ศาลนัดฟังคำสั่ง”มาร์ค”ฟ้อง”หมิ่น”

“มาร์ค”เบิกความ ฟ้องหมิ่น”แม้ว”   ใจอำมหิต โหดเหี้ยมทารุณ   นัดฟังคำสั่ง 9 ส.ค. นี้

ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 ส.ค. ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ในคดีที่ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 14 -17 มี.ค. 53 เวลากลางคืน จำเลยกล่าวปราศรัย ผ่านการถ่ายทอดทางช่องพีเพิ่ล แชนแนล และวิทยุ ไปทั่วประเทศ  ให้ประชาชนที่รับฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนใจอำมหิต โหดเหี้ยม ทารุณโหดร้ายต่อประชาชน มีอาการทางจิต ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย  เสื่อมเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  328,326,332

โดยวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เข้าเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวสรุปว่า ที่จำเลยอ้างถึงคลิปเสียงของโจทก์สั่งการให้ทหารใช้ความรุนแรงนั้น

ได้มีการตรวจสอบจาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แล้วว่าเป็นการตัดต่อคลิปเสียง ซึ่งตนได้แจ้งความดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในเหตุชุมนุม เมื่อปี 2552 โจทก์ยืนยันว่าได้สั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละมุนละม่อม

ส่วนที่มีการกล่าวถึงปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นนั้น ในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาลโจทก์ เมื่อมีการกล่าวหา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทันที

และมีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบ ขณะที่การบริหารราชการการเมืองของโจทก์ที่ผ่านมา ไม่เคยถูกตัดสินคดีว่าทุจริตคอรัปชั่น หรือถูกยึดทรัพย์แต่อย่างใด สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวหาโจทก์ว่า เป็นเพราะระบบอำมาตย์ถึงได้มาเป็นรัฐบาลนั้น โจทก์ยืนยันว่าโจทก์ได้รับเลือกจากระบบลงคะแนนเสียงในสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมี พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ให้ลงแข่งขันด้วย และในอดีต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แม้จะได้รับคะแนนเสียงน้อย แต่ ส.ส.ในสภาก็ใช้ดุลพินิจสนับสนุนให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ ยังเบิกความถึงที่ จำเลย กล่าวพาดพิงว่า  โจทก์มีสุขภาพจิตไม่ปกติ ถือเป็นการพูดที่ยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นตามที่ถูกกล่าวหา

ส่วนกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ  จำเลยเองที่เคยเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้จนเหตุการณ์บานปลาย และเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ  จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80 คน ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นที่กังขาอยู่ รวมทั้งนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,000 คน  โดยโจทก์ยืนยันว่าจากการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมเมื่อปี 2552 ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ  พยานเบิกความเรื่องอื่นแล้วเสร็จ

ศาลจึงนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดี.หรือไม่ในวันที่ 9 ส.ค. เวลา 09.00 น.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์