คนหลากสี คนไร้สี ก็มีสิทธิเหมือนคนมีสี

กลุ่มคนหลายกลุ่มที่เขานัดหมายกัน ออกมาแสดงความเห็นเรื่อง "ประชาธิปไตย" ไม่ว่าจะเป็น "กลุ่มหลากสี" หรือ "เครือข่ายกลุ่มไทยรวมใจ"

 ความจริงการแสดงออกว่าด้วยความคิดทางการเมืองนั้น ประเทศไทยควรจะได้ทำมานานแล้ว เพียงแต่ว่าที่แล้วมาเราต่างก็เข้าใจผิดว่า "การเมือง" เป็นเรื่องของ "นักการเมือง" หรือ "นักเลือกตั้ง" หรือ "นักวิชาการ" ไม่กี่กลุ่มที่สื่อนำไปเสนอข่าวเป็นประจำเท่านั้น


 เราลืมไปแล้วว่า การเมือง คือ กิจกรรมประจำวันของคนสังคมประชาธิปไตย เพราะตื่นขึ้นมารับรู้ความเป็นไปของบ้านเมือง หน้าที่งานการอะไร แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมทางการเมืองทั้งสิ้น


 เราเคยเข้าใจผิดคิดว่าคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงกระมัง ที่เขามีสิทธิพิเศษอะไรบางอย่างที่จะออกมา "กดดัน" คนที่เป็นรัฐบาล ส่วนประชาชนอื่นๆ ของสังคมได้แต่นั่งตาปริบๆ คอยดูเขาทำอะไรต่อมิอะไร


 จนวันนี้ พอคนมีสีเสื้อทำอะไรที่กระทบความสงบสุขของสังคม ผู้คนจึงได้เริ่มตระหนักว่า "เออ เรากับเขาต่างก็เป็นสมาชิกสังคมเดียวกัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และมีสิทธิที่จะแสดงออกเหมือนๆ กัน"


 คงจะเป็นเพราะคนกลุ่มหนึ่งไปยึดถนนนั่นถนนนี่ ตามมาด้วยการยึดสนามบิน และทำเนียบรัฐบาล ของคนเสื้อเหลืองก่อน และตอนนี้คนเสื้อแดง ก็อ้างเหตุคล้ายๆ กันที่ยึดราชประสงค์ และขู่ว่าจะยึดถนนสีลม และที่อื่นๆ แล้วแต่เขาจะอยากยึด ทำให้คนไทยอื่นๆ ที่เหลือต้องลุกขึ้นมาประกาศพร้อมๆ กันว่า


 "กรุณาเคารพสิทธิของฉันเหมือนที่ฉันเคารพสิทธิของคุณ" 


 คนเสื้อเหลือง ไปยึดทำเนียบและสนามบิน ผู้คนก็ต่อต้านคัดค้าน วันนี้คนเสื้อแดง ยึดราชประสงค์โดยไม่รู้ว่าจะยาวนานเพียงใด ผู้คนก็มีความรู้สึกเดียวกัน


 ถ้ารัฐธรรมนูญให้สิทธิคนเสื้อสีนั้นสีนี้ทำโน่นทำนี่ได้ ก็หนีไม่พ้นจะต้องมีคนตั้งกลุ่ม "คนหลากสี" หรือ "คนไร้สี" ขึ้นมา เพื่ออ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน


 สังคมจะอยู่ร่วมกันได้นั้นสมาชิกในสังคมต้องเคารพในกฎกติกามารยาทชุดเดียวกัน นั่นคือ คุณต้องไม่ทำอะไรที่ตกลงกันว่าทำไม่ได้ นั่นคือ การเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย


 เขาเรียกว่า "นิติรัฐ" หรือ rule of law


 ชาวบ้านเรียกว่า "ขื่อแป" ของบ้านเมือง


 และเขามีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เรียกว่าตำรวจ และทหารที่กินเงินเดือนประชาชนไว้ ก็เพื่อจะได้เป็นคนทำกฎหมายเป็นกฎหมาย หากใครไม่ทำตามกฎหมาย ก็มีมาตรการที่จะจัดการเพื่อให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์


ที่ต่างคนต่างตกลงกันว่าจะต้องเคารพกฎหมายชุดเดียวกัน เพราะเมื่อสิ่งนี้ฉันทำไม่ได้ คุณก็ต้องทำไม่ได้เช่นกัน


 เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในเคารพในกติกานี้ ใช้กำลังหรือจำนวนคนที่มากกว่า หรือใช้วิธีการข่มขู่ เพื่อให้คนอื่นในสังคมต้องยามตามคุณ และหากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ทำหน้าที่ของตน


 เขาเรียกว่า "บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป" หรือฝรั่งเรียก lawlessness


 ประเทศไหนตกอยู่ในสภาพ lawlessness หรือ anarchy คนอื่นเขาก็ไม่คบหาด้วย เพราะถือว่าเป็นสังคมป่าเถื่อน ไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์ ทุกคนก็ถอยหนี เพราะกลายเป็น "รัฐล้มเหลว" ที่ไม่ได้มาตรฐานอันควรจะคบด้วย


 ดังนั้น การที่มีการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพราะการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิถีปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตย


 การรวมตัวชุมนุมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยนั้น เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำใดๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของบ้านเมือง


 ในทำนองเดียวกัน คนอื่นๆ ในสังคมที่มีความเห็นแตกต่างกับคนกลุ่มอื่นก็มีสิทธิที่จะชุมนุม และเรียกร้องอย่างสันติปราศจากอาวุธเช่นกัน


 คนกลุ่ม "เสื้อเหลือง" เพิ่งประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการที่คน "เสื้อแดง" เรียกร้องให้ยุบสภา ก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะแสดงออกเช่นนั้น


 คำถามต่อมา ก็คือว่า คนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีสิทธิจะ "กดดัน" รัฐบาล เพื่อให้ทำตามที่ตนเรียกร้องหรือไม่


 การ "กดดัน" รัฐบาลเป็นสิทธิของคนในสังคมเช่นกัน แต่มาตรการกดดันนั้น จะต้องไม่ผิดกฎหมาย และไม่ทำให้สมาชิกสังคมคนอื่นเดือดร้อน...นั่นคือ หัวใจของประเด็นปัญหาวันนี้


 การ "กดดัน" ผู้นำของประเทศย่อมมีกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตย อาทิเช่น การวิพากษ์วิจารณ์ การ "ไฮด์ปาร์ก" ในที่สาธารณะ เพื่อน้าวโน้มให้คนอื่นเชื่อตามตนเอง

 แต่การข่มขู่หรือ "ไล่ล่า" ด้วยวิธีการที่เสมือนกับการคุกคามความปลอดภัยของคนอื่นนั้น ย่อมอยู่นอกกติกาของระบอบประชาธิปไตย


 คนเสื้อเหลืองประกาศ "กดดัน" นายกฯ เหมือนกัน บอกว่าถ้าภายใน 7 วัน รัฐบาลไม่จัดการแก้วิกฤติบ้านเมือง พวกเขาก็จะออกมา "ทำหน้าที่พลเมืองเพื่อปกป้องชาติและราชบัลลังก์"


 ยังไม่รู้ว่าคนเสื้อเหลือง จะ "กดดัน" ด้วยวิธีอะไร แต่แน่นอนว่าหากทำด้วยวิธีข่มขู่คุกคาม และกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป ก็ย่อมถือว่าผิดกติกาเช่นกัน


 ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าการที่คนกลุ่มใหม่ๆ ที่เรียกตัวเองว่า "หลากสี" หรือ "ไม่มีสี" หรือ "รวมใจคนไทย" ต่างๆ นั้น เป็นการแสดงออกที่ปฏิเสธวิธีการดุดันและก้าวร้าวของคน "เสื้อมีสี" 


 คนหลากสีบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ยุบสภา ซึ่งก็เป็นสิทธิพอๆ กับคนที่เรียกร้องให้ยุบสภา 

 จึงเป็นเรื่องของการแสดงเหตุแสดงผล ให้กับสังคมโดยส่วนรวมได้ฟังและตัดสินใจได้


 แทนที่จะเผชิญหน้ากัน ใช้วิธีการ "กดดัน" ซึ่งกันและกัน หรือเสี่ยงกับการถูกตั้งข้อสงสัยว่าการเรียกร้องของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ อาจจะเป็นการรับใช้ผลประโยชน์ของนักการเมืองคนใดหรือกลุ่มใดโดยเฉพาะ ก็สมควรที่รัฐบาลจะจัดเวลาสื่อทีวี และวิทยุให้คนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นและแสดงความคิดของตัวเองต่อหน้าสาธารณชน

 ประเด็นวันนี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะ นปช. หรือพันธมิตร กับนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น


 แต่เป็นเรื่องที่คนอื่นๆ ในสังคมไทยมีสิทธิที่จะต้องมีส่วนร่วม ในกระบวนการของการตัดสินใจ ฝ่าข้ามวิกฤติการเมืองนี้พร้อมๆ กันไปด้วย


 ขอยืนยันว่า "คนมีสีเสื้อ" กับ "คนหลากสี" และ "คนไร้สี" (แต่มีเสียงและมีสิทธิเหมือนกัน) ย่อมมีสิทธิในฐานะประชาชนคนไทยเหมือนกัน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์