อนุพงษ์เซ็นแล้วคำสั่งเช็คบิล83ท่อน้ำเลี้ยงแดง

“อนุพงษ์”เซ็นเช็คบิล 83 ท่อน้ำเลี้ยงแดง “ดีเอสไอ”ขอ 60 วันฟันผิดหนุนก่อการ้าย แบ่ง 5 กลุ่มฟัน “ญาติทักษิณ-อดีตทหาร-ตร.-นักการเมือง- นักธุรกิจ-นปช.” ชี้หากผิดเจอคุกทันที รับการข่าวพบโยกเงินนอก

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 21 มิถุนายน ที่กองบัญชาการกองทัพบก  นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

แถลงผลการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า  ในที่ประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ลงนามในคำสั่ง 78/2553  เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพื่อให้ถ้อยคำเกี่ยวกับธุรกรรมที่ต้องสงสัย และอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำหรือสนับสนุนการกระทำเกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลทำการ หรือมิให้กระทำการเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน  หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ และความปลอดภัยของประชาชน  ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

           
นายธาริต กล่าวว่า สำหรับคำสั่งนั้นมีสาระสำคัญ 3 ส่วนคือ 1. ให้ผู้ทีมีรายชื่อทั้งหมด 83 รายชื่อมาพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เพื่อให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารหรือหลักฐาน เกี่ยวกับการทำธุรกรรมต้องสงสัย ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2553 ทั้งนี้ตามเวลา และสถานที่ตามที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งให้ทราบต่อไป  ทั้งนี้ให้บุคคล 83 รายชื่อมาพบคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งประกอบไปด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ  เจ้าหน้าที่ ปปง. และเจ้าหน้าที่ ปปส. และสรรพากร โดยทั้ง 4 หน่วยงานจะสนธิกำลังเป็นหน่วยรับแจ้งคำชี้แจง แสดงหลักฐานต่างๆจากบุคคลทั้ง 83 ราย 

           
นายธาริต กล่าวว่า 2. ให้ผู้ที่ถูกสั่งห้ามทำนิติกรรมทั้ง 152 รายเดิม เมื่อเป็นบุคคลที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว อยู่นอกเหนือจาก 83 รายชื่อในคำสั่งวันนี้ ก็สามารถทำธุรกรรมปกติต่อไปได้ ซึ่งเดิมบุคคลเหล่านี้มีคำสั่งห้ามทำธุรกรรมการเงิน 152 รายชื่อ ถึงวันนี้ได้คัดกรองเหลือ 83 รายชื่อที่เป็นธุรกรรมต้องสงสัย ที่เหลือนอกจากนั้นก็สามารถทำธุรกรรมตามปกติได้ทันที นับจากคำสั่งฉบับนี้ออกไป  3.คำสั่งที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินที่ต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมสำหรับ 83 รายตามแต่ที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะร้องขอ

          
นายธาริต กล่าวว่า ในขั้นตอนทั้ง 4 หน่วยงานได้ประชุมหารือกันแล้วจะนำเอาเอกสารหลักฐานซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินได้ส่งมาให้แล้วย้อนหลัง 9 เดือน

โดยจะมาพูดกันในข้อเท็จจริงในแต่ละธุรกรรมตั้งแต่ 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเราจะมีการซักถามเพื่อให้มีการชี้แจง เช่น การทำธุรกรรมที่ทำนั้นมีเงินเข้ามาในบัญชีแหล่งเงินมาจากไหน โอนมาจากใคร แล้วถ้าถอนออกไป โอนไปที่ไหน เอาไปทำอะไร ชำระหนี้หรือส่งมอบให้ใครอย่างไร และถ้าถอนเงินสด ต้องอธิบายได้ว่า ใช้เงินสดนั้นไปทำอะไร และตรงกับแบบที่แจ้งไว้ทำธุรกรรมกับธนาคารหรือไม่ เพราะหากเงินที่ทำธุรกรรมเกิน 2 ล้านบาทต้องแจ้งกับ ปปง. บางรายถอนเงินสดจำนวนเงินกว่าร้อยล้าน จะต้องแสดงเอกสาร ซึ่งการเชิญมาพบเพียงรอบเดียวอาจไม่พอ อย่างไรก็ตามทางกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งกับศอฉ.ว่า เราขอใช้เวลา 60 วันในการดำเนินการเรื่องทั้งหมด คงจะการชี้แจงกันไปมาหลายรอยจึงจะได้ข้อยุติ หากเวลา 60 วันไม่เพียงพอก็จะมีการหารือกันอีกครั้ง

           
“เราได้จัดกลุ่มที่เกี่ยวข้องออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่1 กลุ่มที่เป็นเครือญาติกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มี 23 ราย กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มนักการเมืองมี 23 ราย กลุ่มที 3 คือ อดีตข้ราชการทหาร ตำรวจจำนวน 5 ราย กลุ่มที่ 4 คือ นักธุรกิจจำนวน 15 ราย และกลุ่มที่ 5 คือ กลุ่ม นปช.17 ราย โดยทั้งหมดจะทยอยเรียกมาพบที่ดีเอสไอ ซึ่งดีเอสไอจะออกเป็นจะเริ่มออกหมายเรียกตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.นี้เป็นต้นไปและจะให้เริ่มมาชี้แจงตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 มิ.ย.นี้ ซึ่งดีเอสไอ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมาเวลาใดเราจะเปิดเผยทุกขั้นตอน แต่หากใครฝ่าฝืน ไม่มาชี้แจงถือว่า มีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจับทั้งปรับ แต่ผมเชื่อว่า ทุกคนอยากมาเพื่อชี้แจง มิเช่นนั้นจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง”นายธาริต กล่าว

           


นายธาริต กล่าวว่า ในขั้นต้นกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังไม่ได้ถือเป็นผู้ต้องหาใดๆ เว้นแต่บางคนเช่นแกนนำ นปช.ที่โดนข้อกล่าวหาก่อการร้าย

แต่ในคำสั่งนี้เป็นการทำธุรกรรมต้องสงสัย ที่ไม่ปกติจึงต้องมาชี้แจงแต่เขาไม่ใช่ผู้ต้องหา ดังนั้นเราจะไม่ปฏิบัติกับเขาเหมือนผู้ต้องหา ซึ่งเจ้าตัวจะต้องมาชี้แจงเอง แต่หากเจ้าตัวมีภารกิจอย่างไร สามารถส่งผู้แทนมาได้ โดยเราจะมีหน่วยงานกลางเป็นผู้ติดต่อประสาน ส่วนสิ่งที่จะดำเนินคดีหากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนว่า มีการโอนเงินไปให้แกนนำ นปช. ก็ต้องมีการอธิบายให้ชัดเจนว่า ทำไม เพราะอะไร ต้องโอนไป หากในที่สุดไม่มีหลักฐานแสดงว่า เป็นการใช้เงินเพื่อกระทำความผิดก็จบกันไป แต่ถ้ามีหลักฐานว่า เป็นการใช้เงินสนับสนุนการกระทำความผิดการก่อการร้าย ในคดีความผิดทางอาญาต่อแผ่นดินจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ดำเนินคดีจับกุมกันต่อไป

           
นายธาริต กล่าวว่า การกระทำทุกอย่าง เราทำตามกฎหมาย ตรวจตามปกติ และขณะนี้ไม่มีอะไรที่เป็นการล่วงละเมิด เราไม่ได้ยึดเงินอะไรเลย

เพียงแต่เป็นมาตรการทางกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงตรวจสอบได้ตามกฎหมาย หากในที่สุดไม่ผิดก็คือไม่ผิด ส่วนจะฟ้องร้องได้หรือไม่ ในความเห็นส่วนตัวกฎหมายได้คุ้มครองการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือกรอบกฎหมาย 

           
เมื่อถามว่า เส้นทางการเข้ามาของเงินมาจากต่างประเทศหรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราเป็นแนวทางในการสอบสวน


เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า มีการวิ่งล็อบบี้เจ้าหน้าที่ในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยทั้ง 83 ราย นายธาริต กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่มี  เพราะการทำงานทำด้วยความโปร่งใส ทุกอย่างตรวจสอบได้ มีเหตุผล และเราทำงานอย่างตรงไปตรงมา เช่นบางคนเปิดบัญชี 1 พันบาท แต่วันรุ่งขึ้นโอนเข้ามา 1 ร้อยล้าน และอีกไม่กี่วันก็ถอนออกไป ซึ่งคนธรรมดาคงไม่ทำธุรกรมแบบยนี้ จึงต้องอธิบายว่า ทำไมทำธุรกรรมแบบนี้ ซึ่งทาง ปปง.เป็นผู้คัดกรองจากผู้ที่เคยห้ามทำธุรกรรม 152 คน จนเหลือ 83 คน

           
เมื่อถามว่า มีการพบการโอนเงินที่ไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินหรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ทางการข่าวมีอยู่แล้ว

ทั้งนี้เราทำงานด้วยพยานหลักฐาน แต่ถามว่า มีเล็ดรอดไปหรือไม่ ที่เบิกไม่ถึง 2 ล้านบาท อาจเบิก 1.9 ล้านบาทหลายๆ ครั้งอาจทำให้เล็ดรอดได้ 
เมื่อถามถึงการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  นายธาริต กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่ทุกฝ่ายต้องไปทำความเห็นมานำเสนอ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือการถูกดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีรองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดูแล


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์