อานันท์-ประเวศตอบรับเป็นปธ.ปฏิรูปประเทศ



"อานันท์-ประเวศ"ตอบรับเป็นปธ.ปฏิรูปประเทศ ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ชี้"ไพร่-อำมาตย์"ศัพท์ไม่มีความหมาย

"อานันท์-ประเวศ"แย้ม 6 เดือนชงมาตรการระยะสั้นให้รบ.ได้ อดีตนายกฯ ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ไม่ขอพูดลดช่องว่างไพร่-อำมาตย์ได้หรือไม่ อ้างไม่อยากหมกมุ่นกับปัญหาในอดีต เป็นศัพท์ที่ไม่มีความหมาย

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่บ้านพิษณุโลก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนพ. ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า นายกฯ ได้เชิญนพ. ประเวศและตนมาพูดคุยเพื่อแจ้งผลการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมรับฟังความรู้สึกของนพ. ประเวศและตนที่ได้รับการเสนอชื่อจากภาคประชาชนให้เข้ามาทำงาน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐบาล แต่สอดคล้องกับแผนการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ดังนั้นการทำงานของตนและนพ. ประเวศจะเน้นสร้างกระบวนการและกลไกไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล มีความเป็นอิสระต่อความคิดและความครอบงำของรัฐบาล มีอิสระต่อผู้มีอิทธิพล ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชน ซึ่งนายอภิสิทธิ์บอกว่าเข้าใจและไม่ขัดข้อง


นายอานันท์กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการทำงานในเบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดคือ

1. คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศมีตนเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์และจัดลำดับความสำคัญเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งตนจะไปหาผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเป็นกรรมอีก 15-20 คน โดยไม่มีนักการเมืองเข้ามาร่วม ทั้งนี้จะพยายามตั้งคณะกรรมการให้ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

 และ 2. คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศมีนพ. ประเวศเป็นประธาน ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายสัปดาห์หน้าจะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดกลไกการทำงานต่างๆ ออกมา


อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า งานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ นโยบายและมาตรการระยะสั้น ซึ่งสามารถอาศัยวิธีการงบประมาณ และมาตรการในทางบริหารดำเนินการได้ทันที โดยใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และนโยบายและมาตรการระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากสภา หรือองค์กรอื่นๆ ที่นอกเหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งมีการคุยกันว่าอาจจะต้องทำงานกัน 1-3 ปี แม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่อยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องวางรากฐานต่อไป ซึ่งนายกฯ บอกว่าคณะกรรมการอาจต้องทำงานเลยรัฐบาลชุดนี้


ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเป็นรูปธรรมที่จะเห็นในระยะสั้น 6 เดือนคืออะไร นายอานันท์กล่าวว่า ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าคณะกรรมการ ยังตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีหลักในใจแล้ว อีกทั้ง นพ.ประเวศก็ทำงานมาปีเศษ แต่ทุกอย่างต้องนำไปถกเถียงกันในคณะกรรมการก่อน


เมื่อถามว่า เป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คิดว่าจะลดช่องว่างระหว่างคำว่า “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ที่ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้หรือไม่อย่างไร นายอานันท์กล่าวว่า “คณะกรรมการผมจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ถ้ายกคำว่าไพร่ หรืออำมาตย์ขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นศัพท์ที่ไม่มีความหมาย คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้จะไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหาในอดีต แต่แน่นอนความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเงินทอง เรื่องสิทธิ เรื่องโอกาส อันนั้นต้องทำแน่ แต่เราจะไม่ทำในบริบทของสิ่งที่คุณพูด มันคนละเรื่องกัน”


ด้าน นพ.ประเวศกล่าวว่า นายกฯ ให้อิสระในการคัดเลือกกรรมการมาร่วมงานอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของภาคสังคม ภาคประชาชน และภาควิชาการ แต่ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการรับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไปปฏิบัติ ขอย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งต้องมองไปข้างหน้า ไม่เกี่ยวกับเรื่องความปรองดองซึ่งเป็นเรื่องอดีต โดยคณะกรรมการจะเดินหน้าปฏิรูประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์