มาร์คยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสั่งสลายม็อบ

ศอฉ.แถลงเทพเทือกมอบตัวดีเอสไอ11พ.ค.


เมื่อเวลา เวลา 18.40 น. วันที่ 10 เมษายน ที่ ร.11 รอ. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ว่า นายธาริตแจ้งให้ที่ประชุม ศอฉ.รับทราบว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในฐานะ ผอ.ศอฉ. ซึ่งที่ประชุมพิจารณาเรื่องนี้กัน ซึ่งนายสุเทพตัดสินใจไปพบนายธาริต วันที่ 11 พฤษภาคม ภายหลังประชุม ครม. เพื่อไปรับทราบการร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าว ส่วนข้อกล่าวหาต่างๆ ดีเอสไอต้องดำเนินการสอบปากคำก่อนถึงจะตั้งข้อกล่าวหาได้ ขณะที่กรณีของนายอภิสิทธิ์นั้นจะต้องผ่านขั้นตอนของกระบวนการรัฐสภาก่อน เนื่องจากนายกฯเป็น ส.ส.มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง หากสภามีมติไม่ให้ความคุ้มครองจึงสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้


นายกฯยินดีสู่กระบวนการ

"ระหว่างการประชุมนายสุเทพได้ระบุว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการเหมือนกับคนอื่นๆ ซึ่งในส่วนของนายกฯระบุเหมือนกับนายสุเทพ เพราะเป็นไปตามนโยบาย โดย ศอฉ.ได้พิจารณาเรื่องนี้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ว่านายกฯและรองนายกฯจะไปมอบตัวเพื่อแลกกับการสลายการชุมนุม เป็นการหารือก่อนกลุ่ม นปช.แถลงข่าวเสียอีก"


เมื่อถามว่า แจ้งแกนนำกลุ่ม นปช.ในเรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า การตัดสินของนายสุเทพเข้าใจว่าที่ประชุม ศอฉ.เพิ่งรับทราบ เมื่อถามว่า ได้ตัดสินใจก่อนหรือมีการประสานกันก่อนที่จะตัดสินใจ นายปณิธานกล่าวว่า  เป็นไปตามแนวทางของนายกฯ ซึ่งนายกฯระบุว่ายินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งการทำงานของ ศอฉ.และหน่วยงานด้านความมั่นคง สามารถที่จะอธิบายได้ และพร้อมที่จะนำหลักฐานต่างๆ มาต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม


ส่ง"กอร์ปศักดิ์"คุยข้อตกลง


เมื่อถามว่า หากนายสุเทพมอบตัวโอกาสการยุติการชุมนุมมีมากน้อยเพียงใด นายปณิธานกล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่จะทำให้การยุติการชุมนุมไม่เกิดขึ้น การประสานงานในเรื่องรายละเอียดต่างๆ กระบวนการยุติการชุมนุมได้ผ่านไปได้ด้วยดีโดยนายกอร์ปศักดิ์ประสานงานไปตั้งแต่แรกแล้ว ว่าหากมีการยุติการชุมนุมจะต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อถามว่า ได้ประสานงานให้นายกอร์ปศักดิ์แจ้งต่อ นปช.เกี่ยวกับการมอบตัวของนายสุเทพแล้วหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า คงมีการประสานในขั้นต่อไป


เมื่อถามว่า หลังจากนี้ที่ประชุม ศอฉ.มีความเป็นห่วงเหตุแทรกซ้อนหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ศอฉ.กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลในพื้นที่ ดูความปลอดภัย มาตรการรักษาความเรียบร้อยต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่อาจจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะบริเวณที่เจ้าหน้าที่อาจจะเข้าไปดูแลได้ไม่ทั่วถึง หากตัดสินใจยุติชุมนุม ศอฉ.มีแผนปฏิบัติการหลายอย่างในการเดินทางกลับ และประสานรายละเอียดต่างๆ ให้แกนนำได้รับทราบแล้ว นอกจากนี้ได้ซักซ้อมกระบวนการหากมีการยุติการชุมนุม


เมื่อถามว่า นายขวัญชัยแกนนำกลุ่ม นปช.ระบุว่าเหตุที่การเจรจายังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องหมายจับแกนนำ ข้อปัญหาได้รับการคลี่คลายแล้วหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามหลักการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ฝั่งรัฐบาลเตรียมพร้อมและตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้น เป็นหลักการที่ชัดเจน


ตั้งข้อหาหนัก"สุเทพ"ก่อนปล่อย


นายธาริตกล่าวว่า นายสุเทพโทรศัพท์แจ้งวันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 08.30 น. จะมารับทราบการร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานะ ผอ.ศอฉ. กรณีสั่งทหารให้ขอคืนพื้นที่บริเวณแยกคอกวัว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต สืบเนื่องจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และญาติผู้เสียชีวิตมาร้องทุกข์กล่าวโทษที่ดีเอสไอ เชื่อว่าจะลดเงื่อนไขหนึ่งของ นปช.และจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,289,มาตรา 82,83,และ 84


 

"การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัตหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 82 และ 83 ตามที่ญาติผู้เสียชีวิตมาร้องถูกกล่าวโทษกับดีเอสไอ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกถ้อยคำของนายสุเทพ เบื้องต้นก่อนปล่อยตัวไป สาเหตุที่ไม่ต้องการประกันตัวเนื่องจากนายสุเทพไม่ได้ถูกควบคุม"


ฮาร์ดคอกว่า500คนเจอด้วย


ส่วนกรณี ส.ส.พท.ไม่วางใจดีเอสไอ เพราะนายธาริตเป็นกรรมการ ศอฉ. นายธาริตกล่าวว่า ถ้าไม่มอบตัวกับดีเอสไอแล้วจะไปมอบกับใคร เพราะเรื่องถูกโอนมายังดีเอสไอหมดแล้ว สำหรับกรณีของนายกฯยังไม่ได้รับการประสาน แต่ตามกฎหมายต้องมีหนังสือจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา ทั้งนี้ หากนายกฯมาดีเอสไอก็พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา


รายงานข่าวแจ้งว่า ศอฉ.มีการเตรียมตั้งข้อกล่าวหากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีลักษณะสร้างความรุนแรงเป็นฮาร์ดคอร์เข้าข่ายในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายจำนวนกว่า 500 คน ซึ่งเตรียมจะเสนอดีเอสไอดำเนินคดีต่อไปเมื่อการชุมนุมยุติลง โดย ศอฉ. เห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองถือเป็นข้อหารุนแรงที่ต้องดำเนินคดี

คงใช้"พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"แม้สลายตัว 


ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงว่า ศอฉ.เสนอนายกรัฐมนตรีว่ายังไม่ควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเรื่องการถอนกำลังทหารว่ายังไม่ควรดำเนินการแม้คนเสื้อแดงจะสลายชุมนุมไปแล้ว คงต้องรอให้ยุติการชุมนุมก่อนเพราะมีความจำเป็นต้องดูแลความปลอดภัย เนื่องจากมีการก่อการร้ายแฝงอยู่ในการชุมนุม หากแกนนำยุติจริงคงไม่มีปัญหา จากนั้นจะดำเนินการตามแผนโรดแมปของนายกฯ

"ถ้ายุติการชุมนุมจริงอย่างที่แกนนำแถลงคงจะดำเนินการร่วมกันหลายฝ่ายในเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนกลับบ้าน แต่ทหารมีความจำเป็นต้องตั้งด่านตรวจ เพราะต้องป้องกันไม่ให้ลักลอบอาวุธสงครามออกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะของทหารที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมยึดไป"

ตั้งด่านเพิ่มหวั่นก่อเหตุป่วน


เมื่อถามว่า กลัว พล.ต.ขัตติยะจะสร้างสถานการณ์รุนแรงหรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เตรียมการอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการกระชับวงล้อมด้วยการตั้งด่านเพิ่มจากเดิม 6 ด่าน เป็น 14 ด่าน และบีบวงล้อมเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เมื่อแกนนำผู้ชุมนุมประกาศต่อสาธารณชน คิดว่าทุกคนต้องรักษาสัจจะและต้องเชื่อใจกันและกัน


เมื่อถามถึงกรณีการปลด พล.ต.ขัตติยะจากตำแหน่ง พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนไม่ว่าระดับนายพล นายพัน หรือนายร้อย เชื่อว่าใช้เวลาสอบสวนไม่ถึงเดือน ที่ พล.ต.ขัตติยะยังออกมาท้าทายอยู่นั้น วันนี้คนตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปจับกุม เพราะการเข้าไปจับคนมีหมายจับขณะยังไม่ยุติเท่ากับเป็นการสลายการชุมนุม 

ตร.-ดีเอสไอส่งป.ป.ช.สอบต่อ ปม"มาร์ค-สุเทพ"สั่งสลายม็อบ10เม.ย.

ก่อนหน้านี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. และคณะพนักงานสอบสวน เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่ดีเอสไอ

จากนั้น พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า กรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยพาญาติผู้เสียชีวิตเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในฐานะผู้สั่งการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนมีผู้เสียชีวิตนั้น ขั้นตอนของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม สน.ดุสิต สน.นางเลิ้ง กองปราบปราม และดีเอสไอเสร็จสิ้นแล้ว โดยให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการการเมือง ความผิดตามมาตรา 157 การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนในพื้นที่ที่เหลือได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวนต่อไป เนื่องจากเป็นคดีพิเศษ

นายธาริตกล่าวว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษนายกฯและรองนายกฯของญาติผู้เสียชีวิต ดีเอสไอจะรับผิดชอบการสอบสวนต่อจากตำรวจ เพราะการทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าข่ายคดีพิเศษ และจะรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนทุกระยะ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์