รพ.จุฬาฯ ย้ายคนเจ็บออกจากตึก สก.-ภปร.เพื่อความปลอดภัย

รพ.จุฬาฯ ยันไม่ได้อนุญาตให้เสื้อแดง ทหาร ตำรวจ ใช้พื้นที่ก่อการใดๆ งดรับผู้ป่วยใหม่ไม่ร้ายแรง ย้ายผู้ป่วยออกจากตึกติดพื้นที่ชุมนุมแล้ว
       
       ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ กล่าววถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จุดที่ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่บริเวณถนนสีลม ว่า มาจาก รพ.จุฬาฯ นั้น ในฐานะผู้บริหาร รพ.จุฬาฯ ขอยืนยันว่า ไม่มีผู้บริหารคนไหนอนุญาตให้ใคร หรือคนกลุ่มไหน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือ ผู้ชุมนุม เข้ามาทำอะไรไม่ดี รวมทั้งไม่ได้รับการกดดันจากฝ่ายไหน ส่วนเรื่องการคาดประเมินวิถีกระสุน จากภาพเคลื่อนไหวนั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จาก สพฉ.เดินทางมาตรวจสอบ บริเวณที่มีข้อสงสัยทั้งหมด แต่ก็ไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติ และไม่สามารถระบุได้ว่ามีหลักฐานว่ามีการยิงระเบิดจริง
       
       “ยังไม่หลักฐานอะไรก็ไม่อยากให้ใส่ร้ายกัน เหตุการณ์ที่เป็นอยู่ บุคลากรทุกคนก็เสียขวัญอย่างมากแล้ว ยืนยันว่า ทางโรงพยาบาลพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคนตามหลักกาชาดสากล ไม่อย่างนั้นคงปิดโรงพยาบาล และไม่รักษาใครแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะทราบดีว่าทุกฝ่ายจะเดือดร้อน ตนได้เดินตรวจเยี่ยมคนไข้ตามตึกต่างๆ ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากเหมือนเดิม แต่โรงพยาบาลจะพยายามให้ผู้ป่วยมาน้อยลง เพื่อความปลอดภัย”
       
       ศ.นพ.อดิศร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้สั่งการว่า จะงดรับผู้ป่วยใหม่ทุกรายที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอันตราย งดการผ่าตัดหากไม่ใช่กรณีเร่งด่วน มีอันตรายถึงชีวิต และให้ผู้ป่วยในที่มีอาการดีขึ้นทยอยกลับบ้าน ในส่วนของผู้ป่วยใน ได้สั่งให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากอาคารที่อยู่ใกล้กับพื้นที่การชุมนุม คือ ตึก สก.และ ตึก ภปร. ซึ่งมีทั้งห้อง ICU ห้องผ่าตัด ผู้ป่วยโรคหัวใจ สมอง และผู้ป่วยเด็ก ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อดูแลความปลอดภัยผู้ป่วย ในกรณีที่อาจเกิดเหตุใดๆ ขึ้น เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นตึกสูง หากเกิดเหตุใดก็ตาม อาจมีความลำบากในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่วนคลินิกพิเศษช่วงเย็นได้สั่งยกเลิกทั้งหมดถึงวันที่ 2 พ.ค.นี้ และจะมีการประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง
       ****
       
       แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
       เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีมาตรการเตรียมความพร้อมดังนี้
       1. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะปฏิบัติตาม “หลักกาชาด” คือ ความเป็นกลาง และจะให้การรักษาพร้อมทั้งเป็นที่พึ่งพิงกับทุกคนโดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
       2. เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาลใน รพ.จุฬาลงกรณ์ และเพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยภายใน รพ.ให้น้อยลงทาง รพ.จึงมีแนวปฏิบัติดังนี้
       2.1 จะงดรับผู้ป่วยใหม่ที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ยกเว้นในรายที่มีอาการหนักหรือในรายที่มีความจำเป็นต้องรับการตรวจรักษา
       2.2 ผู้ป่วยนอกที่รู้สึกว่าอาการดีขึ้นไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องพบแพทย์สามารถโทรเลื่อนการตรวจหรือเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสะดวกเป็นการชั่วคราวไปก่อน
       2.3 งดการผ่าตัดทุกรายและทุกแผนก ยกเว้นในรายฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นอย่างอื่นที่ต้องผ่าตัดทันที
       2.4 งดให้บริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการทั้งหมดตั้งแต่วันนี้จนถึง
       วันอาทิตย์ที่ 2 พฤกษภาคม 2553 (ส่วนช่วงอื่นจะประกาศให้ทราบต่อไป)
       2.5 พยายามรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลให้น้อยลง
       2.6 จะมีการย้ายผู้ป่วยในจากตึกที่อยู่ทางด้านถนนราชดำริไปยังตึกทางด้านถนนอังรีดูนังต์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและญาติ กรณีเกิดเหตุร้ายแรงภายนอก
       3. ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต้องกราบขออภัยมายังประชาชน ผู้ป่วยและญาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากกับผู้ป่วยที่มารับการรักษากับโรงพยาบาลวันละ 4,000 – 5,000 คน
       4. หากสถานการณ์รอบโรงพยาบาลคืนสู่ภาวะปกติ มีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะปฏิบัติงานตามปกติโดยเร็วที่สุด
       
       ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์
       ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์