อภิสิทธิ์เล็งใช้เวทียูเอ็นแจงพระวิหารชี้ฮุนเซนหาเสียง

“นายกฯ"เตรียมใช้เวทียูเอ็นแจงปัญหาเขาพระวิหาร เล็งยกประเด็น“ยูเนสโก”ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทำให้เป็น“ต้นตอขัดแย้ง” ด้านโฆษกรัฐบาล” วอนคนไทย “อย่าตกใจ” ยันสัมพันธ์ “ไทย-เขมร” ดีขึ้น “ฮุนเซน” เกรี้ยวกราดแค่หาเสียง ยก"เอ็มโอยู 43 "เป็นเครื่องทำให้เกิดสันติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับหนังสือที่รัฐบาลไทยจะส่งถึงประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ(ยูเอ็น)และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ยูเอ็นนั้นจะมีเนื้อหาครอบคลุม 4 ประเด็นประกอบด้วย 

1. ชี้แจงว่าถ้อยคำของนายกฯที่สมเด็จฮุนเซนอ้างถึงนั้นเป็นคำพูดบางประโยคของนายกฯเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด 
2. รัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักสันติวิธี โดยถือว่ากัมพูชาเป็นเพื่อนของเรา จะแก้ปัญหาในฐานะสมาชิกที่ดีของยูเอ็น
3. รัฐบาลไทยแสดงความกังวลกับการที่กัมพูชาพยายามละเมิดเอ็มโอยู 43 ถือเป็นครั้งแรกที่เราชี้แจงอย่างรอบด้าน 
4 .รัฐบาลไทยยืนยันว่าเคารพการตัดสินของศาลโลก แต่ขอสงวนสิทธิต่อสู้หากมีข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมกันนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่าเราประสงค์ที่จะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการแก้ปัญหา แต่ในประเด็นเขตแดนนั้นเราต้องแก้ภายใต้กรอบทวิภาคีไม่จำเป็นต้องให้นานาชาติเข้ามามีบทบาท

 นายปณิธาน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการเดินทางไปประชุมยูเอ็นวันที่ 20 - 27 ก.ย.นายกรัฐมนตรีจะพูดถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่าเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ยูเนสโก เพราะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ สำหรับความสัมพันธ์กับกัมพูชานั้นถือว่าอยู่ในระดับดีขึ้นตั้งแต่เขาส่งคนร้ายคืนให้เรา และการปราศรัยทางการเมืองก็ไม่เป็นศัตรูเหมือนที่ผ่านมา ส่วนฮุนเซนนั้นแม้นายกฯจะไม่ได้คุยโดยตรงแต่ก็มีช่องทางอื่นๆสื่อสารกันอยู่ เราเข้าใจว่าฮุนเซนก็ต้องมีจุดยืนเพื่อแสดงต่อคนของเขาในกัมพูชา

 ผู้สื่อข่าวถามถึงเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนที่ให้ผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท นายปณิธาน กล่าวว่า รัฐบาลนี้พยายามดำเนินการทางการทูตด้วยการประท้วงมาตลอด จริงๆแล้วทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่เคยยอมรับ และได้ต่อต้านมาตลอดมีแต่รัฐบาลยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไปยอมรับและไปลงนามแถลงการณ์กับเขา กัมพูชาจึงใช้จุดนั้นรุกไทยในระยะหลัง แต่รัฐบาลนี้ได้ประท้วงทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวถือว่าเป็นหลักฐานให้มีการบันทึกเพื่อวันหนึ่งหากต้องขึ้นศาลโลกอีกครั้งจะไม่ถูกกฎหมายปิดปากเหมือนพ.ศ.2505 อย่างไรก็ตามไม่ต้องตกใจว่าไทยจะใช้กำลังเพราะเรามีกรอบเอ็มโอยูปี 43 ที่ป้องกันไม่ให้ทำสงครามกันเหมือนในหลายประเทศ ส่งเรือรบไปปักธงในดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งจนเกิดการปะทะกันหลายที่ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ของเอ็มโอยูที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้ คนไม่เข้าใจว่าทำไมเรายึดกรอบเอ็มโอยู ทั้งที่มันเป็นตัวแสดงเจตนาว่าเราสันติ ไม่ใช่การประกาศอธิปไตยจากเราฝ่ายเดียวแล้วไปมัดมืออีกฝ่ายหนึ่ง

 “ขอให้คนไทยอย่าตกใจ หรือตื่นตระหนกกับท่าทีของกัมพูชา สถานการณ์ไม่ได้น่ากลัว มีแต่ดีขึ้นการส่งคนร้ายกลับมาให้เราถือเป็นสัญญาณที่ดี และฟังการปราศรัยทางการเมืองในกัมพูชาก็ไม่กล่าวหาว่าไทยเป็นศัตรูเหมือนแต่ก่อน จุดยืนของรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการรักษาสิทธิ ต้องใช้เวลา แต่เราต้องทำความเข้าใจกับนานามชาติ อาจจะต้องใช้เวลา มากกว่า 1 ปี หลังจากนี้เราต้องใช้มาตรการเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น ทั้งทางการทูตและทางการเมือง ส่วนการทหารจะยังไม่รุก แต่ตรึงไว้ไม่ให้รุกล้ำจนกระทบบนพื้นที่ของเรา ส่วนคนที่มาอยู่ในพื้นที่แล้วเราก็ต้องหาวิธีการจำกัดสิทธิ เพื่อสุดท้ายต้องทำให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ ปัญหาปราสาทพระวิหารเหมือนไทยกัมพูชาอยู่ในบ้านเดียวกันแต่ประตูสองบานอยู่คนละฝั่งของประเทศเราต้องใช้หลักถ้อยทีถ้อยอาศัยร่วมกันใช้ประตูทั้งสองบานให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่ถล่มบ้านทิ้งทั้งหลัง "โฆษกรัฐบาลกล่าว

ครม.เห็นชอบรายงานผลประชุมชายแดนไทย-เขมร
 
 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติการประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชาครั้งที่ 6 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันต่อไป โดยขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา190 วรรคสอง ว่า การประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 - 29 เม.ย.2552 จ.เสียมราฐ กัมพูชา ซึ่งมีรองนายกฯและรมว.กลาโหมกัมพูชากับรมว.กลาโหมไทยเป็นประธานการประชุมร่วมรับทราบความก้าวหน้าของความร่วมมือชายแดน และพิจารณาเห็นชอบร่วมกัน 3 ด้าน 17 ประเด็น โดยเป็นไปตามกรอบที่รัฐสภาเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2552 โดยเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในการอ้างสิทธิบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เดิมกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วมและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องในเดือนเม.ย.2552 แก้ไขเป็นการจัดประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วม และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ครม.ยังรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาสามฉบับ คือ 10 - 12 พ.ย.2551 , 3 - 4 ก.พ. 2552 , 6 - 7 เม.ย. 2552 เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต่อไปก่อนที่จะมีผลผูกพัน โดยสาระสำคัญคือทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร และสามารถตกลงกันได้เป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงประเด็นการเรียกชื่อปราสาทพระวิหารที่ต้องเจรจากัน และสองฝ่ายได้แนบร่างข้อตกลงชั่วคราวฯให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบล่าสุดไว้ในบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6 - 7 เ ม.ย. 2552

 นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ครม.ยังเห็นชอบให้ส่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สำหรับการอนุมัติการตรวจลงตราเดียวในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงที่ลงนามแล้วให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการผูกพันตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์