เรืองไกรเกาะติดจี้กรณ์สอบภาษี ธาริตกรณีเช็ค1.5แสน


เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ"เรืองไกร" จี้ "กรณ์" สอบภาษี "ธาริต"เงินค่าบริการบางอย่าง 1.5 แสนบาทถูกต้องหรือไม่ ย้ำเป็นถึงอธิบดีดีเอสไอไล่สอบเส้นทางเงินคนอื่นต้องรู้ดี...

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึง รมว.คลัง เมื่อวันที่ 2 ส.ค. เพื่อขอให้ตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีคู่สมรสได้รับเงินได้พึงประเมินจาก "ค่าบริการบางอย่าง" ว่าได้มีการนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน นามของนายธาริต แล้วหรือไม่ หากยังมิได้ดำเนินการกรมสรรพากรควรทำหน้าที่เรียกเก็บภาษีให้ครบถ้วนต่อไป

ทั้งนี้ จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทสโก้ โลตัส รังสิต ของนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ภรรยานายธาริต จำนวน 150,000 บาท เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2551 โดยระบุว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินสินบน เป็นเงินค่าบริการบางอย่างที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตามเงินค่าบริการดังกล่าวย่อมถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้ รับมาในระหว่างปี 2551 ตามกฎหมายประมวลรัษฎากร จะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 มี.ค. 2552 

ซึ่งเงินได้ดังกล่าวเชื่อได้ว่า น่าจะได้รับมาจากบุคคลอื่นที่มิใช่ในฐานะนายจ้าง จึงไม่เข้าลักษณะเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แต่น่าจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่กฎหมายได้กำหนดว่า ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภรรยาเป็นเงินได้ของสามี ดังนั้นจึงต้องนำเงินได้มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของนายธาริต ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2552  



นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า จากการติดตามข่าวผลงานและประวัติของนายธาริต เชื่อได้ว่า เป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดี ทั้งด้านการศึกษาและการทำงาน โดยเฉพาะมีผลงานการตรวจสอบคดีพิเศษเกี่ยวกับเส้นทางเงินในบัญชีของบุคคลและนิติบุคคลหลายกรณี และนางวรรษมล ก็เป็นข้าราชการผู้มีความรู้ทางกฎหมายทั้งด้านการศึกษาและการทำงานเช่นเดียวกัน ซึ่งเชื่อได้ว่าเงินได้ดังกล่าวน่าจะได้นำไปรวมคำนวณภาษีตามกำหนดเวลาของกฎหมายแล้ว แต่เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดความเป็นธรรม จึงเรียนมายังรมว.คลัง ให้มีการตรวจสอบการเสียภาษีจากเงินค่าบริการดังกล่าวว่า ได้ดำเนินการเสียภาษีอย่างครบถ้วนแล้วหรือไม่ 

อีกทั้งควรตรวจสอบถึง เงินได้จำนวนอื่นจากรายการบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าวด้วยว่า มีเงินได้ค่าบริการบางอย่างหรือเงินได้ประเภทอื่นที่ได้รับมาก่อนหน้าหรือหลังจากวันที่ 21 ก.ค. 2551 ด้วยหรือไม่ ถ้าหากตรวจพบว่ามีเงินได้ในลักษณะเดียวกัน ควรขยายผลตรวจสอบเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ครบถ้วนต่อไป โดยกรมสรรพากรมีหน้าที่ตรวจสอบการเสียภาษีและเรียกเก็บภาษีในส่วนที่ยังไม่ ได้ชำระให้ครบถ้วน โดยผู้ที่ชำระภาษีขาดไปจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 พร้อมเบี้ยปรับ(ถ้ามี).


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์