จตุพรย้ำจุดยืน รบ.-นปช.แตกต่างกันราวน้ำกับน้ำมัน เจรจากันไม่ได้แล้ว สุเทพเชื่อแม้วคอยชักใย

 "สุเทพ"เชื่อ"แม้ว"คอยชักใย 



นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) รอบสองวานนี้(29 มี.ค.) ว่า คิดว่าการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วีดีโอลิงก์เข้ามายังสถานที่ชุมนุมจะส่งผลกระทบต่อการชุมนุมของนปช. เพราะแม้แต่การเจรจา ตนได้สังเกตดู เห็นว่ามีการส่งบันทึกเล็กๆ แลกเปลี่ยนหลังจากรับโทรศัพท์



เมื่อถามว่าจะเข้าไปดูแลอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า จะไปดูแลได้อย่างไร หาตัวยังไม่เจอ เขาก็เคลื่อนไหวไปเรื่อย


 


"จตุพร"ย้ำเจรจาไม่ได้อีกต่อไป



นายจตุพร พรหมพันธุ์ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แถลงข่าวที่เวทีชุมนุมสะพานผ่านฟ้าลีลาศ วันที่ 30 มีนาคมว่า จากการเจรจารอบสองกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯรัฐมนตรีและคณะ วันที่ 29 มีนาคมนั้นพบว่าจุดยืนของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันเหมือนน้ำกับน้ำมันที่ไม่สามารถเข้าก้นได้



นปช.ยืนยันอยู่ที่ 15 วันให้รัฐบาลยุบสภา ขณะทีรัฐบาลยืนยัน 9 เดือนยุบสภาขอดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนที่ชัดเจนและไม่ยอมเปลี่ยน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าจะคุยต่อกันทำไม ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนท่าที่พวกเราก็จะนำมาหารือกันว่าจะเอาอย่างไร ถามแกนนำและประชาชนโดยยึดหลักประชาธิปไตย


 


"พวกเราจะประชุมหารือกำหนดแนวทางการต่อสู้ เพื่อยกระดับการชชุมนุม อย่างไรก็ตามจะไม่หนีกรอบอหิงสา สันติและสงบ"


 


นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับบทบาทของนายวีระในการเจรจารอบสองนั้นเป็นบทบาทของผู้ใหญ่จะให้เหมือนตนและหมอเหวงไม่ได้ แต่จุดยืนของนายวีระไม่เปลี่ยนแปลง


 


"เหวง"อ้างนายกฯ ตอบคำถามไม่ได้


 


นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ขึ้นเวทีปราศรัยกล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล ทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติงาน รวมทั้งโจมตีสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเอ็นบีว่านำเสนอข่าวไม่เป็นกลาง ใส่ร้ายกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นอกจากนี้ นพ.เหวง ยังกล่าวถึงบรรยากาศการเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ล้มเหลวในการเจรจา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถตอบคำถาม ล้างเหตุผลโต้แย้งแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้


 


"เทพเทือก"หนุนยุบสภาใน9ด.



นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มนปช.รอบสองวานนี้ว่า ถือเป็นกรณีน่าศึกษาอย่างยิ่ง เพราะนายกรัฐมนตรีมาเจรจาด้วยตนเอง ตลอดช่วงสองวันที่ผ่านมามีการถ่ายทอดสดนำเสนอทุกคำพูดทุกบรรยากาศ ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการคลี่คลายสถานการณ์ของประเทศไปนำสู่ความสงบและสันติ



"ต่อว่าข้อเสนอของนายกฯ ที่จะให้มีการยุบสภาใน9 เดือนถือว่าเป็นเหตุเป็นผลเหมาะสำหรับการเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6ประเด็น ตั้งแต่ในขั้นตอนของการทำประชามติ กระบวนการร่างรธน.เพื่อเข้าสู่สภา การทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น และในขั้นตอนการพิจารณาของกมธ.ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดของนายกฯ ทางพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นพ้องต้องกันไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด"



เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะยืดหยุ่นเรื่องกำหนดกรอบเวลาการยุบสภา นายสุเทพ กล่าวว่า ข้อเสนอนายกฯ เหมาะสมที่สุด แต่หากมีข้อเสนออื่นก็ต้องรับฟัง ส่วนกรณีที่นักวิชาการเสนอให้มีการยุบสภาใน 3 เดือน ก็ต้องให้นักวิชาการช่วยอธิบายรายละเอียดต่างๆว่ามีอย่างไร เพื่อนำไปสู่ขึ้นตอนของการยุบสภา 



"ผมเชื่อว่า หากเป็นไปตามกระบวนการนี้เพื่อนำไปสู่การเตรียมเลือกตั้ง จะทำให้ช่วยลดบรรยากาศความตึงเครียดลง ไม่จำเป็นต้องถึงกับลงสัตยาบันในเมื่อคนทั้งประเทศเห็นด้วย ก็ไม่ต้องมีสนธิสัญญาใดๆ" นายสุเทพ กล่าว และยอมรับว่า การเจราจาที่ไม่บรรลุผลเมื่อวานนี้ส่วนหนึ่งเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมีส่วนอยู่บ้าง


 


"มาร์ค"ลั่นทำเต็มที่แล้วพร้อมเจรจารอบ 3



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศบาห์เรนอย่างเป็นทางการ ช่วงเช้าววันที่ 30 มีนาคมแล้ว โดยก่อนเดินทางได้กล่าว่าได้พยายามทำเต็มที่แล้ว และรู้สึกเสียดายที่แกนนำแดงปฏิเสธการเจรจารอบที่ 3 รัฐบาลยังพร้อมที่จะเจรจา



นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำตามวาระของตนเอง ไม่ใช่วาระของประเทศ จึงไม่อยากเห็นผู้ชุมนุมตกเป็นเหยื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ


 


"ชำนิ"ยัน 9 เดือนยุบสภาต่อรองไม่ได้


 


นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในทีมเจรจาระหว่างรัฐบาลและกลุ่มนปช. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มีนาคมว่า อยากให้มีการเจรจาต่อ และรัฐบาลพร้อมเจรจาต่อไป สำหรับเรื่องการยุบสภา บางครั้งเป็นเงื่อนไขทางการเมือง ความขัดแย้งที่เป็นอยู่มีองค์ประกอบจากหลายส่วน การจะยุบสภาได้ต้องมีกระบวนการเกี่ยวกับการเห็นพ้อง ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดเวลา 9 เดือนขึ้นมา เราจะแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ทำประชามติไม่ได้ เพราะรัฐต้องคำนึงถึงทุกฝ่าย การทำประชามติมีเวลาตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น 9 เดือนไม่ใช่พูดเพื่อยืดเยื้อ แต่เป็นช่วงเวลาในการดำเนินการ



นายชำนิ กล่าวต่อว่า เวลา 9 เดือนยังเป็นกรอบที่รัฐบาลเสนอ ถ้าฝ่ายนปช.ไม่รับก็เดินต่อไปไม่ได้ เมื่อวานผู้เจรจาเค้าไม่ใช่เจ้าของปัญหา เวลา 9 เดือนได้มีการปรึกษาหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ก็คือประมาณสิ้นปี เพราะโปรเจ็คทั้งหมดอยู่ในช่วงเวลานี้ ถ้า 6 เดือนก็ไม่ได้ เพราะทำไม่ทัน เพราะมีกลไกรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่แล้ว 9 เดือนนี้ต่อรองไม่ได้ ไม่ได้บอกเพื่อจะให้ต่อรองลงมาหน่อย ถึงจะลดเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้ออกไปจากกรอบนี้มากมาย



"นอกจากนี้ วันนี้ก่อนที่นายกฯขึ้นเครื่องก็ยังยืนยันว่าจะต้องเจรจากันต่อไป ตอนนี้ก็โทรศัพท์ประสานกันกับทางนปช.อยู่แล้ว พร้อมยืนยัน จะไม่มีการเจรจาแบบมุบมิบปิดลับ แต่จะใช้รูปแบบเจรจาอย่างไรต่อไปก็ต้องดูอีกที" นายชำนิ กล่าว




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน


 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์