คลังเร่งตัดตอนเงินทักษิณสรรพากร-ไอซีทีห่วงไม่พอจ่าย

 

คมชัดลึก :กระทรวงการคลังเร่งยึดเงิน "แม้ว" 4.6 หมื่นล้าน หลังได้รับหนังสือมอบอำนาจจาก ป.ป.ช. ขณะที่สรรพากร-ไอซีที ห่วงเงิน 3 หมื่นล. ที่ศาลฎีกาฯ สั่งถอนอายัดแถมเจ้าของมีการเบิกถอนไปร่วมพันล้าน จะไม่พอจ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้าน ธปท.ยันนำเงินลงทุนนอกต้องรายงาน


"ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากกรมบัญชีกลางว่า พร้อมจะเข้ายึดทรัพย์ทั้งหมดทันที เนื่องจากได้จัดทำบัญชีแยกทรัพย์สินของแต่ละธนาคารไว้หมดแล้ว" นายกรณ์ระบุ


พร้อมกันนี้ รมว.การคลังยังได้แสดงความกังวลต่อทรัพย์สินส่วนที่เหลือจาก 4.6 หมื่นล้านบาท

ซึ่งศาลสั่งถอนอายัดและขณะนี้เจ้าทรัพย์เร่งทยอยเบิกถอนเงินออกไปร่วมพันล้านบาท โดยที่ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้อายัดทรัพย์สินไว้เพื่อนำมาชำระภาษีค้างจ่ายของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นแอมเพิลริช ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งไปทับซ้อนกับเงินที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้ฟ้องคดีให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งอายัดไว้ แต่พบว่าศาลได้สั่งถอนอายัดเงินในบัญชีดังกล่าว เนื่องจากการอายัดทรัพย์สินของกรมสรรพากรไม่เกี่ยวข้องกับการอายัดทรัพย์ของ คตส.


นายกรณ์กล่าวว่า แม้ภายหลังกรมสรรพากรได้อายัดทรัพย์สินนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาเพิ่มเติม ซึ่งส่วนมากจะเป็นหุ้นที่ทั้งสองคนถืออยู่

แต่การทยอยถอนเงินสดจากบัญชีที่บริษัท ซึ่งทั้งสองเป็นกรรมการและมีอำนาจเซ็นอนุมัตินั้น อาจส่งผลกระทบให้มูลค่าหุ้นลดลงตามมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลง การกระทำดังกล่าวจึงอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาหากคดีค้างภาระภาษีสิ้นสุดลง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องต่อศาลภาษีอากร


"ผมกังวลว่าหากทยอยถอนเงินออกเช่นนี้จะทำให้ถึงที่สุดแล้วจะมีเงินเหลือน้อยจนไม่เพียงพอจะเสียภาษีที่ค้างอยู่เดิม 1.2 หมื่นล้านบาทได้ ซึ่งส่วนนี้ก็จะไปโทษธนาคารพาณิชย์ที่ให้ถอนไม่ได้ เพราะเขาก็ทำตามหน้าที่และกฎหมาย ไม่มีสิทธิ์เลือกข้างฝ่ายใด ส่วนที่ไปยึดเงินสดเพิ่มเติมไม่ได้เพราะส่วนใหญ่ทรัพย์สินที่ถืออยู่ของทั้งสองคนจะอยู่ในรูปของหุ้น แต่เงินสดเป็นของบริษัทหากยึดจะกระทบกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ" นายกรณ์กล่าวทิ้งท้าย


ด้านนายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ส่งหนังสือไปยังบริษัทที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาเป็นกรรมการและมีอำนาจลงนามอนุมัติแล้วว่า

การทยอยถอนเงินจะทำให้มูลค่าหุ้นลดลงหรือไม่ เพราะอาจกระทบต่อทรัพย์สินที่อายัดไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท
ส่วนนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ภายหลังรับหนังสือมอบอำนาจจากป.ป.ช.แล้ว กรมบัญชีกลางจะเดินหน้ายึดทรัพย์ทั้งหมด 4.6 หมื่นล้านบาททันที โดยขณะนี้ได้แยกแยะไว้ทั้งหมดถึงเงินในบัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะต้องยึดเพื่อนำเข้าเป็นเงินคงคลัง


"ผมกังวลด้วยว่าการทยอยถอนเงินที่ศาลสั่งให้ถอนอายัดอาจมีผลต่อเม็ดเงินที่จะนำมาชำระค่าความเสียหายของหน่วยงานรัฐ ทั้ง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาความเสียหายจากการแก้สัญญาสัมปทานในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี "อธิบดีกรมบัญชีกลางระบุ


 


ขณะที่ พ.ต.ท.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า

เราจะตรวจสอบสัญญาโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ โดยจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้า และสอบถามวิธีการคำนวณความเสียหายจากการแก้ไขสัญญาตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคมจนถึงขั้นล้มละลาย หรือกระทบความมั่นใจของภาคเอกชนในการทำสัญญากับภาครัฐ


" กระทรวงไอซีที จะดูแลคดีแพ่งและวินัยของข้าราชการ ส่วนความผิดของบุคคลจะประสานสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เอกสารสัญญามีจำนวนและรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงต้องใช้เวลาพิจารณา แต่ก็มั่นใจว่าจะมีความชัดเจนแน่นอน" ผู้ตรวจการกระทรวงไอซีทีระบุ


รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประกาศเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จะผ่อนคลายให้นิติบุคคลสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดวงเงิน

โดยได้ทำหนังสือเพื่อขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาและออกประกาศกระทรวงการคลังนั้น ขณะนี้นายกรณ์ยังไม่ได้ลงนามแต่อย่างใด เนื่องจากหวั่นว่าการตั้งบริษัทย่อยจำนวนมากในดูไบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงระยะนี้ อาจเพื่อรับโอนเงินจากบัญชีที่ศาลสั่งถอนอายัด


นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปฏิเสธว่า ยังไม่ทราบกระแสข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ

ได้เบิกเงินสดกว่า 1,000 ล้านบาทออกจากบัญชีธนาคารต่างๆ แต่ถ้าดูตามหลักของกฎหมายก็ถือว่าทำได้ เพราะเงินส่วนนี้หลุดจากการอายัดของทางศาลฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางแบงก์ชาติไม่มีสิทธิ์ไประงับหรือทำอะไรที่ออกนอกกรอบเกณฑ์ได้
“ส่วนการเบิกถอนเงินจากบัญชีต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์นั้น ผู้เบิกถอนก็ไม่จำเป็นต้องมารายงาน ธปท. เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เนื่องจาก ธปท.ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ห้ามในส่วนนี้ และ ธปท. เองก็จะไม่เข้าไปก้าวล่วงในบัญชีของส่วนบุคคลด้วย" นายเกริกกล่าวและยืนยันว่า การเบิกถอนเงินดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว 


นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า การนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้น

ท้ายสุดแล้วจะต้องมีการรายงานให้ ธปท.รับทราบด้วย เนื่องจากการไปลงทุนต่างประเทศจะต้องมีการซื้อสกุลเงินต่างประเทศที่จะไปลงทุน โดยดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องขอรายละเอียดของการลงทุน หลังจากนั้นก็จะมีการรายงานมายัง ธปท.


อย่างไรก็ตาม การรายงานของธนาคารพาณิชย์นั้น จะมีรอบระยะเวลาในการรายงานที่ชัดเจน และการรายงานจะรายงานมาเป็นตัวเลขรวมไม่ได้แยกเป็นรายธุรกรรม ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการรายงานของธนาคารพาณิชย์เอง


“เรายังไม่ได้เห็นตัวเลขว่ามีคนมาขอออกไปลงทุนต่างประเทศเท่าไรในขณะนี้ เพราะยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่แบงก์รายงานเข้ามา ซึ่งเขาจะมีกำหนดเวลาการรายงานที่ชัดเจน” นางสุชาดากล่าว
ส่วนการผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้นิติบุคคลสามารถไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศไม่จำกัดจำนวนนั้น นางสุชาดากล่าวว่า เกณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะต้องรอประกาศจากกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงการคลังจะพิจารณาตามเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างพิจารณาประกาศตัวอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย


นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท. กล่าวว่า การนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น

ปกติแล้วจะต้องทำผ่านธนาคารพาณิชย์โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศในประเทศที่จะไปลงทุน ซึ่งธนาคารพาณิชย์เองก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาในการขายหรือไม่ขายให้เช่นกัน และภายหลังการขายธนาคารพาณิชย์ก็มีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมดังกล่าวมายัง ธปท.ด้วย รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามหลักเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศของบุคคลไทยนั้น ธปท.ได้กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลไทยสามารถลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่บริษัทในเครือในต่างประเทศได้รวมกันไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่าต่อปี และสามารถลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่บริษัทแม่และบริษัทในเครือในต่างประเทศที่มีบริษัทแม่เดียวกันได้รวมกันไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่าต่อปี

สำหรับการซื้อหรือโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศผ่านธนาคารรับอนุญาต ต้องยื่นเอกสารแสดงภาระผูกพันในต่างประเทศ โดยสามารถโอนออกได้ตามภาระหรือวงเงินที่กำหนด ส่วนการนำเงินตราต่างประเทศติดตัวเพื่อออกนอกหรือเข้ามาในประเทศหากเกิน 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่า จะต้องสำแดงรายการที่ด่านศุลกากรทุกครั้ง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์