ขณะที่ไทยต้องการให้เป็นเรื่อง “ทวิภาคี” ระหว่างสองประเทศ

 เพราะ ฮุนเซน เชื่อว่ากัมพูชาได้เปรียบในเวทีระหว่างประเทศ หากสามารถสร้างภาพได้ว่าประเทศไทยเป็นฝ่ายรุกล้ำและทำผิดคำตัดสินของศาลโลก

 เรื่องละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนเช่นนี้ มีความเสี่ยงสูงที่ประชาคมโลกจะตัดสินด้วยการประเมินว่า “ใครส่งเสียงดังกว่า ถี่กว่า และอธิบายความได้เข้าใจง่ายกว่า”

 นี่คือการ “ต่อกร” ทางการทูตที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ จะต้องถือเป็นภารกิจของ “ทั้งรัฐบาล” มิใช่เฉพาะหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

 เพราะนี่คือสงครามข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ที่ต้องทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ที่อาจจะไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับที่มาที่ไปของประเด็นขัดแย้ง ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีมายาวนาน และไม่สามารถจะเล่าให้ฟังกันได้เพียงแค่ในแถลงการณ์หรือแถลงข่าวเท่านั้น

 หากแต่จะต้องมีการออกข่าว และชี้แจงกันทั้งในระดับรัฐบาล ระดับกระทรวง ระดับตัวต่อตัว และระดับประชาชนกันอย่างต่อเนื่องและให้เข้าใจง่าย

 ไม่ว่าตัวแทนไทยเราจะไปประชุมในเวทีระหว่างประเทศเรื่องอะไร หากมีโอกาสที่จะชี้แจงเรื่องความขัดแย้งกับกัมพูชา ในมิติต่างๆ ก็ต้องถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยที่จะต้องสามารถชี้แจงอธิบายความ ทั้งบนเวที หลังเวที และข้างเวทีอย่างไม่ลดละ

 วิเคราะห์ถ้อยคำในจดหมายของ ฮุนเซน ล่าสุด ที่ส่งไปสหประชาชาติ แล้ว จะเห็นว่าเป็นการ “ฉวยจังหวะ” มากกว่าที่จะมีเนื้อหาสาระใหม่อะไร

 เพราะ ฮุนเซน อ้างคำพูดของนายกฯ ไทยที่เจรจากับ “เครือข่ายประชาชนผู้รักชาติไทย” เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และเป็นการอ้างผิดๆ ถูกๆ ว่า ผู้นำไทยขู่จะใช้กำลังทหารกับกัมพูชาและจะยกเลิก MOU ปี 2543 ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ผู้มาชุมนุมต่างหากที่เรียกร้องเช่นนั้น ขณะที่คุณอภิสิทธิ์ พยายามจะบอกว่ากัมพูชา เป็น “เพื่อนบ้านที่ดี” (และถูกโห่) และยืนยันว่าการคงไว้ซึ่ง MOU ฉบับนั้นได้ประโยชน์กับไทยมากกว่าการเสียประโยชน์

 แต่ ฮุนเซน ถือโอกาสนี้ตอกย้ำคำตัดสินของศาลโลก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เป็นข่าวและเพื่อจะเตือนความทรงจำของชาวโลก

 ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาวันนี้ เป็นเรื่องที่เขมรส่งคนเข้ามาสร้างชุมชน และสร้างถนนในเขตที่ไทยอ้างสิทธิเป็นของไทย

 แต่ ฮุนเซน กล่าวอ้างในจดหมายฉบับนี้ว่าไทยทำผิดคำตัดสินของศาลโลก ด้วยการคงทหารไทยไว้ในจุดประมาณ 300 เมตร จากตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่ง นายกฯ เขมร อ้างว่า “อยู่ในเขตของกัมพูชา”

 แน่นอนว่าคนต่างประเทศที่เพียงแค่อ่านข้อความอย่างนี้ของฮุนเซน ก็อาจเข้าใจผิดตามการจงใจบิดเบือนของผู้นำเขมร เพราะความจริงแล้ว ศาลโลกตัดสินเพียงว่าตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่อยู่ใต้อธิปไตยเขมรแต่ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนระหว่างสองประเทศแต่อย่างใด

 จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย ที่จะต้องสำแดงการคัดค้านโต้แย้งในทุกกรณี ทุกจังหวะและทุกถ้อยคำที่ ฮุนเซน ใช้ในจดหมายฉบับนี้ เพื่อยืนยันในสิทธิของไทย เหนือดินแดนทุกจุดที่อยู่นอกเหนือตัวปราสาทพระวิหาร

 สังเกตให้ดี ในจดหมายฉบับนี้ ฮุนเซน ไม่พูดถึงการเอาปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกเลยแม้แต่น้อย เพราะรู้ดีว่าหากยกเรื่องมิติวัฒนธรรมขึ้นมากล่าวอ้าง ก็จะถูกประชาคมโลกถามว่า

 “ทำไมไม่ร่วมมือกับประเทศไทยในการจัดการปราสาทพระวิหารเพื่อให้เป็นมรดกโลกจริงๆ มิใช่มรดกทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง?”

 ผมอ่านจดหมายของฮุนเซน ฉบับนี้แล้ว ก็มองทะลุว่านี่คือ “กลยุทธ์ทางการทูตและการเมือง” ของ ฮุนเซน ตื้นๆ ที่ต้องการจะ “สร้างความได้เปรียบทางการเมือง” บนเวทีโลกเท่านั้น ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอันใดที่จะโต้แย้งประเทศไทยได้

 แต่ไทยเราต้อง “ทันเกม” ฮุนเซน...และต้องตอบโต้ด้วยเอกสาร ภาพ และการชี้แจงในทุกเวทีอย่างร้อนแรง คึกคัก และต่อเนื่อง

 อย่าได้ยอมให้เสียงฮุนเซนดังกลบเสียงอภิสิทธิ์ได้เป็นอันขาด

 ทำไมไม่ท้า ฮุนเซน ให้ออกรายการ Hard Talk ของบีบีซีพร้อมๆ กัน เพื่อ “ดีเบต” เรื่องเขาพระวิหารให้รู้ดำรู้แดงไปเลย?

 อย่างนี้ซิจึงจะของจริง


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์