น้ำท่วมรั้งเศรษฐกิจขยายตัว ธปท.ยอมรับปีนี้เสียหายหนัก

"ผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ"


นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาการผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ จะนำผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาใน 46 จังหวัด มาพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย แต่คาดว่าข้อมูลที่ได้รับคงจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้น

เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่ที่ความเสียหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และบางพื้นที่อาจจะมีน้ำท่วมระลอกใหม่ตามมาอีก ซึ่งนอกจากจะพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยแล้ว อาจพิจารณาอนุมัติความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อผู้ได้รับผลกระทบด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามปกติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงปีที่เกิดอุทกภัยร้ายแรงในช่วงที่ผ่านมา ธปท.อาจจะให้ความช่วยเหลือด้วยให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยลดต้นทุนอัตราดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน หรือเงินกู้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร

"ไม่ได้ฉุดรั้ง จีดีพี"


จากการวิเคราะห์ของผลกระทบจากอุทกภัยของ ธปท. ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า จากการนำข้อมูลความเสียหายของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มาวิเคราะห์เทียบกับภาพรวมของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) พบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม ไม่ได้เป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวของจีดีพีอย่างมีนัยสำคัญ เฉลี่ยอยู่ที่-0.1% ของจีดีพีในแต่ละปีเท่านั้น เนื่องจากภาคการเกษตรมีสัดส่วนในจีดีพีของประเทศน้อยอยู่ที่ 7% และในเมื่อมีความเสียหายจากน้ำท่วม จะลงทุนใหม่ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการชดเชยความเสียหายจากภาครัฐบาลมาทดแทน ทำให้ผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจไทยลดลง

แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จะกระทบต่อเนื่องไปถึงบรรยากาศการใช้จ่าย และกำลังซื้อในระยะยาวของเกษตรกร และจะต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาน้ำท่วมทางสังคม และจิตใจของ ประชาชนประกอบด้วย จุดนี้ประมาณการเป็นตัวเลขได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบของภัยธรรมชาติในปี 47 และปี 48 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในทั่วทุกภาคพบว่า ส่งผลให้ จีดีพีภาคเกษตรโดยรวมในปี 47 ลดลง 4.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และในปี 48 ลดลง 2.4%

"น้ำท่วมครั้งนี้ต้องรอดูผลกระทบมากน้อยแค่ไหน"


อย่างไรก็ตาม สำหรับความเสียหายของน้ำท่วมในปีนี้ ค่อนข้างแตกต่างจากปีก่อนๆ เนื่องจากมีน้ำท่วมหลายระลอก ทำให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากนี้ ในพื้นที่เศรษฐกิจของหลายจังหวัด ยังประสบกับปัญหาน้ำท่วม ส่งผลต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจอย่างชัดเจน แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา ที่พื้นที่เศรษฐกิจในเมืองจะไม่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น คงต้องรอดูว่าข้อมูลของความเสียหายในภาพรวมจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

ด้านนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะเสนอมาตรการช่วยเหลือผ่านกระทรวงการคลังเพื่อให้ ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย เกษตรกรผู้เสียหายที่มีหนี้เงินกู้เดิมก่อนประสบภัย ถ้าเสียชีวิต ธ.ก.ส.จะจำหน่ายเป็นหนี้สูญ ถ้ายังมีชีวิตและประสบภัยร้ายแรง ธ.ก.ส.จะขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ให้ 3 ปี และงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ปีที่ขยายระยะเวลาให้ ส่วนการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ธ.ก.ส.จะให้กู้ตามความจำเป็น

"ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ"


โดยเงินกู้ส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท ธ.ก.ส. จะงดคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราปกติ 3% เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี ขณะที่แบงก์กรุงเทพ นายธรรมนูญ เลากัยกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ประธานกิจการธนาคารต่างจังหวัด กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังสาขาในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ให้ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย โดยเบื้องต้นได้อนุมัติการขยายระยะ เวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าธนาคาร พร้อมทั้งการลดภาระการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้า

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการและรักษา-การผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้กำหนดให้ส่วนลดทั้งค่าโดยสารและค่าธรรมเนียม หรือเป็นการลดราคาตามหน้าตั๋วลง 20% จะครอบคลุมพื้นที่ประสบภัย 46 จังหวัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.-30 พ.ย. 49 ขณะเดียวกัน นายถวิล สามนคร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท.จะประกาศงดเว้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางขนส่งสินค้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนด เพื่อให้ทุกความช่วยเหลือถูกระดมเข้าพื้นที่ได้สะดวกมากที่สุด ส่วนการปรับลดราคาค่าโดยสาร ปัจจุบันอยู่ในอัตราที่ต่ำมากอยู่แล้ว.


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์