ส.ว.ถามแดงจะเอาปชต.หรือแม้ว รบ.ยอมถอยยุบสภาใน9เดือนถือชนะแล้ว ชง4อดีตนายกฯร่วมปฏิรูปการเมือง

"คำนูณ"ชี้ถือเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ของคนเสื้อแดงแล้ว หลังรัฐบาลยอมถอยยุบสภาใน 9 เดือน-เปิดช่องให้คุยตลอด ซัด"ทักษิณ"ต้นเหตุเจรจาสะดุด ถามม็อบจะเอาประชาธิปไตยหรือ"แม้ว" เสนอ 4 อดีตนายกฯปฏิรูปการเมือง "ปริญญา"เสนอทางเลือกที่ 3 ตั้ง ส.ส.ร.ร่าง รธน.ใหม่




 


ส.ว.ชี้ "แม้ว" ทำคุยต่อลำบาก



นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ถึงการเจรจาระหว่างแกนนำคนเสื้อแดงกับรัฐบาล ว่าเท่าที่ดูท่าทีการเจรจาเมื่อค่ำวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา หากฝ่ายคนเสื้อแดงมีนายวีระ มุสิกพงศ์ เพียงคนเดียว ก็น่าจะตกลงกันได้แล้ว เพราะนายวีระ ได้อ้างข้อเสนอของ 155 นักวิชาการที่เสนอยุบสภาภายใน 3 เดือน แต่รัฐบาลก็ต้องการทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2554 สุดท้ายก็อาจจะจบได้ที่ 6 เดือน อย่างไรก็ดี เมื่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดง มีท่าทีไปอีกทางหนึ่งจึงคุยต่อลำบาก รวมถึงการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีวิดีโอลิงก์มา ก็เป็นปัจจัยทำให้จุดร่วมในการเจรจาแปรเปลี่ยนได้เช่นกัน



"การที่รัฐบาลถอยมาเสนอ 9 เดือนยุบสภา ถ้าผมเป็นผู้ชุมนุมจะถือว่าได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ เพราะได้เผยแพร่ความคิดมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงและรัฐบาลก็บอกว่ายินดีเปิดให้คุยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน หรือสื่อของรัฐที่อาจเป็นเครื่องมือปลุกปั่น" นายคำนูณกล่าว



เสนอ 4อดีตนายกฯร่วมปฏิรูป



นายคำนูณกล่าวว่า หากดูในจุดที่รัฐบาลถอยมา ทุกฝ่ายน่าจะได้ประโยชน์หมด แต่คนที่รอไม่ได้คือ พ.ต.ท.ทักษิณ จุดนี้ก็จะพิสูจน์คนเสื้อแดงว่า สุดท้ายจะก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หรือไม่ นาทีสุดท้ายจะเอาประชาธิปไตยหรือ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ต้องแสดงโร้ดแมป 9 เดือนตามที่เสนอด้วย รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะปฏิรูปการเมือง ตรงนี้ก็น่าทำ อาจจะตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยเหมือนสมัยปี 2539 ก็ได้ ให้มีลักษณะที่มาจากคนที่เป็นตัวแทนอย่างกว้างขวางจากกลุ่มต่างๆ ในสังคม คิดว่า 6 เดือนน่าจะได้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ออกมา และจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อรัฐบาลไม่ยุบสภาก็ไม่ได้นิ่งเฉย ส่วนกรรมการนั้น อาจจะให้อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน นายชวน หลีกภัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายบรรหาร ศิลปอาชา มาคุยกัน และเสนอคนที่เป็นตัวแทนจากหลายๆ กลุ่มในสังคมเข้ามา ซึ่งนายกรัฐมนตรีควรพิจารณาในจุดนี้ เพื่อให้คนรู้สึกคุ้มค่ากับการรอคอย 9 เดือน



รองอธิการฯมธ.ให้ปรับเข้าหากัน



นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การเจรจาของแกนนำคนเสื้อแดงและรัฐบาลที่ผ่านมา 2 ครั้ง ไม่เกินความคาดหมาย แต่ด้านบวกคือ เปลี่ยนจากการเผชิญหน้ามาเป็นการมาฟังซึ่งกันและกันโดยที่ไม่ต้องมีคนกลาง ซึ่งในที่สุดทั้งสองฝ่ายยังไม่รับข้อเสนอของกันและกัน เท่ากับช่องทางยังเปิดอยู่ เพราะรัฐบาลไม่ปฏิเสธการยุบสภาแล้วและยอมเลือกตั้งใหม่ใน 9 เดือน



 นายปริญญา กล่าวว่า จุดนี้คือ จุดที่น่าจะพอมาปรับกันได้ว่า ทางไหนบ้างที่จะทำให้เลือกตั้งแล้วจบ เช่น หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย แล้วใช้เป็นกติกามันจะทำให้เลือกตั้งแล้วจบหรือไม่ หากคนเสื้อแดงเห็นว่า นี่คือโอกาสปฏิรูปการเมืองรอบ 2 เพื่อแก้ปัญหาระยาวด้วย และเป็นโอกาสเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่ตนเองรู้สึกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่หากจะเอารัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีปัญหาในหลายเรื่อง และฝ่ายเสื้อเหลืองก็ไม่ยอม



เสนอทางเลือกที่3ร่างรธน.ใหม่



"ผมจึงขอเสนอทางเลือกที่สามว่า น่าจะคิดถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) มาทำ ใช้เวลา 240 วัน เหมือนตอนร่างฉบับ 2540 โดยสรุปบทเรียนของรัฐธรรมนูญทั้ง 18 ฉบับที่ผ่านมาและปัญหาประชาธิปไตยไทย 78 ปีที่ผ่านมา เพราะคงต้องมาคิดว่า ทำอย่างไรบ้างเพื่อให้เลือกตั้งแล้วจบ" นายปริญญากล่าว



นายปริญญากล่าวว่า หากคิดว่าเวลา 9 เดือนยังยาวไป อยากจะใช้เวลาที่สั้นคงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพราะกติกาหลายข้อเสี่ยงมีปัญหาว่า เลือกตั้งแล้วเรื่องจะไม่จบ เช่น มาตรา 237 เพราะอาจมีฝ่ายใดได้ใบแดงแล้วโดนยุบพรรคได้ อย่างไรก็ดี หากเจรจาไม่ได้จริงๆ อาจจะต้องใช้ประชามติตัดสิน โดยเสนอว่า ต้องประยุกต์คำถามว่า ควรจะยุบสภาเมื่อไหร่ ระหว่าง 9 เดือน หรือ 15 วัน ซึ่งในประเทศยุโรปก็เคยมีการทำประชามติถามว่าจะให้ยุบสภาหรือไม่มาแล้วเช่นกัน



"สดศรี"แนะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ



นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีหากมีการยุบสภาในเร็วๆ นี้ว่า กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้ง แต่คงต้องให้เวลา กกต.ตามกฎหมายกำหนด เพราะต้องมีขั้นตอนเตรียมความพร้อมหลายอย่าง ถ้าจะให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 15 วัน คงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมคือ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า เพื่อให้บรรยากาศของการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสมานฉันท์อย่างที่ทุกฝ่ายต้องการก็น่าที่รัฐบาลและคนสีต่างๆ จะได้ร่วมกันลงเป็นสัตยาบันร่วมกันว่า กติกาการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร บรรยากาศในการหาเสียงจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จัดการเลือกออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย



"ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งควรที่จะมีรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ โดยงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อที่จะทำให้การแบ่งสีแบ่งข้างลดลง โดยให้รัฐบาลแห่งชาติบริหารงานไปจนกว่าทุกฝ่ายมีความพร้อมร่วมกันจึงจัดการเลือกตั้ง ส่วนใครจะมาตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารจะต้องคุยกัน" นางสดศรีกล่าว



"เฟสต้า" ต่อต้านความรุนแรง



นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า การประชุมสมาชิกประจำเดือนวันที่ 31 มีนาคมนี้ สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟสต้า) จะประชุมร่วมกับสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวม 17 สมาคม เพื่อแสดงจุดยืนไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย เพราะจะส่งผลกระทบอย่างมากกับเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีอะไรรุนแรง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จะยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามาก และสิ้นปีน่าจะถึง 15.5 ล้านคนตามเป้าหมาย



นายอภิชาติ สังฆอารี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า เฟสต้ามีแนวคิดจะระดมคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้ 10,000 คน เพื่อชุมนุมแสดงจุดยืนไม่เอาความรุนแรง โดยกำหนดสถานที่ไว้ 2 แห่ง คือ บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และบริเวณสวนลุมพินี แต่ในท้ายที่สุดจะออกมาในรูปแบบไหนคงต้องรอผลการประชุมก่อน



"ชุมพล" มั่นใจท่องเที่ยวเข้าเป้า



นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวว่า การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะนักท่องเที่ยวเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างจังหวัด เช่น กระบี่ พังงา ภูเก็ต เกาะสมุย ส่วนที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในขณะนี้ เพราะนักท่องเที่ยวยุโรปเริ่มกลับบ้าน แต่เชื่อว่าในช่วงไฮซีซั่น (ฤดูท่องเที่ยว) นักท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง และเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯมีแผนจะเดินทางไปจัดโรดโชว์ที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และกลุ่มประเทศอาหรับ มาเที่ยวไทยโดยชูเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพเป็นหลัก



"ผมยังเชื่อมั่นว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยจะยังอยู่ที่ 15.5 ล้านคน ตามเป้าหมาย ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่อยู่บริเวณพื้นที่การชุมนุม ก็จะมีการเข้าไปช่วยเหลือให้ ซึ่งอยู่ระหว่างรอแผนการดำเนินงานอยู่"  นายชุมพลกล่าว



ภาคประชาชนแสดงจุดยืน



วันเดียวกัน องค์กรภาคประชาสังคม 37 องค์กร ได้ยื่นแถลงการณ์แสดงจุดยืนการแก้ไขวิกฤตประเทศ ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ปราบปรามการชุมนุม ส่วนเรื่องการยุบสภา รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมออกมาแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ และการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ควรเป็นข้อยุติของสังคม



ส่วนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ดร.ปรีชา อุยตระกูล ประธานเครือข่ายประชาสังคมโคราช นายทวิสันต์ โลนาณุรักษ์ เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในนามประธานสมัชชาสิ่งแวดล้อมโคราช นายสันติ ถีระวงษ์ ประธานสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย จ.นครราชสีมา แถลงจุดยืนในนาม 25 องค์กรภาคประชาสังคม เรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย คัดเลือกตัวแทนประชาชนที่สังคมยอมรับเข้ามาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบ เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาล รัฐสภา และสังคม รวมทั้งการแก้ไขกติกาต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ 2550


 


 


 


 


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์