การสละเลือด ของคนเสื้อแดง ในมุมมอง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

หมายเหตุ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "การสละเลือดของมวลชนเสื้อแดง" เอาไว้ในเว็บบอร์ด "ชุมชนคนเหมือนกัน" ซึ่งทางมติชนออนไลน์ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้


(1)


ที่่จริง ผม "ให้คะแนน" กับ ความ "ช่างคิด" นะ ยอมรับว่า "ไอเดียบรรเจิด" จริงๆ คาดไม่ถึง


แต่ต้องลองถามว่า เป้าหมายของ มาตรการ คืออะไร?


ตามที่ผมเข้าใจ มาตรการ ในการต่อสู้ทางการเมือง มีเป้าหมาย อย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายๆอย่าง ดังนี้


(ก) ขัดขวาง (disrupt) การทำงาน ของรัฐบาล หรือของคนที่เราต่อสู้ด้วย


(ข) เรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ จากคนกลาง ("สังคม") ที่ไม่ได้ยืนอยู่กับเราเต็มที่มาก่อน ให้มาสนับสนุนเรามากขึ้น และดังนั้น ก็จะเป็น "แรงกดดัน" ให้รัฐบาล ต้องยอมเรามากขึ้น


การเรียกร้อง ความเห็นใจ อาจจะในรูป "ความสะเทือนใจ" เช่น การอดอาหาร (สมัยจำลอง ประกาศ "อดจนตาย" ทำให้ การชุมนุมคัดค้านสุจินดา ที่กำลัง ฝ่อๆ กลายเป็นกระแสใหญ่ขึ้นมาทันที) ถึงเรื่อง "เผาตัว" (อย่างในสมัยสงครามเวียดนาม) หรือกระทั่ง กรณี "ลุงนวมทอง"


แต่กรณี (ข) นี้ ในความเห็นของผม มาตรการนั้นๆ จะมีผล ทำให้ "เกิดความเห็นอกเห็นใจ" ได้ ก็จะต้อง มี "ฐาน" ของการคิดบางอย่างของคนกลางๆ ("สังคม") อยู่ก่อน เช่นกรณี จำลอง ตอนประกาศ "อดตาย" มีความไม่พอใจ สุจินดาอยู่จริงๆ และมีความชื่นชอบจำลองอยู่จริงๆ ในขณะนั้น พอจำลองประกาศแบบขึงขังว่า "จะยอมอดจนตาย" คนก็เลย "ฮือ" เห็นใจ ขนาด "ท่านพุทธทาส" ยัง "หลง" โดน จำลองหลอกเลย ถึงกับเขียนสารมาให้จำลองว่า "อย่าเอาพิมเสน ไปแลกกับเกลือ" แสดงว่า เชื่อจำลองมากพอที่จะออกมาทักท้วง ตอนนั้น คนเชื่อกันมากจริงๆ (ผมเอง ไม่เคยเชื่อแม้แต่วินาทีเดียวว่า จำลองกล้าอดตายจริงๆ เพราะผมรู้จักเขาดีมาก่อนหน้านั้นหลายปี)


ผมไม่คิดว่า "เสื้อแดง" อยู่ในสถานะดังกล่าว ดังนั้น มาตรการ "บริจาคเลือด ทาทำเนียบ" ขณะที่ดู "แปลก" และอาจจะทำให้คนจำนวนมาก "ทึ่ง" ในความ "ใจถึง" แต่ผมไม่คิดว่า จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจอย่างมากขึ้นมาจากปัจจุบันนัก ในลักษณะที่ทำให้เป็นแรงกดดดันได้


ปล. ผมนับถือ "ลุงนวมทอง" อย่างสูง


แต่จะเห็นว่า แม้แต่การเสียสละชีวิตของ "ลุงนวมทอง" ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดเป็นกระแสกดดันได้มากนัก และนั่น เป็น มาตรการชนิด "สุดขีด" แล้ว คือใช้ชีวิตเข้า "บริจาค" เลย


(ลองคิดดูจากตัวอย่างข้างต้น ถ้าเปลี่ยนเป็นสถานการณ์ช่วง พฤษภา ที่มีความไม่ชอบสุจินดา อยู่มากอยู่แล้ว ถ้าเกิดกรณีแบบ ลุงนวมทอง ผมว่า จะต้องเป็นกระแสใหญ่มากๆ อาจจะมากกว่า เรื่อง "อดจนตาย" ของจำลอง)



(2)


ขอให้สังเกตว่า ผมไม่ได้พูดถึงปัญหาเรื่อง ความปลอดภัย หรือ เรื่อง บริจาค (ที่จริง ผมเป็นห่วงเรื่อง เทคนิคเหมือนกัน แต่ผมก็ยังเห็นว่าเป็นประเด็นรอง)


ประเด็นที่ผมอยากย้ำ ในเชิงคำถามคือ อะไรคือ "เป้า" ของมาตรการนี้


ผมพยายามอ่านอย่างละเอียด ทุกความเห็น เท่าที่จับได้ มี "เป้า" อย่างเดียว ที่แม้แต่ท่านที่สนับสนุน สามารถ ยกมาได้ คือ (ถ้าจะใช้คำนี้) PR (พีอาร์ - ประชาสัมพันธ์) เช่น ทำให้ เป็นข่าว อยู่ในความสนใจ ฯลฯ ประมาณนี้


ดูเหมือน ไม่มีท่านใด พูดว่า จะนำไปสู่ความสำเร็จในเรื่อง ข้อเรียกร้องยุบสภา


เท่าที่อ่านมา อย่างมาก คือเรื่อง ทำให้เกิด "กระแส" ("สะใจ" ฯลฯ) อะไรประเภทนั้นเท่านั้น


ผมไม่ได้ปฏิเสธ เป้าหมายในเชิง PR หรือในเชิง "สะใจ" ในต้วเองนะครับ ในบางกรณี ผมก็ว่า ทำได้


แต่ที่ถามคือ ถ้าเป้าหมายเพียงเท่านี้ ไม่คิดจะหาอะไรที่มีลักษณะ "ศิวิไลซ์" หรือ "เลือดตกยางออก" (literally) น้อยกว่านี้ หรือครับ?


ปัญหาคือ มาตรการนี้ ต่อให้ ตัดเรื่อง ความปลอดภัย ฯลฯ ออกไป ก็ยังเป็นมาตรการที่ต้อง "ขอความร่วมมือ" จากผู้ร่วมชุมนุมอย่างมาก และเป็นการขอ ในลักษณะที่ผมเห็นว่า ไม่จำเป็น (ยิ่งถ้าทำถึง 3 ครั้ง ตามที่ประกาศจริงๆ)


และในที่สุดแล้วก็คงไม่ทำให้เกิด อาการ "เห็นอกเห็นใจ" จาก คนกลางๆ ("สังคม") เพิ่มมากขึ้น (ลองคิดกรณีลุงนวมทอง ถ้าลุงนวมทอง สละชีวิต ยังไม่สามารถทำให้เกิดเป็นกระแสอะไรนัก)


ผมจึงยังอยากยืนยันว่า "มุก" นี้ "ผิดคาด" จริง แต่ในที่สุดแล้ว เสียเวลา เสียพลังงาน เสียสุขภาพ เรียกร้องผู้เข้าร่วมเกินไป และ ไม่ได้ผลอะไรมากนัก

(3)


ผมขอถือโอกาส สรุป-ประเมิน เรื่อง "เจาะเลือด ทา ทำเนียบ" เล็กน้อย


(1) สุดท้าย เท่าที่สังเกต ไม่ได้ถึงระดับ "1 ล้าน ซีซี" แต่อย่างใด แต่อันนี้ ก็คงไม่เสียอะไร (ดูข้อต่อไปประกอบ) คือ เท่าที่เห็น ไม่มีใครมาโจมตีในแง่นี้ คือ คนคง "ตื่นตา" กับเรื่องเลือดมากกว่า ไม่ได้มีใครมาโจมตีในแง่ จำนวนที่ประกาศไว้


(2) ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว มาตรการนี้ กลายเป็นมาตรการ "สำหรับมวลชนเสื้อแดงกันเอง" มากกว่าสำหรับโฆษณา หรือ มีผลกระทบอะไรจริงจัง ต่อสังคมวงกว้างออกไป คือเป็นเรื่อง (ขออภัย ไมได้ใช้ในความหมายลบนะ) "สะใจ" มวลชนเสื้อแดงกันเองมากกว่า (เมื่อเย็น มีแอ็คติวิสต์ คนนึง พูดกับผมเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกัน ในแง่การ "รักษามวลชน" คือ เหมือนกับให้มี "ทางระบาย" ความเคียดแค้น ฯลฯ)


แต่ในที่สุดแล้ว มาตรการนี้ ไม่ได้ทำให้ เสื้อแดง "ได้คะแนนมากขึ้น" จากสังคมวงกว้าง โดยเฉพาะสังคมกรุงเทพ ที่เสื้อแดงเอง ยอมรับว่า ต้องหาทาง ช่วงชิงให้มากขึ้น


แล้วผลเสียล่ะ? เท่าที่ดู ก็คงไม่มีอะไรมากเหมือนกัน เรื่องแขวะ เรื่องโจมตีทางเน็ต ก็คงไม่ถึงกับใหญ่โตนัก


สรุปแล้ว เหมือน "ไม่ได้ ไม่เสีย" ซึ่งสำหรับผม ถ้าถามใหม่ ผมก็ยังไม่สนับสนุนอยู่ดี ยังเห็นว่า ในด้านที่เป็นผลลบอยู่(ซึ่งถึงแม้จะไม่ใหญ่โตดังกล่าว)นั้น ไม่ได้นำมาซึ่งอะไรมากนัก พอที่จะชวนให้น่าทำ


ใจผม อยากเห็นมาตรการ ในแง่ที่มีผลด้านบวก เรียกร้องความเห็นใจ จากคนวงกว้าง หรือ กดดันรัฐบาล มากกว่า


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์