“กษิต”รอด ศาลรธน.ยังให้ เป็นรมต.ต่อ

ชี้ทำหนังสือถึงนายกฯเป็นหน้าที่เสนอแนะแนวทางปฏิบัติปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ "เรืองไกร"น้อมรับคำตัดสิน


วันนี้ (12 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นำโดยนายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และพวก ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268และ266 (1) หรือไม่  เนื่องจากมีหนังสือลับมากด่วนที่สุดที่ กต.1303/2355 ลงวันที่ 16 พ.ย.52 ถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องแนวทางการดำเนินการกับปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา โดยมีเนื้อหาข้อ 2.4 ขอให้เร่งพิจารณาคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวก่ายการพิจารณาคดีที่เป็นอำนาจของข้าราชการตุลาการ
               
โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับมอบหมายอ่านคำวินิจฉัยระบุว่า มาตรา 266(1) และ268

ห้ามมิให้ใช้ตำแหน่งก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการ ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อประโยชน์ของตนเองผู้อื่นหรือพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อเป็นหลักประกันให้กับข้าราชการทำหน้าที่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ต้องกลัวการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง แต่ทั้งนี้ก็ได้ยกเว้นให้กับการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี  ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ให้ถือไม่เป็นการก้าวก่าย นอกจากนี้ให้ยกเว้นในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจเอาไว้

ซึ่งการดำเนินการของนายกษิต ที่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ทำตามอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศตามพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 15

โดยภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ที่ต้องวิเคราะห์สถานการณ์และเสนอแนะต่อรัฐบาล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับไทย ดังนั้นการทำตามกฎหมายและดำเนินการภายใต้บทบัญญัติย่อมมิเป็นการก้าวก่าย ในเนื้อหาหรือการพิจารณาคดีของศาลให้ผิดไปจากกระบวนการของศาลได้ นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ ยังระบุให้การพิจารณาคดี เป็นดุลยพินิจโดยอิสระของตุลาการด้วย

“การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องมิได้มีลักษณะในการ ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการและไม่มีเคล้ามูลว่าเป็นประโยชน์ของผู้ถูกร้อง และผู้อื่นหรือพรรคการเมือง เพราะการเร่งรัดคดีเป็นหนึ่งในหลายแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่เสนอแนะหาใช่เป็นการก้าวก่าย ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกษิตไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ”

ด้านนายเรืองไกร กล่าวว่า คำวินิจฉัยครั้งนี้จะได้เป็นบรรทัดฐานของรัฐบาล ว่าสามารถทำอะไรได้อย่างไร คำตัดสินของศาลถือว่าเด็ดขาด และมีความชัดเจน ซึ่งนายกษิตก็ได้รับความเป็นธรรมในการทำหน้าที่ ทั้งนี้ตนและเพื่อนสมาชิกก็ต้องยอมรับกับคำตัดสินใยครั้งนี้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์