สนช.เทให้ 167 เสียง เลือกมีชัย ประสงค์-ปุแพ้ลุ่ย

"สร้างกระแสต่อต้าน"


จากการที่หลายฝ่ายจับตาดูว่าใครจะเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวสร้างกระแสต่อต้านบุคคลบางคนไม่ให้เป็นประธาน สนช.นั้น สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีคะแนนเสียงสนับสนุนท่วมท้น

ม็อบต้าน มีชัย บุกสภาแต่เช้า

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. เวลา 08.00 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทยอยกันมาร่วมประชุมสภานิติบัญญัตินัดแรกที่รัฐสภากันอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ห้าม สนช.ทุกคนใช้ประตูทางเข้าที่อยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารรัฐสภา 1 โดยให้ทุกคนเข้าทางประตูบริเวณชั้นล่างเท่านั้น ขณะเดียวกันได้มีเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง จำนวน 5 คน นำโดย นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้มายื่นจดหมายเปิดผนึกให้ สนช.ทุกคน โดยมี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และนายสุริชัย หวันแก้ว สนช.เป็นผู้แทนรับ ซึ่งหนังสือดังกล่าวระบุใจความว่า ขอให้ คมช.ทบทวนบทบาทก่อนจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะบุคคลสำคัญใน คมช.วิ่งเต้นล็อบบี้ให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สนช. เป็นประธานสภาฯ แต่เนื่องจากสร้างความเคลือบแคลงให้สังคม ขอให้ทบทวนการเสนอบุคคลที่ถูกปฏิเสธทางสังคมในด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่ถูกตั้งขอสงสัยว่า ส่อเค้าต้องการสืบทอดอำนาจ และ คมช.ต้องทำทุกวิถีทางให้บรรลุสัญญาประชาคมในการทำรัฐประหาร และต้องวางรากฐานทางสังคมการเมืองให้เกิดความยั่งยืนและเกิดการปฏิรูปทางสังคมที่เหมาะสม

มีชัย ไม่หวั่นกระแสต่อต้าน


ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สนช.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมถึงกระแสคัดค้านไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติว่า ไม่รู้สึกหนักใจ เป็นสิทธิของคนที่จะวิจารณ์ได้ เราก็ทำหน้าที่ของเราในฐานะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติคนหนึ่งเหมือนกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสมาชิกเลือกท่านเป็นประธาน นายมีชัยกล่าวว่า เป็นสิทธิของสมาชิกเพราะแต่ละคนมีแนวคิดเป็นของตนเอง ต่อข้อถามว่า คิดว่าจะมีปัญหาตามมาหลังจากมีการเลือกประธานหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ปัญหาทุกอย่างน่าจะจบเพราะสมาชิกเลือกใครทุกคนก็ควรจะยอมรับได้

นักวิชาการชี้ล็อบบี้เป็นเรื่องปกติ

ขณะที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สนช. กล่าวว่า การล็อบบี้เป็นเรื่องปกติ ต่างประเทศเขาทำเป็นอาชีพล็อบบี้ยิสต์ แต่เป็นเรื่องเปิดเผยว่าเขาสนใจเอาใครก็ล็อบบี้กัน แต่ถ้าเป็นการล็อบบี้ใต้ดินหรือมีตัวเงินเข้ามาถือว่าเป็นเรื่องเลวร้ายที่ไม่ควรมีในสภานิติบัญญัติ ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของนักวิชาการได้คุยกันหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า ก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ้างนักวิชาการจะสนใจกระแสสังคม เพราะการเมืองภาคประชาชนมีความสำคัญ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณ ไม่ให้ ความสำคัญกับภาคประชาชน ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น ในส่วนของนักวิชาการได้ติดตามและดูการเมืองภาคประชาชนมาตลอด

นายชัยอนันต์ สมุทวณิช สนช.กล่าวถึงกระแสการล็อบบี้ว่า ไม่เป็นไร เป็นธรรมดา แต่ไปเรียกล็อบบี้ก็ไม่ถูก สมาชิกคงนัดกันธรรมดา อย่างที่ วปอ.เขาก็คบกันธรรมดาอยู่แล้ว สภาฯชุดนี้ไม่ซีเรียสอยู่แล้ว

สังศิต ยันล็อบบี้กันถึงเช้า


ส่วนนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สนช.ผู้ออกมาเปิดประเด็นการล็อบบี้ตำแหน่งประธานสภา สนช.กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเช้าวันนี้ก็ยังมีการล็อบบี้กันอยู่ ซึ่งเป็น สนช.สายทหารพยายามโทร.มาหา สนช.เพื่อให้ได้คนที่เขาต้องการ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรให้รอดูหลังการประชุมเสร็จสิ้นว่าเหมือนที่ตนออกมาเปิดเผยหรือไม่

คุณหญิงนันทกา ประธานชั่วคราว

ต่อมาเวลา 10.00 น. ได้เริ่มการประชุมสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นนัดแรกเพื่อเลือกตำแหน่งประธานและรองประธาน สนช. โดยก่อนเริ่มการประชุมนางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการ สนช. ผู้ทำหน้าที่เลขาฯในที่ประชุมได้เชิญคุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันทน์ สมาชิก สนช.อายุ 88 ปี มีอาวุโสสูงสุดขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว คุณหญิงนันทกาได้แจ้งวาระ ที่ต้องพิจารณาคือ รับทราบพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภานิติบัญญัติ พ.ศ.2549 รับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง สนช. และให้สมาชิก สนช.กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นได้ขออนุญาตที่ประชุมขอใช้ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2534 มาใช้ในการเลือกประธานและรองประธานฯโดยอนุโลม โดยข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมควรเป็นประธานได้ 1 ชื่อ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คน ถ้ามีการเสนอเพียงคนเดียวถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกไปเลย แต่ถ้ามีการเสนอหลายชื่อให้ลงคะแนนเลือก โดยการเขียนชื่อบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่จัดไว้ให้ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ที่ได้รับเลือก ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากันหลายชื่อให้เลือกใหม่เฉพาะชื่อที่ได้คะแนนเท่ากัน แต่ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากันอีก ก็ให้ใช้วิธีจับสลาก

มีชัย-ประสงค์ คู่ชิงตามคาด


จากนั้นสมาชิกต่างทยอยเสนอชื่อผู้สมควรเป็นประธานฯ โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เสนอชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เสนอชื่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล เสนอชื่อนายอัมมาร์ สยามวาลา นายภัทระ คำพิทักษ์ เสนอชื่อนางจุรี วิจิตรวาทการ นายวัฒนา สวรรยาธิปัติ เสนอชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ แต่ภายหลังนายอัมมาร์และนางจุรีขอถอนตัว ขณะที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกประธาน สนช.นั้น นายโสภณ สุภาพงษ์ ได้ท้วงติงว่า ข้อบังคับการประชุมที่นำมาใช้ชั่วคราว มีบางข้อขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว ขอให้ที่ประชุมงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่อาจทำให้เกิดปัญหาได้ จากนั้นได้มีสมาชิกหลายคนร่วมอภิปรายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ กล่าวว่า เมื่อไม่มีข้อบังคับก็ต้องไม่มีการงดเว้นการใช้ ข้อบังคับ หลังจากสมาชิกใช้เวลาถกเถียงกันนานกว่า 1 ชั่วโมง ประธานที่ประชุมได้ขอมติจากที่ประชุมซึ่งส่วนใหญ่เห็นชอบให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมตามที่นายโสภณเสนอ

มีชัย ทิ้งคู่แข่งชนะขาดลอย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้ดำเนินการลงคะแนนเลือกประธานฯ โดยการเรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษร ให้ลงคะแนนในบัตรลงคะแนน และมาหย่อนบัตรในกล่องที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เป็นรายบุคคล โดยมีคณะกรรมการจำนวน 6 คน ร่วมเป็นพยานนับคะแนน หลังคณะกรรมการนับคะแนนเสร็จ ได้มีกรรมการบางคนเดินเข้าไปหานายมีชัย พร้อมกับจับมือแสดงความยินดี ก่อนที่ประธานในที่ประชุมจะประกาศผลการลงคะแนน ซึ่งปรากฏนายมีชัยได้รับเลือกด้วยคะแนน 167 เสียง น.ต. ประสงค์ได้ 47 เสียง ร.ต.อ.ปุระชัยได้ 21 เสียง งดออกเสียง 3 ซึ่งนายมีชัยได้รับคะแนนสูงสุด และเกินกึ่งหนึ่งไปในรอบแรก ถือว่าได้เป็นประธาน สนช.

พล.อ.จรัล-พจนีย์ รองประธานฯ


ต่อมาที่ประชุมได้เลือกรองประธาน สนช. ซึ่งนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. เสนอให้มีรองประธาน 2 คน คือรองประธานคนที่หนึ่ง และรองประธานคนที่สอง โดยที่ประชุมไม่มีใครคัดค้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ เสนอชื่อนางจุรี วิจิตรวาทการ และนายวิษณุ เครืองาม เสนอชื่อ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ผลการลงคะแนนปรากฏว่าพล.อ.จรัลได้รับเลือกเป็นรองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง ด้วยคะแนน 170 เสียง ส่วนนางจุรีได้ 56 เสียง

ต่อมาเป็นการเลือกตำแหน่งรองประธาน สนช.คนที่สอง โดยนายวัลลภได้เสนอชื่อนางจุรี วิจิตรวาทการ อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ตำแหน่งประธานและรองประธานคนที่หนึ่งเป็นผู้ชายทั้งคู่แล้ว ดังนั้น รองประธานคนที่สองควรจะเป็นผู้หญิงบ้าง จึงขอความกรุณาอย่าเสนอชื่อใครอีก แต่ปรากฏคุณพรทิพย์ จาละ ได้เสนอชื่อ น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช ซึ่งผลปรากฏว่าที่ประชุม น.ส.พจนีย์ เป็นรองประธานคนที่สอง ด้วยคะแนน 128 ต่อ 99 เสียง จากนั้นประธานฯได้สั่งปิดการประชุมเมื่อเวลา 13.30 น.

เด็ก ประสงค์ ป่วนไม่ยอมแพ้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผ่านขั้นตอนการประกาศเลือกประธานฯไปแล้ว นายประพันธ์ คูณมี สนช. คนใกล้ชิด น.ต.ประสงค์ได้ลุกขึ้นเสนอให้ที่ประชุมนับคะแนนใหม่ โดยให้เหตุผลว่าจำนวนผู้ลงคะแนนกับจำนวนผู้มาเซ็นชื่อครั้งแรกไม่ตรงกัน อีกทั้งในการตรวจ นับคะแนนสมาชิกส่วนใหญ่ไม่อยู่ในที่ประชุม มีเพียงคณะกรรมการเท่านั้นที่รู้ผลคะแนน ทำให้คณะกรรมการฯหลายคนแสดงความไม่พอใจ ซึ่งคุณหญิงนันทกาได้แจ้งว่าผ่านขั้นตอนการเลือกประธานฯไปแล้ว และอยู่ระหว่างการเลือกรองประธาน โดยจำนวนผู้ลงคะแนนที่ไม่เท่ากันเนื่องจากมีสมาชิกมาเซ็นชื่อเพิ่มเติม และตนเชื่อมั่นในตัวเลขที่ทางสำนักงานเลขาธิการ สนช.ส่งมาให้ และเชื่อมั่นในตัวคณะกรรมการผู้ตรวจนับคะแนน ไม่จำเป็นต้องนับคะแนนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนจากนี้ไป ทางสำนักงานเลขาธิการ สนช. จะนำรายชื่อประธานและรองประธานสนช.ทั้ง 2 คน ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามมาตรา 7 แห่ง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549

แฉล็อบบี้หนักก่อนเข้าประชุม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในห้องประชุม ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น สมาชิกในสายของ น.ต.ประสงค์ยังคงพยายามเดินขอเสียงสนับสนุนอย่างหนัก รวมถึงตัว น.ต.ประสงค์เองก็พยายามเข้าไปทักทายกับสมาชิกทุกคน หวังขอเสียงสนับสนุนโดยมีฐานเสียงจากสายทหารบางส่วนและสายพันธมิตรประชาชน ในขณะที่ฝั่งของนายมีชัยกลับไม่มีการเดินขอเสียง เนื่องจากมั่นใจว่าจะชนะอยู่แล้ว โดยมีเสียงสนับสนุนจากสายทหารกลุ่มใหญ่ของ คมช. สายข้าราชการ นักธุรกิจ นักกฎหมาย ขณะที่การเสนอชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัยเป็นความพยายามทำให้ฐานเสียงของนายมีชัยแตก เพราะดึงคะแนนจากกลุ่มเอ็นจีโอและนักวิชาการออกไปบางส่วน

กลุ่มต้านยอมรับมติของสภา

ต่อมาเวลา 13.00 น. ภายหลังทราบคะแนนผลการคัดเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล แกนนำเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง ที่เดินสายคัดค้านนายมีชัยเป็นประธานสภาสนช. กล่าวว่า ต้องยอมรับและเคารพสิทธิความคิดของสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพราะเขาได้เลือกประธานของพวกเขาเองแล้ว แต่รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยไม่คิดว่าคะแนนจะชนะขาดกันมากขนาดนี้ ทั้งนี้ จะขอจับตาการทำงานของประธานสภานิติบัญญัติและ สนช.ต่อไป

ประสงค์ พร้อมทำงานร่วม มีชัย


น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สนช. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนายมีชัยด้วย ถือเป็นการตัดสินใจเลือกของ สนช.ทุกคน ต้องเคารพความเห็น จากนี้ไปคงต้องช่วยกันทำงานต่อไปด้วยดี จะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติฯให้ดีที่สุด ต่อข้อถามว่าจะทำให้การทำงานของประธานฯมีปัญหาหรือไม่ น.ต.ประสงค์ตอบว่า เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป แต่ช่วงเวลาหนึ่งปีเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรัฐประหารไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำอะไรจึงต้องให้ดีกว่าปีที่ผ่านมา อยากฝากว่าใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญขอให้คำนึงถึงความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด ส่วนแรงกระเพื่อมนอกสภานั้นถือว่าเป็นธรรมชาติของการเมือง ดังนั้น ประชาชนคิดอะไร สนช.ต้องใส่ใจความรู้สึกของประชาชนด้วย หนึ่งปีนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด หากไม่ฟังเสียงไม่ใส่ใจก็จะมีปัญหาตามมาแน่ สำหรับตนจะทำงานในฐานะฝ่ายตรวจสอบนำความเห็นของประชาชนจากภายนอกมาสะท้อนยืนพูดในสภาฯ กฎหมายอะไรที่ไม่ถูกต้องก็สมควรยกเลิกและแก้ไข ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นมาจากกระบวนการออกกฎหมายหรือไม่

ป๋าหนุน มีชัย เหมาะสมดี-เก่ง

ทางด้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ได้รับลงคะแนนให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า นายมีชัยเป็นคนเก่ง คนดีและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มามาก จะทำหน้าที่ได้ดี เป็นนักกฎหมายที่เก่ง เมื่อถามว่า นายมีชัยจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในสภาได้ดีใช่หรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่า ผมก็คิดว่าอย่างนั้น

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามว่า เป็นห่วงเรื่องกระแสการคัดค้านนายมีชัยนอกสภาหรือไม่ โดย พล.อ.เปรมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ พร้อมกับเดินทางขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ

สุรพล ย้ำทุกฝ่ายต้องยอมรับมติ


นายสุรพล นิติไกรพจน์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า นายมีชัยมีความคุ้นเคยกับงานดี เชื่อว่าการทำงานในเวลาจำกัดจะไม่มีปัญหา หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้วคงไม่มีกระแสต่อต้านอะไรอีก เพราะเสียงข้างมากได้มีมติไปแล้ว และทุกคนต่างมีอิสระในการเลือกจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร เท่าที่ได้พูดคุยกับสมาชิกไม่พบว่ามีการขอจากใคร และเป็นการใช้ดุลยพินิจของแต่ละคนอย่างรอบคอบ ส่วนกระแสคัดค้านนายมีชัยที่มีก่อนหน้านี้ คงไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และเชื่อว่าจะไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่คงทำงานไปตามความถนัดของแต่ละกลุ่มมากกว่า ส่วนการทำหน้าที่ควบประธานสมัชชาแห่งชาติหรือประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยนั้น เป็นการทำหน้าที่เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น บทบาท ตรงนั้นจึงมีน้อยมาก การทำงานบนความหลากหลายแตกต่างทางความคิด ถือเป็นข้อดีที่จะไปชดเชยกับการที่ สนช.ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชน แต่ไม่ใช่การตั้งป้อมเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

ระบุ สนช.เชื่อมั่น มีชัย

นายโคทม อารียา สนช. สายองค์กรเอกชน กล่าวว่า ผลคะแนนมันชัดเจนแล้วว่านายมีชัยเป็นที่นิยมของ สนช. เมื่อผลออกมาทุกคนต้องยอมรับ ต่อข้อถามว่าก่อนหน้านี้มีสมาชิก สนช.ระบุว่าหากเลือกนายมีชัยจะมีปัญหาในอนาคตนั้น นายโคทมตอบว่า แล้ว แต่ใครที่พูดก็ต้องรับผิดชอบ ต่อข้อถามว่าตำแหน่งประธานและรองประธาน สนช.เป็นไปตามโผหรือไม่ นายโคทมตอบว่า เป็นไปตามคาดคะเน ไม่อยากใช้คำว่าบล็อก การเป็นประธานฯเมื่อมีคนวิจารณ์นายมีชัยก็ต้องรับคำวิจารณ์เหล่านั้นไป หากกลัวความร้อนก็ไม่ต้องเข้าครัว นี่แสดงว่าคุณมีชัยรู้แล้วว่าครัวมันร้อน ก็พร้อมรับ ก็ต้องขอฝาก สนช.ด้วยว่าอย่าร้อนแรงนัก

มีชัย ฟุ้งเสียงหนุนท่วมท้น


ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า คะแนนที่ได้รับมาจากหลายฝ่ายที่ช่วยเหลือกัน ไม่ใช่จากทหารส่วนเดียว ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้คะแนนท่วมท้นขนาดนี้ ถือเป็นความปรารถนาดีของสมาชิก จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ประธานไม่มีสิทธิชี้นำ หรือโน้มน้าวให้ไปในทางที่ผิดได้ ไม่รู้สึกหนักใจกับการทำหน้าที่ จากนี้ต้องรอโปรดเกล้าฯให้เป็นประธาน สนช. เสียก่อน ส่วนการเปิดประชุมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลนั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะทันวันที่ 27 ต.ค.นี้ หรือไม่ เพราะต้องแจ้งวาระการประชุมให้สมาชิกทราบล่วงหน้า 3 วัน ด้วย เมื่อถามว่า มีข้อครหาว่าเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้คนคนเดียวเป็นทั้งประธานสนช. ประธานสมัชชาแห่งชาติ และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยตอบว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเช่นนั้น ต้องกลับไปอ่านให้ดี แต่ที่ต้องเขียนว่าให้ประธาน สมัชชาฯ มาจากประธาน สนช. เป็นเพราะสมัชชาแห่งชาติมีคนกว่า 2,000 คน อาจทำให้การคัดเลือกล่าช้า หากเปิดให้ทุกคนอภิปรายต้องใช้เวลานานเกินไป ซึ่งตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งชาติไม่มีบทบาทสำคัญอะไร ทำหน้าที่เพียงควบคุมการประชุมให้คัดเลือกกันเองให้ได้ เท่านั้น ไม่มีบทบาทเข้าไปกำหนดทิศทางรัฐธรรมนูญ ประธานแต่ละองค์กรแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน

ลั่นขอทำงานพิสูจน์ตัวเอง

เมื่อถามว่า ที่ระบุว่าเป็นห่วงความกดดันจากสังคมภายนอกหมายความว่าอย่างไร นายมีชัยตอบว่า อย่าไปคิดอะไรมาก ขอให้ดูผลงานการทำงาน อะไรผิดก็บอกได้ ไม่ว่าจะโทรศัพท์มาบอก หรือยื่นหนังสือให้ข้อท้วงติงก็ได้ เมื่อถามว่า หลายฝ่ายเกรงว่าการออกกฎหมายจะไม่ยึดหลักประโยชน์ของประชาชนเท่าที่ควร นายมีชัยตอบว่า ไม่เคยออกกฎหมายเอง ต้องผ่าน 2 สภาโดยมี ครม.เป็นผู้เสนอ เหมือนเวลาทำข่าว ผู้สื่อข่าวในสนามไม่ได้พาดหัวข่าวเอง แต่พอพาดหัวข่าวหวือหวาก็มาโทษนักข่าวสนาม หน้าที่ใครหน้าที่มัน ที่บอกว่าตนร่างกฎหมายให้ทุกรัฐบาล ก็ต้องบอกว่าอยู่คณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้เลือกว่ารัฐบาลไหนถึงจะอยู่ได้ ก็อยู่มาทุกรัฐบาล เมื่อถามว่าเกรงว่ากฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ยังมีข้อกังวลจะผ่านสภาชุดนี้ นายมีชัยตอบว่า เหมือนเวลาฝนตก อีก 25 วันฟ้าจะผ่ามาตรงนี้ แล้วพวกเราจะทำอย่างไร จะมานั่งร้องไห้ทั้งที่สถานการณ์ยังไม่เกิดหรือ ขอให้ใจเย็นๆ ต้องดูไป เมื่อถามถึงเรื่องกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีข้อกังวลเป็นพิเศษ นายมีชัยตอบว่า ตอนนี้กฎหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงหน้าตาไปแล้ว เมื่อไม่ดีก็ต้องปรับเปลี่ยน

พจนีย์ ขอพิสูจน์ศักดิ์ศรีหญิง


น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้รับเลือกมา เข้าใจดีว่าสมาชิกต้องการให้มีสตรีเข้ามาทำหน้าที่ จึงตั้งใจจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย โดยจะประสานกับสมาชิกด้วยความสมานฉันท์และความสามัคคี เพื่อให้การทำงานของ สนช.สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนที่มีกระแสต่อต้านนายมีชัยนั้นไม่รู้สึกเป็นห่วง เพราะนายมีชัยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์สูง เชื่อมั่นว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว และสมาชิกทุกคนคงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี วาระสำคัญในขณะนี้ทุกคนคงตระหนักดีว่า เรามีหน้าที่และเป้าหมายตรงกันที่จะทำเพื่อประชาชน ตนไม่ได้เป็นร่างทรงของใคร แต่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สนช.แต่ละคนเข้ามาจากต่างสาขาอาชีพ ทุกคนล้วนเป็นผู้ใหญ่ เชื่อว่าคงร่วมงานกันได้ดี จึงไม่เป็นห่วงว่าจะต้องมาพิสูจน์การทำงานว่าไม่ได้เป็นร่างทรงของใคร

ครป.ตั้งฉายา สภาโก๋แก่

ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การวางตัวนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาเป็นประธานสภานิติบัญญัติ จะทำให้ ความมั่นใจของสังคมต่อ คมช.ลดลง และถูกเคลือบแคลงมากขึ้น กลายเป็นว่าการเปลี่ยนผ่านการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม คงเป็นเรื่องที่หวังได้ยาก เพราะเสียง 167 เสียง ที่เลือกนายมีชัย จะด้วย เหตุผลใดคงไม่มีใครทราบ แต่ถือเป็นมติที่ฝืนความรู้สึกของสังคมและทำให้สภามีภาพลักษณ์เป็น สภาโก๋แก่ ซึ่งเป็นได้ทั้งแป้งเคลือบถั่ว หรือเป็นเพียงตรายางสร้างความชอบธรรมให้กับ คมช.และรัฐบาล หรืออีกความหมาย หนึ่งก็เป็นปัญหาของคนแก่ หรือคนอายุมากที่มั่นใจในประสบการณ์ตัวเองสูงเลยเกิดทิฐิ และใช้ความเก๋าแทน หลักการเพื่อเอาตัวรอด ไม่สนใจความเห็นของคนอื่น ซึ่ง เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีว่า เสียงส่วนใหญ่ในสภาแห่งนี้ ไม่ได้คำนึงถึงกระแสความรู้สึกของสังคม แค่เริ่มต้นวันแรก ก็สะท้อนถึงความห่างเหินจากสังคมแล้ว ขอเรียกร้องนาย มีชัยใช้โอกาสที่ได้ 1 ปี ไถ่บาปตัวเอง เร่งสร้างผลงานเพื่อ พิสูจน์ตัวเองและลบล้างข้อครหาที่สังคมเคยเจ็บปวด

หมดหวังประชาธิปไตยเต็มใบ


ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย กล่าวว่า ผลการเลือกประธานสภานิติบัญญัติฯ เป็นการยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า สภานิติบัญญัติฯเป็นสภาผู้ รับใช้คณะรัฐประหาร มีการวางหมากและหมกเม็ดให้นายมีชัยที่เคยรับใช้ คณะ รสช.ได้กลับมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีปัญหาทางหลักนิติรัฐและนิติธรรมในมาตรา 36 ที่กำหนดให้กฎหมายมีผลใช้ย้อนหลังไปไม่มี ที่สิ้นสุด รวมไปถึงการออกแบบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ใหม่ที่ให้มีสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งบงการโดยคณะรัฐประหารได้ เพราะตามมาตรา 21 ที่นายมีชัยร่างไว้เท่ากับว่าตัวเอง จะได้เป็นประธานสมัชชาแห่งชาติด้วย จึงไม่ต้องคาดหวัง ว่า อนาคตจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งยัง น่าเป็นห่วงว่าสังคมไทยจะหลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์ เช่น กรณีพฤษภาทมิฬได้อย่างไร ในเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

สื่อ ตปท.ตีข่าว คมช.วางทายาท

ด้านสำนักข่าวต่างประเทศยังเกาะติดสถานการณ์ การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด โดยเอเอฟพีรายงานเมื่อ 24 ต.ค. ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทย ที่ คมช.เป็นผู้ แต่งตั้ง ได้ลงมติเลือกนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาอาวุโสของ คมช. ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ทำให้เกิดความ วิตกกังวลว่า คณะนายทหารที่ก่อการปฏิวัติกำลังพยายามขยายอำนาจอิทธิพลของตนกว้างไกลขนาดไหน ด้านรอยเตอร์รายงานว่า คณะผู้นำทหารที่ก่อรัฐประหารยังกุมอำนาจ ของตนอย่างเหนียวแน่น เมื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้รับเลือก เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ 1 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่นายมีชัยถูกเลือกให้รับตำแหน่งดังกล่าว เป็นเพราะคมช.ต้องการบุคคลที่ตนไว้วางใจได้

ประท้วงกดดันเอ็นจีโอลาออก


ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่หน้ารัฐสภา กลุ่ม เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารกว่า 20 คน นำโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ มาชุมนุมกัน โดยได้นำพวงหรีดและปีบ จำนวน 7 ใบ ที่เขียนข้อความต่างๆ พร้อมกับนำตะเกียงจุดไฟ ซึ่งเปรียบเสมือนแสงไฟส่องสว่างมาวาง ไว้ที่บนปีบ เป็นการประท้วงกับสมาชิกสภานิติบัญญัติกลุ่มเอ็นจีโอ และนักวิชาการ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดการ แสดงละครล้อเลียนการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยแกนนำได้กล่าวเรียกร้องให้อาจารย์นักวิชาการและเอ็นจีโอที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปในสภานิติบัญญัติแห่งชาติลาออก จากนั้นเวลา 14.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวไป โดยได้นัดชุมนุมกันทุกเย็นวันเสาร์ ที่ลานโดม ข้าง สนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

จาตุรนต์ เย้ย มีชัย แค่หุ่นเชิด

ที่พรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ไม่ใช่เรื่องผิดคาดหรือประหลาดใจอะไร เพราะจากสถานการณ์ของบ้านเมืองก็ต้องเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอะไรที่สามารถกำหนดได้ โดยเฉพาะคณะที่แต่งตั้ง สนช.ก็สิทธิ์เต็มที่ที่จะกำหนดให้ใครก็ได้มาเป็นประธาน สนช. การที่นายมีชัยได้รับเลือกก็น่าจะเป็นเหตุผลที่คณะแต่งตั้งคงมีการพิจารณาแล้วว่า นายมีชัยสามารถที่จะทำตามความคิดคำสั่งของคณะผู้แต่งตั้ง สนช.ได้เป็นอย่างดี สำหรับปัญหาที่น่าจะตามมาคือ สนช.จะหาเหตุผลไปอธิบายให้กับคนที่ไม่เห็นด้วยได้อย่างไร เพราะแค่เริ่มต้นก็มาพร้อมกับปัญหาหนักหนาพอสมควร โดยเฉพาะความเชื่อมั่นไว้วางใจที่สังคมให้ความหวังว่า สนช.น่าจะมีความโปร่งใสเชื่อถือได้ ซึ่งต้องรีบชี้แจงก่อนที่สังคมจะแย่ลงไปกว่านี้ แต่ส่วนตัวมองว่าการเข้ามาเป็นประธาน สนช. ของนายมีชัย ไม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นหรือสภาพการณ์ของสนช. แย่ลงไปกว่าเดิมเท่าใดนัก เพราะทุกวันนี้สถานการณ์ ใน สนช. ก็มีความคลุมเครือขัดแย้งและขาดความเชื่อมั่นเป็นปกติอยู่แล้ว การที่ตัวประธานจะเป็นนายมีชัยหรือผู้ใดก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพียงแต่แย่ลงน้อยเท่านั้นเอง


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์