เอแบคโพลเผย 42% หนุน รบ.ทำงานครบวาระ ให้ยุบสภาทันทีแค่ 27%

ประชาชนเกือบครึ่งติดตามการถ่ายถอดสดการเจรจาระหว่าง รบ.กับแกนนำเสื้อแดง 75 % ให้ความสนับสนุน 42 % อยากให้รัฐบาลทำงานต่อไปจนครบวาระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักวิจัยเอแบคโพล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ "เอแบคเรียลไทม์โพล (Real-Time Survey)"

สำรวจจากความคิดเห็นของสาธารณชนต่อการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,191 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 30 มีนาคม 2553 พบว่า


ประชาชนที่ถูกศึกษาเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.4 ติดตามการถ่ายทอดสด การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา และร้อยละ 34.4 ไม่ได้ติดตามการถ่ายทอดสด แต่ติดตามจากสื่ออื่นๆ และร้อยละ 16.2 ไม่ได้ติดตามเลย


ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 สนับสนุนวิธีการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 47.8 ไม่มั่นใจว่า การยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ แต่ร้อยละ 35.9 มั่นใจ ที่เหลือไม่มีความเห็น


เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการตัดสินใจเรื่องการยุบสภา พบว่า ร้อยละ 42.2 ขอให้ทำงานต่อไปจนครบวาระ แต่ร้อยละ 27.2 เสนอให้ยุบสภาภายใน 15 วัน ร้อยละ 13.9 ให้ยุบสภาภายใน 6 เดือน ร้อยละ 13.8 ให้ยุบสภาภายในอีก 9 เดือนข้างหน้า


นอกจากนี้ เมื่อถามถึงคะแนนความเป็นผู้นำโดยภาพรวมของ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ภายหลังการเจรจา พบว่า ร้อยละ 35.5 ให้คะแนนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.4 ระบุเหมือนเดิม ร้อยละ 26.2 ระบุลดลง ที่เหลือไม่มีความเห็น


เมื่อถามถึงคะแนน ความเข้มแข็ง กล้าหาญของกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่ออกมาในหนทางประชาธิปไตย พบว่า ร้อยละ 35.9 ให้คะแนนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.7 ระบุเหมือนเดิม แต่ร้อยละ 32.7 ระบุลดลง ที่เหลือไม่มีความเห็น


ที่น่าพิจารณาสำหรับทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมคือ ประชาชนส่วนใหญ่ระบุสิ่งที่อยากให้รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงใช้โอกาสนี้ช่วยกันทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคือ ร้อยละ 91.0 ระบุให้ช่วยกันแก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ


ร้อยละ 89.2 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 87.2 ระบุปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ร้อยละ 87.0 ระบุปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 84.5 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 80.7 ระบุปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน และร้อยละ 79.2 ระบุปัญหาภัยแล้ง ตามลำดับ


จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 53.1 เป็นหญิง ร้อยละ 46.9 เป็นชาย 

ตัวอย่างร้อยละ 2.8 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.7 อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 23.1 อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 24.4 อายุระหว่าง 40 – 49 ปี และร้อยละ 26.0อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี รองลงมาคือร้อยละ 20.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี  ตัวอย่างร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป  ร้อยละ 27.7 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ ร้อยละ 15.2 ระบุอาชีพลูกจ้าง/พนักงานบริษัท ร้อยละ 10.8 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ  ร้อยละ  6.8 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.8 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา  และร้อยละ 3.5 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์