สุรยุทธ์ย้ำชัดยังกลับไม่ได้ ให้ทักษิณรออีก1ปีจนมีรัฐบาลใหม่

"ให้ ทักษิณ รออีกปี"


"สุรยุทธ์" ให้ "ทักษิณ" รออีก 1 ปีค่อยกลับไทยหลังมีรัฐบาลใหม่ รมว.กลาโหม ฟันธงตท.9 ทำปฏิวัติซ้อนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เผย "สนธิ" ให้คำตอบนายกฯ วันนี้

ยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ "เด็กจิ๋ว" อัด "สนธิ" ฟัง "บิ๊กจิ๋ว" พูดไม่เข้าใจแล้วจะแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร โพลล์ชี้คะแนนนิยมรัฐบาลลดลง เหตุแนวทางแก้ปัญหายังไม่โดนใจประชาชน

ภายหลัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเสนอความเห็นว่า ควรให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กลับมาประเทศไทยได้ พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยเฉพาะประเด็นนายทหารระดับสูงตบเท้าเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจ ทำให้มีการแสดงความเห็นเรื่องนี้กันอย่างหลากหลาย

"ต้องคุยกันก่อนว่าเหมาะหรือไม่"


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ห้วงเวลาในการกลับมา คงต้องมีการพูดคุยกันก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่เพียงใด เพราะถ้ากลับมาแล้วอาจมีปัญหาเรื่องความปรองดองของคนในชาติได้ หรือทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติขึ้นมาอีกจะเหมาะสมหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดและทำความเข้าใจกันก่อน

ส่วนจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเมืองไทยและอยู่แต่ในบ้านจันทร์ส่องหล้า พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นเป็นการจำกัดสิทธิและควบคุมตัวในบ้าน ซึ่งตนคิดว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือ จะกลายเป็นเหมือนประเทศเพื่อนบ้านของเราที่ควบคุมไว้ในบ้าน คิดว่าคงไม่ดี

"ทางที่ดีคือ รอให้การแก้ไขปัญหาผ่านไป ช่วงเวลา 1 ปี เมื่อมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่แล้ว ช่วงนั้นจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด ในช่วงนี้น่าจะดูก่อนว่าเราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าในช่วงปลายเมื่อมีรัฐธรรมนูญ มีการทำประชามติ มีการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง ช่วงเหล่านี้น่าจะเป็นห้วงเวลาที่จะพูดคุยกันได้" นายกฯ กล่าว

"จะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ต้องคุยกันก่อน"


ต่อข้อถามว่า แสดงว่ายาวไปถึงช่วงปลายปี 2550 เลยใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ก็ไม่ทราบ เพราะไม่รู้ว่าเขาจะทำเสร็จเมื่อไร เป็นเรื่องพูดได้ในหลักการว่า ถ้าจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ต้องคุยกันก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่สิทธิในการเล่นการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีอยู่ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ อยู่ที่การตัดสินใจของพ.ต.ท.ทักษิณ เอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ เคยบอกว่าหลังยกเลิกใช้กฎอัยการศึกแล้วจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับ แต่ถึงขณะนี้มีเงื่อนไขอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการกลับของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เกี่ยวกับเรื่องกฎอัยการศึก เป็นเรื่องที่ต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ กฎอัยการศึกนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่ คมช.กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ ส่วน คมช.จะตัดสินใจอย่างไร ตนก็รอผลการหารือของ คมช.อยู่

"ต้องถามความเห็นชอบส่วนรวม"


ผู้สื่อข่าวถามว่าแม้จะยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังไม่ควรกลับใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า น่าจะคุยกันก่อน เพราะต้องอยู่ที่ความเห็นชอบร่วมกัน เพราะตนจะไปสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ได้ อยู่ที่ความเห็นชอบร่วมกันว่า จะทำอะไรให้แก่ชาติได้บ้าง เพราะการเสียสละนั้นต้องพูดกันว่า จะเสียสละอะไรให้แก่ชาติบ้านเมืองได้บ้าง ต่อไปในอนาคตที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี

พล.อ.สุรยุทธ์ ยังกล่าวถึงการที่ พล.อ.ชวลิต ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คมช.ว่า ถือเป็นสิทธิที่จะวิจารณ์ได้ ซึ่งตนในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารก็รับฟัง และจะได้นำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิจารณ์ว่า การที่ พล.อ.ชวลิต ออกมาเคลื่อนไหวนั้น เนื่องจากไม่พอใจที่อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้รับการแต่งตั้งไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะ พล.อ.ชวลิต ไม่ได้มาพูดกับตน

"ค่อยๆดู ค่อยๆปรับตามสถานการณ์"


ส่วนการที่พรรคการเมืองขอให้ยกเลิกประกาศ คปค.เรื่องการชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลจะพิจารณาอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของ คมช.ที่จะพิจารณา ตอนนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ไปแล้ว ตนคิดว่าเราค่อยๆ ดู ค่อยๆ ปรับตามสถานการณ์เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น สิ่งต่างๆ ไม่มีอะไรที่จะไม่มีข้อเสียเลย มันต้องมีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งถ้าเราปรับให้สมดุลได้ ก็จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤติชาติบ้านเมืองได้ ตนไม่ได้บริหารงานประเทศในยามปกติ แต่บริหารในยามวิกฤติ เพราะฉะนั้นการแก้ไขต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องดูทั้งข้อดีข้อเสีย และชั่งน้ำหนักว่าน่าจะตัดสินใจอย่างไร

ชี้ตท.9 ทำปฏิวัติซ้อน" เป็นไปไม่ได้"

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการยกเลิกกฎอัยการศึก ว่าในวันที่ 13 พฤศจิกายน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในฐานะประธาน คมช.จะให้คำตอบนายกรัฐมนตรีตามกำหนดที่ได้ขอเวลาไว้ 3-4 วัน เพื่อตรวจดูความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จุดใดบ้าง ที่สามารถยกเลิกได้หรือไม่ ซึ่งการประชุมครม.วันที่ 14 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีจะให้คำตอบว่า จะยกเลิกหรือไม่ จากนั้นนายกฯ จะนำเรื่องเข้าชี้แจงต่อ ครม.ด้วย ซึ่งคมช.จะยกเลิกหรือไม่ก็จะออกมาชัดเจน

ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกเว้นบางพื้นที่ พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า บริเวณพื้นที่ใดที่ไม่มั่นใจก็ต้องคงไว้ก่อน เช่น บริเวณชายแดน และใน กทม.พื้นที่ไหนที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะสถานที่ราชการ สนามหลวง ลานพระบรมรูป ซึ่งเป็นไปตามที่ได้คิดกันไว้ แต่ยังไม่ได้หารือในรายละเอียด โดยให้ คมช.เป็นผู้พิจารณา

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและคมช. พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า เป็นการพูดที่ให้ข้อคิดเห็นถึงการทำงานของคมช.ในฐานะผู้ใหญ่ แต่เรื่องที่ พล.อ.ชวลิต มองว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนนั้น ก็ไม่รู้ว่าพูดจริงหรือไม่ ต้องฟังหูไว้หู

"แต่หากถามว่าโอกาสที่จะเป็นจริงหรือไม่ ขอบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องยาก และยิ่งปล่อยข่าวว่าเตรียมทหารรุ่น 9 จะทำปฏิวัติซ้อน ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย เพราะไม่รู้ว่าจะเอากำลังจากที่ไหน เราก็สงสัยว่าทำไมถึงมีข่าวอออกมาเป็นตุเป็นตะ ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป" รมว.กลาโหม ระบุ

เมื่อถามว่าท่าทีของ พล.อ.ชวลิต ที่ออกมาวิจารณ์การเมืองขณะนี้เพื่ออะไร พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า อาจจะเป็นการเตือนน้องๆ ในคมช.ด้วยความหวังดี เพราะเห็นอะไรที่อาจเป็นเงื่อนไขก็ตักเตือนกัน แต่พอมาถึงเรื่องปฏิวัติซ้อน และการเปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าประเทศไทย ทำให้มองว่าพล.อ.ชวลิต ท่านมีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า แต่ก็อย่างว่าเวลาท่านพูดก็จะพูดติดพันไปเรื่อยๆ มีทั้งพูดจริงพูดเล่น เราก็ต้องมาดูว่ากันว่าที่พูดไปนั้นเป็นไปได้หรือไม่ พูดจริงหรือไม่เราต้องมาวิเคราะห์กันอีกที

ผมขอฟันธงเลยว่า การปฏิวัติซ้อนไม่น่าจะเป็นไปได้ในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งคมช.ก็ออกมาบอกว่า จะปฏิวัติใคร ปฏิวัติ คมช.มั้ง ซึ่งก็เป็นการหยิกเล็บเจ็บเนื้อ ทุกอย่างก็ไปด้วยกันซึ่งเราก็มองว่าไม่น่าจะมีอะไร เพราะรัฐบาลที่เข้ามาเป็นรัฐบาลอาสาทำงาน ทางคมช.ก็ดูแลรัฐบาล ทุกคนก็เฝ้ามองดูซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะเข้าข้างไหน เป็นสิ่งที่สามารถชี้ชัดได้ พล.อ.บุญรอด กล่าว

เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทางรัฐบาลเฝ้าติดตามอย่างไร พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ก็เห็นเคลื่อนไหวไปมาใกล้เข้าประเทศไทยทุกที ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ นี้ คิดว่าเขาคงอยากเข้าประเทศเพราะครอบครัวและทรัพย์สินที่ยังเป็นห่วง แต่เขาก็น่าจะรู้ว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหาเดือดร้อนกันขึ้นมาอีก

"เด็กจิ๋ว"ชี้จิ๋วโวยเพราะถูกลดอำนาจ


นายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พรรคไทยรักไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ให้สัมภาษณ์เชิงตำหนิรัฐบาลและ คมช.ค่อนข้างรุนแรง ว่า พล.อ.ชวลิต เป็นอดีตนักการเมืองและอดีตผู้นำทางทหาร จึงมีข้อแนะนำที่ดีทางการเมือง

"ที่ผ่านมาบิ๊กจิ๋วบอกว่า หากมีการปฏิวัติ ฝ่ายปฏิวัติต้องรีบคืนอำนาจให้ประชาชน รีบจัดการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง การวิจารณ์ของบิ๊กจิ๋วครั้งล่าสุดนี้ ผมอ่านความคิดท่านว่า ท่านมองว่าน่าจะเป็นการเมืองแบบเก่า ซึ่งสวนความรู้สึกประชาชน บิ๊กจิ๋วจึงออกมาเสนอข้อแนะนำ ซึ่งท่านแนะนำพวกผมว่า การกระทำใดต้องดูสถานการณ์และสอดคล้องความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรจะรับฟัง" นายไพจิต กล่าว

รายงานข่าวจากคนใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต เปิดเผยว่า พล.อ.ชวลิตยอมรับว่า มีส่วนในการรัฐประหารครั้งนี้ด้วย แต่ในช่วงที่การตั้ง ครม. คมช.และข้าราชการ รวมทั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ นั้น พล.อ.ชวลิตไม่ได้มีส่วนร่วมเลย เช่นการตั้ง ครม. บิ๊กจิ๋วรู้เรื่องและทราบรายชื่อ ครม.ก่อนทูลเกล้าฯ เพียง 2 วัน ซึ่งผู้ที่มีส่วนในการตั้ง ครม. ข้าราชการ และบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในบ้านเมือง ที่ตัดสินใจด้วยตัวเอง และยังทราบอีกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ มีส่วนร่วมในการตั้ง ครม. เพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น คือ พล.อ.สุรยุทธ์ เลือกรัฐมนตรีได้เพียง 6-7 คน ที่เหลือก็โดนกำหนดมาหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้บิ๊กจิ๋วไม่ค่อยพอใจที่โดนลดบทบาท จึงพยายามออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง

เสธ.หมึกอัด"สนธิ"ฟัง"จิ๋ว"ไม่เข้าใจ


พล.ท.พิรัช สวามิวัศดิ์ หรือ "เสธ.หมึก" นายทหารใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่พล.อ.ชวลิต ออกมาวิจารณ์เรื่องการตั้งทหารเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจจำนวนมากนั้น เป็นการเตือน ไม่ใช่การตำหนิ การที่ พล.อ.สนธิ ออกมาตอบโต้เช่นนี้ แสดงว่าไม่เข้าใจสิ่งที่ พล.อ.ชวลิต แสดงเจตนาและแสดงความหวังดีต่อ คมช.

"เรื่องง่ายๆ อย่างนี้ยังไม่เข้าใจ แล้วจะมาแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างไร" พล.ท.พิรัช กล่าวและยืนยันว่า พล.อ.ชวลิต พูดเช่นนั้น ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝง หรือต้องการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ให้ลูกน้องเก่า แต่เป็นห่วงเพราะถือว่า พล.อ.สนธิ เป็นบุคคลที่มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง เมื่อขณะนี้มีกระแสจากภายนอกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายทาง ในฐานะที่ท่านเป็นพี่และก็เคยให้คำปรึกษา พล.อ.สนธิ มาก่อน ก็หวังดีไม่อยากให้ตกม้าตาย

เสธ.หมึก บอกว่า เขาเองได้ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ของอดีตทหารที่เคยทำงานใน ศปก.315 ที่สโมสรกองทัพบก เมื่อ 2- 3 เดือนก่อนจริง ซึ่งพล.อ.ชวลิต ไม่ได้บอกว่าให้ปฏิวัติ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ท่านบอกว่า ขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหา พวกเราก็เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองมาเยอะแยะแล้ว ดังนั้นอะไรที่ไม่ถูกต้อง ต้องช่วยกันขจัด ไม่ได้บอกให้ปฏิวัติ คนที่ไปคิดอย่างนั้นมันเลอะเทอะ

นายทหารผู้นี้ ยังกล่าวว่า แม้พล.อ.ชวลิต จะมีความใกล้ชิดกับนายทหารในเตรียมทหารรุ่น 9 ก็จริง แต่ไม่ได้สนิทชิดเชื้อทุกคน การจะไปบอกหรือยุให้คนเหล่านี้ทำปฏิวัติ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ อีกทั้ง ตท.9 ที่คุมกำลัง ทั้ง พล.ท.จิระเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ทาง พล.อ.ชวลิต ก็ไม่ได้เคยสัมผัสอะไรมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ พล.อ.ชวลิต จะเดินสายไปอภิปรายในประเด็นการเมืองเรื่อง "การปกครองส่วนท้องถิ่น บทบาทการพัฒนาประชาธิปไตย" ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลา 13.30 น. ด้วย

ปชป.แนะรัฐ-คมช."ตีงูต้องตีให้ตาย"


นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้มีการปล่อยข่าวเรื่องการปฏิวัติซ้อน หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลว่า เมื่อมาถึงวันนี้รัฐบาลจะต้องจำแนกแยกแยะบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลให้ชัดเจน เพื่อจะได้สามารถวางแผนในการแก้ไขปัญหาได้รอบคอบ และถูกต้องเหมาะสมต่อไป ซึ่งขณะนี้น่าจะมี 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และนักการเมืองบางส่วน 2.กลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้จากการฉ้อฉลในรัฐบาลที่แล้ว เช่น กลุ่มนักธุรกิจที่มีอำนาจเงิน และมีพลังทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และ3.ผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

นายองอาจ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องจำแนกแยกแยะคนเหล่านี้ให้ชัดเจน และมีท่าทีในการปฏิบัติ และดำเนินการกับคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้แตกต่างกันออกไป ไม่ควรใช้วิธีการเหมารวมว่า คนทุกกลุ่มล้วนแต่เป็นปัญหาของรัฐบาลทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนกลุ่มที่สามที่เป็นกลุ่มที่ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย รัฐบาลต้องยอมรับว่า คนที่ยึดในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างบริสุทธิ์ใจยังมีอยู่จริง และต้องเคารพความคิดและอุดมการณ์ของคนเหล่านี้ ซึ่งคนที่ยอมตายเพื่ออุดมการณ์มีอยู่จริง โดยอยากให้รัฐบาลคิดถึงทหารที่ออกไปรบในสมรภูมิ

นายองอาจ กล่าวว่า ในจำนวน 3 กลุ่มนี้ กลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ และกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจจะเป็นอันตรายมากที่สุด และมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มนี้พร้อมที่จะเล่นบทโหดทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ให้ได้

"อยากฝากว่าถ้าคิดจะตีงูต้องตีให้งูไม่สามารถพ่นพิษออกมาได้ แต่ถ้าตีงูเพียงให้หลังหักเฉยๆ งูก็อาจจะพ่นพิษใส่ได้ทุกเวลา และเมื่อใดที่งูพ่นพิษได้จะไม่เกิดปัญหาเฉพาะกับรัฐบาลเท่านั้น แต่จะเกิดต่อประเทศชาติบ้านเมืองโดยรวม ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในบ้านเมือง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

เหน็บข้อเสนอ"บิ๊กจิ๋ว"ไม่สมานฉันท์


เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.ชวลิต เสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยได้ และมีการพูดคุยอย่างสมานฉันท์ นายองอาจ กล่าวว่า การคุยสมานฉันท์คุยกันที่ไหนก็ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การพบหน้าและคุยกัน แต่ทุกฝ่ายต้องเห็นปัญหาบ้านเมืองมาก่อนประโยชน์ส่วนตน ทั้งรัฐบาล พล.อ.ชวลิต และ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้ามัวเอาแต่ประโยชน์ตัวเองก็คงไม่เกิดประโยชน์ ต้องจริงใจสมานฉันท์กัน ถ้าทำอย่างที่ พล.อ.ชวลิต แนะ ปัญหาจะหมดสิ้นหรือไม่นั้นลองไตร่ตรองดูก็จะเห็นเอง

ด้านนายนริศ ขำนุรักษ์ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ชวลิต เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาประเทศไทยได้ว่า ไม่แน่ใจว่า พล.อ.ชวลิต คิดอย่างไร แต่การเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตามข้อเสนอของ พล.อ.ชวลิต ก็มีข้อดีซึ่งเป็นประโยชน์ในทางการเมือง คือ 1.การให้กลับมาเพื่อสะดวกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ชี้แจงกรณีการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนตัวจาก ป.ป.ช. และ สตง. ถือเป็นการให้ความเป็นธรรมและความสะดวกต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว 2.เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำผิด และทุจริตของตนเอง และครม.ในรัฐบาลชุดที่แล้วที่ถูกพาดพิงถึง 3.พล.อ.ชวลิต คงเชื่อมั่นในกำลังของรัฐบาลและความเข้มแข็งเพียงพอ และมองว่าคลื่นใต้น้ำสงบแล้วโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นข้าราชการ

นายนริศ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลแยกแยะกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ โดยขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญและรับฟังกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาชนและประชาธิปไตยเท่านั้น อย่าตกหลุมพรางกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และหวังให้ตนเองถูกจับ เพื่อสร้างเครดิตในทางการเมืองในวันข้างหน้า

ชี้มีทั้งคลื่นใต้น้ำ-คลื่นในกองทัพ


ต้องยอมรับว่า พล.อ.ชวลิต มีส่วนในการเข้ามายึดอำนาจบ้างในระดับต้น แต่ช่วงหลังจะพบว่าไม่ว่าจะเป็นการเลือกตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลุ่มคนของ พล.อ.ชวลิต ก็อาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ตลอดจนไม่ได้ถูกเสนอไปเป็นบอร์ด จนมีปฏิกิริยาส่งสัญญาณมาจาก พล.อ.ชวลิต ส่วนหนึ่งอาจคิดว่า พล.อ.ชวลิต มีความสัมพันธ์ระดับหนึ่งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.ชวลิต เป็นรองแคนดิเดตที่ขึ้นเป็นนายกฯ เบอร์หนึ่งในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น การแสดงสัญญาณออกมา คิดว่ารัฐบาลนี้ควรเอามาคิดไตร่ตรอง อีกทั้งการออกมาของ พล.อ.ชวลิต แสดงว่า คลื่นใต้น้ำยังมีจริง ถ้าพูดอย่างนี้คลื่นไม่ใช่แค่ในมวลชนข้างนอก แต่คลื่นในกองทัพยังมีอยู่ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรมองข้าม นายนริศ กล่าว

"อภิสิทธิ์"ข้องใจเจตนา"บิ๊กจิ๋ว"


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ พล.อ.ชวลิต เสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับไทยได้ว่า เป็นหน้าที่ของ คมช.และรัฐบาลต้องพิจารณา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจกับการออกมาแสดงความเห็นดังกล่าวของ พล.อ.ชวลิต เนื่องจากข่าวในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะฉะนั้น คงต้องไปตาม พล.อ.ชวลิต ว่าเจตนาจริงๆ เป็นอย่างไร ทั้งนี้ สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการในขณะนี้ คือ การทำให้กระบวนการคืนอำนาจสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่สุด

เมื่อถามถึงข่าวลือการเดินทางกลับของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกระแสทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา คิดว่าหากต้องการให้มีความเรียบร้อย พ.ต.ท.ทักษิณ ควรออกมาแสดงเจตนาที่ชัดเจน ยืนยันว่ายังไม่เดินทางกลับ เพราะการพูดกันไปพูดกันมาจะไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น

"เฉลิม"แนะรัฐใจกว้างรับฟังความเห็น


ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้ก่อตั้งพรรคทางเลือกใหม่ กล่าวว่า พล.อ.ชวลิต มีฐานะเคยเป็นอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพและอดีตนายกรัฐมนตรี ชั่วชีวิต พล.อ.ชวลิต เป็นนายทหารประชาธิปไตยที่ยึดหลักการประชาธิปไตย การออกมาวิพากษ์วิจารณ์คงมาจากความห่วงใยมากกว่า ซึ่งตนคิดว่า คมช.และรัฐบาลต้องใจกว้าง เพราะการบริหารบ้านเมืองต้องมีคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยวันนี้ต้องยอมรับว่า คมช.เข้ามาบริหารบ้านเมืองส่วนหนึ่ง รัฐบาลก็เข้ามาบริหารบ้านเมืองส่วนหนึ่ง เข้าทำนองมีสองรัฐบาลในประเทศเดียวกัน ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นสิทธิของผู้วิพากษ์วิจารณ์ ส่วนจะมีเหตุผลของการวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ สังคมจะเป็นผู้ตัดสิน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแสดงความเห็นของ พล.อ.ชวลิต จะทำให้เกิดความเคลือบแคลงทางการเมืองหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมาย การห้ามคนไทยกลับประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะโดยหลักการสิทธิในการเป็นคนไทยของอดีตนายกรัฐมนตรียังมีอยู่ ขณะที่ คมช.และรัฐบาลไม่ได้บอกว่าห้าม เพียงแต่บอกว่ารอเวลาให้เหมาะสม หากวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับประเทศไทยก็ทำได้ แต่จะเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองหรือไม่ ตนบอกไม่ได้

เย้ยอย่าให้ราคา"ทักษิณ"มาก


ผมคิดว่าผมอ่านใจคุณทักษิณได้ คุณทักษิณยังไม่กลับหรอก ตอนนี้คุณทักษิณต้องรอดูผลว่า คดีความ 12 เรื่องที่ คตส.ตรวจสอบอยู่ไปถึงไหน เพราะบางเรื่องเป็นคดีความทางอาญา ไม่ใช่ทางแพ่งอย่างเดียว ผมคิดว่าเขายังไม่กลับหรอก เขาต้องรอดูก่อน คุณทักษิณมีอำนาจยังรักษาไว้ไม่ได้เลย ผมว่าอย่าให้ราคาจนเกินเหตุ วันนี้ก็หมดอำนาจวาสนาแล้ว ผู้แทนก็ไม่ได้เป็น หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้เป็น นายกฯ ก็ไม่ได้เป็น ถ้าถามว่า คุณทักษิณกลับมาแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทันทีคงไมใช่ แต่พรรคไทยรักไทยมีมีสมาชิกพรรคเยอะ ผมแสดงความเห็นเรื่องนี้ลำบากจริงๆ ผมเห็นใจ คมช.ในฐานะที่ผมเคยลี้ภัยการเมือง สมัยผมไม่กลับถ้ายังไม่มีรัฐธรรมนูญ เพราะคณะ รสช.เล่นแรง แต่คราวนี้เป็นการปฏิวัติที่อะลุ้มอล่วย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นห่วงการสืบทอดอำนาจของ คมช.หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ควรต้องเป็นห่วงที่จะมีการตั้งพรรคการเมือง เพราะหาก คมช.เกษียณอายุราชการแล้วจะมาตั้งพรรคการเมือง ประชาชนเลือกเข้ามาในฐานะพรรคนั้นๆ ตนไม่เห็นเป็นความผิดอะไร ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจตรงไหน

ครป.แนะคมช.แจงทหารนั่งบอร์ด


นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทหารเข้าร่วมเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจจำนวนมากว่า คมช.ควรรับฟังและชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนว่า เพราะเหตุใดถึงให้ทหารเข้าไปเป็นกรรมการและประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ และควรกำหนดรัฐวิสาหกิจและระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน เช่นเดียวกับ คมช.และรัฐบาลที่มีอายุเพียงปีกว่า หากเป็นเช่นนั้นประชาชนจะยอมรับความจำเป็นเหล่านี้ได้

นายพิภพ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย เพื่อง่ายต่อการจับตาความเคลื่อนไหวว่า พล.อ.ชวลิตพูดลอยๆ ไม่ได้ แต่ต้องเสนอเหตุผลที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดถึงเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทย เพราะหากพูดลอยๆ อาจถูกกล่าวหาว่ามีวัตถุประสงค์หรือหวังผลทางการเมือง และอาจทำให้เกิดความสับสน รวมทั้งเกิดความแตกแยกในสังคมโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ คมช.ยกเลิกกฎอัยการศึก และต้องมีกฎหมายดูแลประชาชน ไม่ได้หมายถึงห้ามประชาชนเคลื่อนไหวอย่างสงบและสันติ แต่ควรดูแลไม่ให้นำมาสู่ความรุนแรงมากกว่า

ทรท.ติงคมช.ระวังเรื่องสืบทอดอำนาจ


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงความกังวลเรื่องการสืบทอดอำนาจของ คมช.และรัฐบาลว่า ประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นคงทำให้ คมช.เห็นแล้วว่า คนในสังคมไม่ต้องการให้ผู้ที่ปฏิรูปการเมืองมีการกระทำสืบทอดอำนาจ ส่วนตัวมีความเชื่อและหวังว่า คมช.และรัฐบาลจะทราบว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนสบายใจ โดยรัฐบาลควรพิจารณาหาแนวทางที่จะคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

กรณีการเดินทางกลับประเทศไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่เดินทางกลับประเทศไทย จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครควรกังวล ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย คงไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ เพราะยังมีประกาศ คปค.บังคับอยู่ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทยไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะนอกจากพรรคถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ประชาชนยังถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ซึ่งการทบทวนเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

พันธมิตรรุมจวกคมช.ไร้ผลงาน


เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องมาลัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดงานเสวนาสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) โดยมีนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด พันธมิตรภาคเหนือ น.ส.ดุจหทัย นาวาพานิช พันธมิตรภาคตะวันออก นายสมภพ บุญนาค พันธมิตรภาคอีสาน นายเอกชัย อิสระทะ พันธมิตรภาคใต้ นายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมเสวนา มีนายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป.เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา

นายสุริยันต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า อีกไม่กี่วันจะครบ 2 เดือนที่ คมช.เข้ามาทำงานตามพันธกิจ 4 ข้อ แต่ยังไม่เห็น คมช.ทำอะไรที่จะแก้ไขปัญหา เพราะยังเห็นว่าบริวารของระบอบทักษิณอยู่เย็นเป็นสุข มีการดำเนินการต่อท่อตามน้ำของระบอบทักษิณ และมีมหกรรมวางยาขนานใหญ่ โดยเฉพาะงานพืชสวนโลก ภาษาเหนือเรียกว่า หมูบุ่น หมาล่นลัก หมายถึงหมูจะเป็นใครก็ตามที่ทำโครงการไว้แล้วก็มีหมาวิ่งไปกินเลย เพราะฉะนั้นอาจจะกลายเป็นความเสื่อมของ คมช.และอาจจะแปลได้ว่า คมช. คือ คนไม่เชียร์ ไม่ชอบแล้ว รวมทั้งไม่มีการเชื่อมโยงกับการทำงานภาคประชาชน

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่ตัวแทนภาคประชาชนอย่างแท้จริง การปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะในการร่างรัฐธรรมนูญควรทำให้ภาคประชาชนและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้ยกเลิกการกำหนดวุฒิการศึกษาในการสมัคร ส.ส. และ ส.ว. เพราะเท่ากับจำกัดสิทธิของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนยากจน มีประสบการณ์แต่ไม่มีปริญญาตรี และขอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่ตัวเองทำงาน รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพทางด้านแรงงานควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ

ขณะที่นายศิริชัย กล่าวว่า รัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหวย การเคหะฯ กองทุนหมู่บ้าน การพักหนี้เกษตรกร เมื่อต้องใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือ จึงต้องส่งคนของตัวเองไปในนั่งเป็นบอร์ด อย่างยุค พ.ต.ท.ทักษิณก็ส่งตำรวจไปนั่งเป็นบอร์ด มาวันนี้ทหารมีอำนาจก็ส่งทหารเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด ถ้าเข้าไปนั่งในตำแหน่งในจำนวนที่เหมาะสม ก็พอรับได้ แต่บางแห่งส่งทหารเข้าไปเป็นบอร์ดถึง 4 คน ถือว่ามากเกินความเป็นจำเป็น ขอเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนการพิจารณาบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ โดยควรนำนักวิชาการด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมเป็นกรรมการ

โพลล์ชี้เสียงหนุนรัฐบาลเริ่มลดลง


นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และ 17 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,224 ตัวอย่าง เรื่อง อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนต่อรัฐธรรมนูญและการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระหว่างวันที่ 3-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 เพราะไม่มีเวลา งานยุ่ง ไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ใช่นักการเมือง ไม่รู้ว่าหาอ่านได้ที่ไหน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 47.5 ร้อยละ 47.2 ร้อยละ 46.5 และร้อยละ 49.6 เห็นด้วยกับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี กำหนดให้รัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี และกำหนดให้นักการเมืองท้องถิ่นอยู่ในตำแหน่งบริหารไม่เกิน 8 ปี ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.3 เห็นด้วยถ้ามีกฎหมายยึดทรัพย์ขบวนการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 91.9 เห็นด้วยถ้ามีกฎหมายคุ้มครองพยานให้มีชีวิตที่ดีกว่าหลังจากร่วมมือคลี่คลายคดีเพื่อความถูกต้องในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 87.2 เห็นด้วยถ้ามีกฎหมายเอาผิดการล็อบบี้เอื้อประโยชน์พวกพ้องและนายทุน ร้อยละ 84.2 เห็นด้วยถ้ามีกฎหมายเอาผิดการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามลำดับ

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.2 ระบุสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงให้มากยิ่งขึ้นคือ ความรวดเร็วในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 87.4 ระบุการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ร้อยละ 66.9 ระบุมีหลักฐานเอาผิดขบวนการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 65.1 ระบุการจัดระเบียบสังคม และร้อยละ 63.8 ระบุประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ เป็นต้น ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ แรงสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันลดลงจากการสำรวจในเดือนตุลาคม จากร้อยละ 60.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.2 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

นายนพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเสียงสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลเริ่มตกลงภายในเวลาอันสั้นมาก เพราะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของรัฐบาลอาจไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน ไม่โดนใจประชาชน ไม่รวดเร็วในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนระดับรากฐานสังคม แต่กลับไปรวดเร็วทำอย่างอื่นที่ห่างไกลชีวิตประจำวันของประชาชน และความอดทนของประชาชนก็มีจำกัด รัฐบาลอาจไม่ต้องการคะแนนนิยมเพราะไม่ได้มาจากพรรคการเมือง แต่รัฐบาลยังต้องการการสนับสนุนจากสาธารณชนเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป

พันธมิตรตั้ง"สภาคู่ขนาน"กันผูกขาดรธน.


นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป.กล่าวว่า ขณะนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม เกี่ยวกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในสถานการณ์ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญจะผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจเก่า หรือชี้นำโดยกรอบคิดแบบอำนาจนิยม จนอาจทำให้สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล้าหลังกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ไม่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 อย่างจริงจัง เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทางกลุ่มพันธมิตรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรภาคประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ใช้เป็นสภาคู่ขนานกับสภาร่างรัฐธรรมนูญของ คมช. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศต่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่

การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องไม่เป็นการผูกขาด โดยรัฐบาลเฉพาะกาล คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญและนักการเมือง เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปเพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 อย่างแท้จริง สามารถคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยได้ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศอย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรม ถือเป็นพันธกิจของภาคประชาชนจะต้องผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นายพิภพ กล่าว

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาฯ ครป. กล่าวว่า วิธีดำเนินงานขั้นต่อไปทางเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศที่จัดตั้งเป็นสมัชชาภาคประชาชนเพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (สปป.) ได้กำหนดกรอบการทำงาน และเนื้อหานำร่องในระดับภาค และจัดตั้งสมาชิก สปป.ระดับจังหวัดจำนวน 76 จังหวัด ให้มีคณะกรรมการอำนวยการกลาง 100 คน เป็นตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตย องค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการ นักธุรกิจ และเยาวชน นิสิต นักศึกษา

อย่างไรก็ตาม สปป.ที่เป็นสภาคู่ขนาน จะเน้นใช้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นกรอบในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในลักษณะต่อยอดจากของเดิม ยึดเป้าหมายที่การ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน หรือแปรรูป สตรองส์ ไพรม์มินิสเตอร์ (Strongs Priminister) มาเป็นสตรองส์ พีเพิล (Strongs People) นายสุริยะใส กล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์