นายกฯถกพันธมิตรฯ ต้านขึ้นทะเบียน เขาพระวิหาร

นายกฯ ดอดถกพันธมิตรฯต้านขึ้น ทะเบียนเขาพระวิหาร ยันไม่เลิกข้อตกลงไทย-เขมร ชี้เป็นประโยชน์ยกเหตุพิพาทเขตแดน ปลุกกองทัพรู้หน้าที่ตัวเองดี...

เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 27 ก.ค.ที่บ้านพิษณุโลก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ได้นัดแกนนำกลุ่มต่อต้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ประกอบด้วย นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ม.ล.วัลวิภา จรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศเข้าร่วมหารือ ทั้งนี้ ใช้เวลากว่า 1.30 ชั่วโมง

นายปานเทพ กล่าวว่า การเข้าหารือกับนายกฯเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน

กรณีที่รัฐบาลส่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมประชุมกรรมการมรดกโลกที่กรุง บราซิลเลีย ประเทศบราซิล โดยขอให้นายสุวิทย์ถอนตัวจากการประชุมทันที และขอให้รัฐบาลยกเลิกข้อตกลงเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ปี2543 ซึ่งนายกฯยังมีความเห็นต่างอยู่ ดังนั้นทางกลุ่มต้องรอฟังมติของกรรมการมรดกโลกและท่าทีของรัฐบาลที่จะดำเนิน การก่อน ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มนั้นนายกฯเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกของภาค ประชาชน

ต่อมาเวลา 17.50 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า

แม้รัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรฯ จะมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่เจตนาคงไม่ต่างกันในการที่จะรักษาอธิปไตยและรักษาสิทธิ์ของเรา แต่สิ่งที่อยากยืนยันคือ การดำเนินการในกรอบของคณะกรรมการ มรดกโลกเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการในการรักษาสิทธิ์ของเราให้ดีที่สุดในทุก ขั้นตอนซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกำลังเดินสายไปทำความเข้าใจคัดค้านการเดินหน้า การบริหารและแผนพื้นที่ที่จะเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งจุดยืนของประเทศไทยที่มีมติ ครม.รองรับว่าคณะกรรมการมรดกโลกไม่ควรจะพิจารณาเรื่องนี้จนกว่าจะมีข้อยุติ ในการจัดทำหลักเขตแดน ทั้งนี้เราจะมีการประ เมินอีกครั้งในช่วงค่ำของวันที่ 28 ก.ค.นี้ว่าแนวทางของคณะกรรมการมรดกโลกเป็นอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามติของคณะกรรมการมรดกโลกจะดึงดันในลักษณะซึ่งกระทบกระเทือนกับเรา

เราจะมีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเราไม่ยอมรับคือ 1.ไม่ยอมรับว่ามติของกรรมการมรดกโลกไม่มีผลมาตัดสินอะไรที่จะมาเกี่ยวข้องกับ อำนาจในเรื่องของเขตแดนและอธิปไตย 2. ถ้ามีการพยายามบริหารจัดการพื้นที่โดยล่วงล้ำอธิปไตยของเรา เราจะไม่ให้ความร่วมมือ ส่วนปัญหาที่เป็นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งทางกลุ่มที่เคลื่อนไหวต้องการให้เรายกเลิกบันทึกข้อตกลง(MOU)ระหว่าง ไทย-กัมพูชาปี 2543 แต่รัฐบาลเห็นว่า MOU นี้เป็นประโยชน์ เพราะเป็นการยอมรับว่าพื้นที่ที่กัมพูชาจะอ้างแผนที่ยังเป็นพื้นที่ที่มี ปัญหาไม่อาจถือตามแผนที่ของกัมพูชาได้ และเรายืนยันว่าต้องถือตามสนธิสัญญา อีกทั้งการยอมรับของกัมพูชาใน MOU นี้ยังรวมถึงการที่ต้องไม่เข้ามาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพในพื้นที่ซึ่ง เป็นฐานที่ทำให้เราจะใช้ในการประท้วง เหมือนที่เราเคยทำมานับสิบครั้ง รวมถึงยังเป็นการแสดงออกถึงการรักษาสิทธิ์ของไทย และถ้ายกเลิก MOU ก็เท่ากับกัมพูชาจะไปยึดตามแผนที่ของเขาแล้วเราจะยึดอะไร มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้ดีขึ้นเลย นอกจากนี้จะเป็นจุดที่เปิดโอกาสให้ความขัดแย้งนี้ยังมีทางออกอื่นที่ไม่ใช่ การสู้รบหรือใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งคิดว่าทั้งไทยและกัมพูชาไม่ต้องการที่จะให้มีการปะทะกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคณะกรรมการมรดกโลกรับแผนการบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชา ไทยจะแสดงออกอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะหารือกับนายสุวิทย์ และจะนำข้อมูลหารือกับที่ประชุม ครม.ในวันที่ 28 ก.ค. เมื่อถามว่าเป็นเรื่องที่ไทยจะลาออกจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกใช่ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีหลายทางเลือก เริ่มตั้งแต่เบาไปหาหนัก ตั้งแต่การจะเข้าร่วมพิจารณาหรือไม่จนไปถึงเรื่องอื่นๆ ยืนยันว่าแม้คณะกรรมการมรดกโลกจะยอมรับแผนบริหารจัดการของกัมพูชาก็ไม่ได้ หมายความว่าไทยเสียดินแดน เพราะยูเนสโกไม่ได้มีอำนาจและรัฐบาลไทยจะมีการบันทึกเอาไว้อย่างชัดแจ้ง เพื่อไม่ให้เกิดเหมือนในอดีตที่กฎหมายมาปิดปาก โดยเราจะออกมาทักท้วงอย่างชัดเจน และเราจะไม่ยอมรับรวมถึงจะไม่ให้ความร่วมมือกับการบริหารจัดการพื้นที่ในเขต แดนที่ถือว่าเป็นของเรา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กัมพูชาไม่ยอมแจกเอกสารแผนบริหารจัดการต่อที่ประชุมกรรมการดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราได้ทักท้วงไปแล้ว

และถ้ายังมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมเราก็จะทักท้วงอีกครั้งเมื่อถามว่า คิดว่ากัมพูชาทำผิดมารยาทหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราเห็นว่าผิดกฎระเบียบของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเราได้ย้ำกับคณะกรรมการฯและองค์กรยูเนสโกแล้วว่าไม่ควรเพิกเฉยต่อสภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เราย้ำคือสหประชาชาติและองค์กรที่เกี่ยวข้องถูก ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่มีความพยายามที่จะผักดันเรื่องมรดกโลก พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้กลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกต้องตระหนักว่าหน้าที่ของเขาไม่ใช่ การส่งเสริมให้มีการสู้รบกัน แต่มีหน้าที่ในการแสวงหาสันติภาพและส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดยืนที่นายสุวิทย์ใช้ในการเดินสาย ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไทยต้องการใช้กำลังกับใคร แต่ต้องการที่จะให้หลักของการเคารพอธิปไตยซึ่งกัน และกันยังดำรงอยู่รวมถึงแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี

เมื่อถามว่า ถ้าเดินมาถึงจุดที่เลวร้ายที่กรรมการมรดกโลกยอมรับแผนที่ของทางกัมพูชาไทยจะ ส่งกองกำลังลงไปตรึงพื้นที่หรือไม่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เอาไว้พิจารณากันอีกครั้งว่ารูปแบบและวิธีการจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้โดยสภาพข้อเท็จจริงปัจจุบันพื้นที่ที่มีปัญหาบริเวณชายแดนก็มีการยัน กำลังกันอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งทั้ง2 ฝ่ายพยายามแสดงออกถึงสิ่งที่คิดว่าเป็นสิทธิ์ของตัวเอง แต่หลีกเลี่ยงที่จะไม่ปะทะกัน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกองทัพตระหนักถึงภาระหน้าที่ของตัวเองดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ามีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ในคณะกรรมการมรดกโลกหรือ ไม่ เพราะเคยมีการวิจารณ์ว่าคณะกรรมการฯ มีเรื่องของผลประโยชน์จากบางประเทศที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา

นายอภิสิทธิ์ ยิ้มก่อนจะเลี่ยงตอบว่า ไม่ขอไปยืนยันอะไรตรงนั้น เพราะเป็นเรื่องของข้อกล่าวหาที่ใครจะคิดหรือวิเคราะห์กันไป แต่หน้าที่ของรัฐบาลไทยคือคณะของเราต้องไปโน้มน้าวให้คณะกรรมการมรดกโลกได้ เห็นถึงสิงที่ดีที่สุดในการส่งเสริมเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งชั้นนี้คือการเลื่อนการพิจารณาไปจนกว่าจะมีการตกลงในเรื่องของเขตแดนได้ระหว่างไทยกับกัมพูชา เมื่อถามว่า รัฐบาลชุดที่แล้วควรมีส่วนรับผิดชอบอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความเสียหายที่ตกหนักตอนนี้มาจากเหตุการณ์เมื่อปี 2551.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์