เหตุผลคปร.เสนอเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หลังคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดของนายอานันท์ ปันยารชุน เสนอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ยังบังคับใช้อยู่อีก 16 จังหวัด โดยเร็ว

โดยให้เหตุผล การบังคับใช้ต่อไปอาจส่งผลเสียต่อการสร้างความสมานฉันท์ มากกว่าผลดี 

มีความเห็นในเชิงสนับสนุนเป็นส่วนใหญ่ 

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังแบ่งรับแบ่งสู้ 

เรื่องนี้กรรมการปฏิรูปมีเหตุผลที่นำมาสู่ข้อเสนอดังกล่าว 

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา 

การพิจารณาหารือในที่ประชุมไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะหารือในประเด็นดังกล่าว แต่เนื่องจากทุกคนต้องการเอาใจช่วยนายกรัฐมนตรี และเห็นว่าหากมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินจริง ก็น่าจะทำให้บรรยากาศในบ้านเมืองดีขึ้น 

ที่ประชุมมีการเสนอความเห็นกันอย่างหลากหลาย ก่อนจะมีแถลงการณ์ดังกล่าวออกมา ต้องยอมรับว่ายังคงมีบางส่วนที่อาจมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าหากใช้วิถีทางทางการเมือง น่าจะแก้ไขได้ 

ส่วนที่มีความกังวลว่าเมื่อยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว หากอนาคตเกิดปัญหาอะไรขึ้นอีก ประเด็นนี้ก็อาจมีการทบทวนการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใหม่ได้ 

ยืนยันว่าเหตุผลของการเสนอที่ประชุมกรรมการปฏิรูปไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล หรือเห็นค้านในการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

และไม่ใช่เป็นการเสนอให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในทันที หรือต้องทำตามข้อเสนอนี้อย่างเดียว



กฤษณพงศ์ กีรติกร 

นายอานันท์ บอกว่าการประชุมครั้งก่อนมีกรรม การหลายคนมาคุยด้วยเรื่องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงให้กรรมการไปคิดต่อเรื่องนี้ พอมาประชุมครั้งล่าสุด ที่ประชุมจึงมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ว่าอยากเห็น บรรยากาศทุกภาคส่วนของสังคมเดินไปข้างหน้า 

ปัญหาที่เราเห็นต้องใช้หลายกลไกดำเนินการ กฎหมายก็เป็นกลไกหนึ่ง แต่กลไกการเมือง กลไกจิตวิทยา ก็ช่วยได้ 

สิ่งที่เราเห็นเป็นปัญหาสังคม การเมือง ต้องใช้กลไกการเมืองแก้ปัญหา โดยเราเห็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลเห็นข้อมูลโดยรวมน่าจะรู้ดีว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ในพื้นที่ใด อย่างไร

ในที่ประชุมคุยกันว่าจริงๆ ยังมีกฎระเบียบอื่นๆ ที่ใช้ได้ นอกจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งนายอานันท์ ก็ให้ที่ประชุมตกลงกัน มีการแลกเปลี่ยนเสนอความคิดเห็น ใครเห็นอย่างไร วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งเรื่องนี้ โดยไม่ได้ไปว่าใคร 

กรรมการเห็นว่าความวุ่นวายในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าสู่ความสงบดีขึ้นแล้ว ก็ควรมาช่วยกันคิดในการแก้ปัญหา ก็ต้องสร้างบรรยากาศในการคิด ใช้กลไกการเมือง สังคม มาทำงาน จึงออกมาเป็นฉันทามติของคณะกรรมการที่เห็นพ้องกันในการเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ส่วนท่าทีรัฐบาลหรือนายกฯ ในการเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ความเห็นส่วนตัวผมเท่าที่ฟังนายกฯ พูดมาหลายครั้ง ว่าจะทยอยเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ ก็คิดไปในทิศทางนี้เช่นกัน 

ส่วนจะยกเลิกเร็ว หรือช้าแค่ไหน ก็ต้องไปปรึกษาในครม. ฝ่ายความมั่นคงประเมินสถาน การณ์ พื้นที่ไหนยกเลิกได้ก่อนหรือหลังก็ต้องดำเนินการ คณะกรรมการเรามองปัญหาสังคม การเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง 

หากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว คิดว่าไม่กระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป เราต้องเดินหน้าทำงานต่อไป ไม่ว่ายกเลิกตอนนี้หรือตอนไหน ส่วนถ้ายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการทำงานของคณะกรรมการจะออกมา ที่ประชุมไม่ได้วิเคราะห์มิตินี้ เพราะกฎหมายก็มีพอสมควรในการดำเนินการแล้ว 

คณะกรรมการเราต้องทำงาน ทำความเข้าใจว่าหน้าที่เราไม่ได้สนับสนุน หรือต่อต้านฝ่ายไหน เราเดินหน้าทำงานเพื่อสังคม อย่างที่ท่านอานันท์ บอกว่าเราสร้างโรดแม็ปปฏิรูปประเทศไทย ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไหน 

ทุกคนก็ต้องช่วยกันทำโรดแม็ป ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา หรือไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนก็ต้องมาร่วมมือกัน



น.พ.วิชัย โชควิวัฒน 

การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประชุมมีการหารือตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3 จนมาประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา มีการพูดคุยที่หลากหลายและพิจารณาแง่มุมต่างๆ มติหลักๆ ก็เห็นพ้องต้องกัน 

โดยหลักๆ ในการพิจารณาคือ หลักการของประเทศว่าจะปฏิรูป สมานฉันท์ พื้นฐานการปฏิรูปต่อไปควรใช้กฎหมายปกติมากกว่าอยู่ใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากอยู่ใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีปัญหาในการปฏิรูป เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปอีก

เนื่องจากกฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐพิเศษ แนวโน้มการใช้อำนาจเกินขอบเขตไม่เป็นผลดี ใช้ไปนานๆ จะเสพติด เคยชินในการใช้อำนาจนี้ กลไกปกติควรได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ไม่ให้ถูกปล่อยปละละเลย

ส่วนข้อเท็จจริง คือ บ้านเมืองยังไม่สงบราบเรียบ ทุกคนตระหนักดี ถ้อยคำในมติที่เสนอจึงระบุว่าเหตุการณ์ล่วงเลยมา 2 เดือนเศษ บ้านเมืองสงบปกติมากขึ้น คณะกรรมการตระหนักว่ายังมีปัญหาอยู่ จึงเสนอให้ยกเลิกพ.ร.ก.โดยเร็ว ไม่ใช่ทันที

เป็นคำแนะนำให้รัฐบาลไปพิจารณา ไม่ใช่คำสั่ง หรือเงื่อนไขให้รัฐบาลไปทำ เพราะเราเชื่อว่ารัฐบาลจะพิจารณา เนื่องจากเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเอง 

แง่ความสนใจของรัฐบาลกับข้อเสนอแนะของเรา ก็ขึ้นกับสิ่งที่เราเสนอไปน่าสนใจหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ว่าเราเสนอครั้งนี้แล้วรัฐบาลไม่สนใจ ต่อไปข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศรัฐบาลจะไม่สนใจอีก 

คณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป เราไม่เสนออะไรเงียบๆ เราเสนอสาธารณชนด้วยเพื่อเปิดให้มาร่วมตัดสินใจด้วย รัฐบาลจะเพิกเฉยไม่ได้ เราเชื่อเครดิตประธานคณะกรรมการด้วย

เหตุผลที่เสนอไปเชื่อว่ารัฐบาลเอาใจใส่ ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะทำตาม แต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ถ้าเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นผลดีไม่มีเสีย ทุกฝ่ายต้องการ

หากเลิกแล้วมีปัญหาตามมาก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล และคณะกรรมการก็ต้องรับผิดชอบด้วยในการเสนอให้รัฐบาลยกเลิก

ส่วนการยกเลิกพ.ร.ก.แล้ว จะกระทบกับคณะกรรมการในแง่การเคลื่อนไหวต่อต้านการทำงาน ก็ไม่เป็นไร กลุ่มที่ต่อต้านเคยมาบ้านพิษณุโลกแล้ว เราไม่กระทบการทำงาน หากต่อต้านในขอบเขต ไม่ใช้ความรุนแรง ก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง 

แต่ถ้าเกินขอบเขต มีการคุกคามก็มีกฎหมายปกติเข้ามาจัดการได้ คิดว่าไม่น่ากระทบการทำงานคณะกรรมการ เราเดินหน้าต่อไป

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์