´สุรยุทธ์´ หารือหน.44 พรรคแก้ไข รธน.

"หารือ 43 พรรค"


วันที่ 25 ต.ค. ที่บ้านพิษณุโลก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาหารือและร่วมรับประทานอาหารกลางวัน โดยมีหัวหน้าพรรคการเมืองเข้าหารือทั้งสิ้น 43 พรรค มีหัวหน้าพรรคการเมืองหลักๆ อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เข้าร่วมหารืออย่างพร้อมเพรียง ยกเว้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ที่ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมหารือ ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ได้เลี้ยงอาหารบุฟเฟ่ต์และก๋วยเตี๋ยวหมู ในขณะที่นายกิติพงศ์ ศรีสุวรรณบัณฑิต หัวหน้าพรรคอยู่ดีมีสุข ได้สร้างความฮือฮาด้วยการถีบจักรยานเข้าบ้านพิษณุโลก โดยอ้างว่าต้องการชูนโยบายประหยัดพลังงาน

ภายหลังใช้เวลารับประทานอาหารและหารือร่วม 2 ชั่วโมง พล.อ.สุรยุทธ์เปิดแถลงข่าวที่ตึกนารีสโมสรว่า ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหมดมาพบปะกันและทานอาหารกัน เสนอว่าอยากจะขอคำแนะนำและขอความคิดเห็นจากพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ หากทางพรรคการเมืองมีข้อคิดเห็นหรือมีคำแนะนำ ในเบื้องต้นก็คงจะให้ส่งมาเป็นลายลักษณ์ อักษร ต่อไปข้างหน้าก็อาจจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหารือกันอย่างเป็นทางการกันอีกครั้งหนึ่ง

คลายกฎหมายห้ามชุมนุมต้น พ.ย.

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวต่อว่า ในด้านการทำงานของฝ่ายบริหารของรัฐบาล ได้ชี้แจงว่าในขณะนี้ได้มีมติคณะรัฐมนตรีที่จะให้ผ่อนคลายประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยที่จะได้นำมติ ครม.ดังกล่าวเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอแก้ไขประกาศ คปค.ให้เร็วที่สุด และคิดว่าภายในช่วงต้นเดือน พ.ย. น่าจะเป็นไปได้ที่จะดำเนินการได้ กรอบเนื้อหาคงไม่น่ามีอะไรอีกแล้ว ที่จริงก็คือให้มีการชุมนุมทางการเมืองได้ แต่ว่าชุมนุมไม่ได้ในสถานที่ ไม่ใช่สถานที่สาธารณะอย่างที่เคยพูดไว้ ในเรื่องของความร่วมมืออื่นๆ ก็ยืนอยู่บนจุดของการที่จะเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะว่าหัวหน้าพรรคที่มาพบในวันนี้ ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นผู้บริหารประเทศต่อไปในโอกาสข้างหน้า เพราะฉะนั้นก็นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่ได้มีการพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง ก็คิดว่าเป็นบรรยากาศที่น่าจะได้บันทึกไว้

เจอทวงถามยกเลิกประกาศอัยการศึก


เท่าที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นครั้งแรกที่หัวหน้าพรรคการเมืองทุกๆพรรค มีโอกาสมาพบกันและได้ทานข้าวกัน ยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรอยู่เบื้องหลัง เพราะบางท่านก็พูดถึงว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังไหม ได้ตอบในที่ประชุมว่าไม่มี เพราะว่าต้องการความร่วมมืออย่างจริงจัง อย่างที่ได้พูดไปแล้วว่าแม้กระทั่งพี่น้องประชาชนไทยทุกๆคน ถ้าท่านมีข้อคิดเห็นอย่างไร ในเรื่องที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องหลักๆ 2-3 เรื่องที่ได้พูดไปแล้ว ในวันนี้เน้นเรื่องเดียวเลยเพราะว่าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองก็คือเรื่องของรัฐธรรมนูญที่จะมีการร่างกันต่อไปข้างหน้า นายกฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บอกว่ามีหัวหน้าพรรคการเมืองสอบถามนายกฯ ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เป็นเพราะเขามีความหวาดระแวงเรื่องอะไร พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ทุกคนก็ระแวงกันได้ ต่อข้อถามว่าหัวหน้าพรรคการเมืองได้สอบถามเรื่องการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ได้มีการพูดคุยกัน ก็บอกว่าจะพยายามทำให้เร็วที่สุด เมื่อสถานการณ์ทางด้านความมั่นคงนั้นเอื้ออำนวยให้

ชื่นชม จาตุรนต์ ให้ข้อคิดเห็นที่ดี

เมื่อถามว่า มีข่าวว่านายกฯได้ยกหูคุยกับ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ตอนนี้ พล.ต.สนั่นอยู่ที่อังกฤษ เมื่อถามว่า พล.ต.สนั่นจำเป็นต้องมาพบนายกฯ หลังกลับจากประเทศอังกฤษอีกหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ไม่จำเป็น เมื่อถามต่อว่า จะมีกำหนดพบปะกับหัวหน้าพรรคการเมืองอีกครั้งเมื่อไหร่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ยังไม่ทราบเลย เมื่อถามว่า ได้ขอให้พรรคการเมืองเข้ามาช่วยสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ผมไม่ได้ขอ เมื่อถามอีกว่า ได้ชี้แจงความชัดเจนเกี่ยวกับอายุในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลกับพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ผมเองยังไม่รู้เลยว่ามากน้อยแค่ไหน แต่จะทำให้สั้นที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของพรรคไทยรักไทยได้พูดถึงเรื่องคลื่นใต้น้ำหรือไม่ เพราะฝ่ายความมั่นคงระบุว่าพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวเป็นพื้นที่ฐานเสียงของไทยรักไทย พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ไม่ได้พูด แต่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็ให้ข้อคิดเห็นที่ดีในเรื่องรัฐธรรมนูญ ได้บอกว่าเอาฉบับ 2540 มาเป็นฐานมันก็จะง่ายขึ้น เมื่อถามว่า เรื่องคลื่นใต้น้ำเป็นอย่างไร มีจริงหรือไม่จริง เป็นกลุ่มไหนกันแน่ พล.อ. สุรยุทธ์ตอบว่า ยังไม่ทราบ ก็อย่างที่เห็นมันมีจดหมายลูกโซ่บ้าง อะไรบ้าง

เรียกระดมความเห็นเสนอร่าง รธน.


นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีเชิญ 44 พรรคการเมืองมารับประทานอาหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ช่วยกันเสนอเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ หากใครต้องการเสนอ หรือมีความเห็นอะไร ก็ให้เสนอ หรือทำเป็นรายงานมาได้ ถ้าทำได้ก็จะทำ โดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อไม่ควร จะสูงมากนัก ส่วนการนับคะแนนควรให้นับที่หน่วยเลือกตั้ง และเรื่อง กกต.ต้องให้มีความเป็นธรรม และควรจะสิ้นสุดที่ศาล นอกจากนี้ ผู้สมัคร ส.ส.ควรจะจบแค่ภาคบังคับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการหารือกันถึงปัญหาคลื่นใต้น้ำหรือไม่ นายบรรหารตอบว่า ไม่มีการคุยกันเรื่องคลื่นใต้น้ำ รวมถึงเรื่องเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ระยะเวลาการทำงานของรัฐบาล และการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่นายกรัฐมนตรีมีท่าทีรับฟังทุกคน และรับปากว่า จะเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา เพื่อยกเลิกการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คงต้องรอให้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสร็จก่อน เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอร้องเรื่องการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองหรือไม่ นายบรรหารตอบว่าไม่มี

เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับคลื่นใต้น้ำ

นายลิขิต ธีรเวคิน หัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท กล่าวว่า นายกฯอยากให้การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเร็วที่สุด และขอความร่วมมือจากทุกพรรคในการเสนอประเด็น แก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังรับฟังมีความเชื่อมั่นว่า พล.อ. สุรยุทธ์ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีวาระซ่อนเร้น ซึ่งพรรคได้มอบแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น 12 ข้อ ให้นายกฯทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้เสนอว่าขอให้ระมัดระวังวาระซ่อนเร้นในการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงบทเฉพาะกาลที่มักยกเว้นกับรัฐบาลสมัยแรก โดย เฉพาะประเด็นคุณสมบัตินายกฯ ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคเก่าแก่พรรคหนึ่งยืนยันว่ามีคลื่นใต้น้ำจริง และเสนอให้นายกฯดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันเกือบทุกพรรคเห็นในทางเดียวกันว่า ขณะนี้ประชาชนบางส่วนกำลังเคลือบแคลงใจว่ารัฐบาลมีความพยายามจะอยู่ให้ นานที่สุด

จาตุรนต์ เผยนายกฯให้ช่วยทำ รธน.


นายจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงภายหลังการรับประทาน อาหารร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ได้โทรศัพท์มาชวนไปหารือ โดยให้เหตุผลว่าอยากให้พรรคการเมืองช่วยกันคิดจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ตัวเองจะมีเวลาไปแก้ปัญหาภาคใต้ จึงตอบตกลงที่จะไปร่วมหารือด้วย เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง โดยพรรคไทยรักไทยยินดีให้การสนับสนุน ในเรื่องของการแก้ปัญหาภาคใต้ โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่วนเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากการหารือมีพรรคการเมืองไปหารือด้วยจำนวนมาก การเสนออะไรไปคงไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงเสนอหลักๆไป 2 ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย และมีกระบวนการที่ดี โดยพรรคการเมืองคงสามารถช่วยได้ ในการเสนอความเห็นในเวทีต่างๆ หรือพรรคการเมืองเสนอเป็นความเห็นร่วมกัน เรายังยืนยันหลักการเดิมที่พร้อมจะร่วมแสดงความเห็นในเวทีที่เหมาะสม แต่จะไม่ไปร่วมเป็นคณะกรรมการใดๆ หากเชิญมาแล้วเห็นสมควรก็จะไปอีก หรือหากไม่เชิญแต่ควรแสดงความเห็น เราก็จะดำเนินการ

เสนอใช้ร่าง รธน.40 เป็นต้นแบบ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยังไม่รู้ สังคมเองก็ยังไม่ทราบ เมื่อเป็นแบบนี้จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เบื้องต้นคือต้องผ่อนปรน ผ่อนคลายคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนเสียก่อน พรรคการเมืองก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย จากนั้นจึงมาช่วยกันคิดเสนอความเห็นในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องกฎอัยการศึกเราคงไปชี้แจงแทนไม่ได้ นายกฯเองก็มีความตั้งใจที่จะเร่งแก้คำสั่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองรีบนำเสนอ สนช. ส่วนจะทำอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญได้เร็วนั้น ได้เสนอไปว่าไม่ควรเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญจากกระดาษเปล่า อยากให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นต้นแบบ หรือตุ๊กตา โดยแก้ไขเฉพาะเรื่องที่เห็นต่างในสาระสำคัญๆ วิธีนี้จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าข้อเสนอของตนไม่มีหลักประกันอะไรว่าเขาจะรับฟังหรือไม่ ต้องไปถามฝ่ายรัฐบาลเอาเอง

คนอยากได้ประชาธิปไตยมากกว่า


ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคไทยรักไทยจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญประกบด้วยหรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า คงไม่เสนอเพราะไม่มีประโยชน์ เราจะให้ความเห็นในเรื่อง หลักๆว่า ในเนื้อหารัฐธรรมนูญปี 2540 ควรคงไว้หรือแก้ไขปรับปรุง รัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาเป็นอย่างไรสังคมต้องช่วยกัน ลำพังแค่พรรคการเมืองคงจะมีบทบาทได้น้อย เมื่อถามว่ามีการพูดคุยเรื่องระยะเวลาในการยกร่างหรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า ไม่มีใครเน้นตรงจุดนี้เมื่อนายกฯพูดมาก็แสดงความเห็นไป ตรงกันอยู่ว่าธรรมนูญชั่วคราวได้กำหนดเวลาขั้นสูงไว้อยู่แล้ว ดูแล้วไม่น่าจะเกินนั้น แต่ถ้าช่วยกันก็อาจจะเสร็จก่อนกำหนด ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ คมช.ชี้มูลเหตุของการยึดอำนาจ และความเลวร้ายของระบอบทักษิณ นายจาตุรนต์ตอบว่า เรื่องนี้ห้ามไม่ได้ ใครจะชี้แจงอย่างไรเป็นสิทธิของผู้มีอำนาจ พรรคไทยรักไทยคงไม่เอาเรื่องเกี่ยวกับบุคคลในรัฐบาลที่แล้วมาชี้แจงแทน สำหรับสาเหตุของการยึดอำนาจนั้น ส่วนตัวคิดว่าประชาชนไม่สนใจการชี้แจง แต่สนใจการปฏิบัติว่าที่ให้เหตุผลไว้ทำจริงหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะประชาชนสนใจว่าทำอย่างไรจะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

ทรท.สับสนท่าที คมช.กรณี ทักษิณ

น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ถ้าหากวิเคราะห์สถานการณ์ในรูปแบบของทางทหาร จะทำให้มองสถานการณ์รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ แต่ถ้ามองในมุมประชาธิปไตย จะพบความเคลื่อนไหวที่หลากหลายเป็นปกติธรรมดา สำหรับคลื่นใต้น้ำที่พูดถึงกันนั้น คงไม่ได้มาจากทางพรรคไทยรักไทยเพียงกลุ่มเดียว ยังมีกลุ่มรักประชาธิปไตย ที่แบ่งเป็นนักวิชาการและประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มเอ็นจีโอด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันนี้ก็เริ่มที่จะไม่พอใจรัฐบาลและ สนช. ยืนยันว่าพรรคไทยรักไทยพร้อมให้ความร่วมมือ แม้เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ในส่วนของพรรคไม่มีคลื่นใต้น้ำแน่ ส่วนกรณีที่ คมช.มองว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย จะเป็นชนวนก่อความวุ่นวายนั้น ถ้า คมช. มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย แต่กลับไม่ให้กลับมาในช่วงที่มีการใช้กฎอัยการศึก ที่มีอำนาจควบคุมสถานการณ์อยู่ในมือ แต่กลับเห็นควรให้กลับมาในช่วงที่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ถ้าเกิดเหตุการณ์วุ่นวายจริงจะควบคุมสถานการณ์ลำบากหรือไม่ อาจนำไปสู่การประกาศใช้กฎอัยการศึกอีกครั้งหรือไม่


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์