คลังอาหารม็อบเสื้อแดง

 

คมชัดลึก : ทุกที่ที่มีคนมารวมตัวกันมากๆ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องอาหารการกิน ที่หลับที่นอน ไปจนถึงห้องน้ำห้องท่า การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า แม้ว่าบรรดาแกนนำจะมีการตระเตรียมเอาไว้ให้ผู้ชุมนุมล่วงหน้าแล้ว แต่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะพึ่งพาตัวเอง ด้วยการหอบหิ้วเสบียงกรัง ข้าวสารอาหารแห้ง หม้อ ไห จาน ชาม ตลอดจนเตาแก๊สติดรถมาหุงหาอาหารด้วย


เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือและอีสาน อาหารของพวกเขาจึงเป็นพวกง่ายๆ จำพวกข้าวเหนียว เนื้อทอด ไข่เจียว ส้มตำ ฯลฯ พอทำเสร็จก็แบ่งปันกันกิน พร้อมพูดคุยหยอกล้อกันเป็นที่ครื้นเครง บ้างก็ทำเผื่อแผ่ไปให้เต็นท์ข้างๆ เช่น ผู้ชุมนุมจากอุบลฯ อยู่ติดกับเต็นท์พิษณุโลก จึงแลกเปลี่ยนอาหารกันกินอยู่หลายมื้อ


"สะอาด แสนดาว" ชายกลางคนวัย 51 ปี จากศรีสะเกษที่เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนรวม 8 คน ต่างก็ตระเตรียมข้าวสารอาหารแห้งติดตัวมาพออยู่ได้ 3 วัน ทั้งข้าวเหนียว ไข่เป็ด ปลาแห้ง โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหาอะไรเพิ่ม หรือรอคอยอาหารจากคลังกลางของกลุ่มเสื้อแดง แม้ว่าก่อนจะเดินทางแกนนำที่พามาจะบอกว่าไม่ต้องเตรียมอะไรไป ที่กรุงเทพฯ จะจัดหาไว้ให้พร้อมสรรพแล้วก็ตาม


"กลัวอาหารไม่ถูกปาก หรือไม่ก็หากินลำบาก" คือคำตอบของสะอาดและชาวศรีสะเกษที่ร่วมเดินทาง ทุกคนต่างก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น


สะอาดกับเพื่อนจากศรีสะเกษเพิ่งมาชุมนุมเป็นครั้งแรก พวกเขาเชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้จะไม่ใช้เวลานานมากนัก จึงเตรียมเสบียงมาแค่นี้ แต่ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อจะมีญาติตามมาสมทบ ตอนนั้นค่อยสั่งอาหารมาเพิ่ม


เช่นเดียวกับ "ปราณีต" สาววัย 40 เศษจากขอนแก่น พร้อมครอบครัว 4 คน กำลังสาละวนอยู่กับการทอดเนื้อและนึ่งข้าวเหนียวเตรียมไว้สำหรับมื้อกลางวันบริเวณท้ายรถกระบะที่จอดอยู่ท้องสนามหลวง ปากก็บอกว่า เธอกับครอบครัวเตรียมเสบียงมาจากบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเนื้อตากแห้ง ไข่เป็ด และข้าวเหนียว ส่วนผักสดนั้นนำมาใช้ได้แค่วันเดียว เพราะกลัวจะเหี่ยวและเน่าจึงเน้นไปที่ของแห้งแทน


แกนนำที่พาปราณีตกับครอบครัวมาก็บอกเธอเหมือนกับที่แกนนำบอกสะอาด แต่เธอก็ยังนำเสบียงมาเอง โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากจะแย่งใคร นอกจากอาหารแล้วยังเตรียมเต็นท์เผื่อไว้อีก 4 หลัง พอเลิกจากชุมนุมที่ผ่านฟ้าก็จะกลับมากางเต็นท์นอนที่สนามหลวง ปราณีตเชื่อว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์การชุมนุมน่าจะได้ข้อยุติ


 



จากท้องสนามหลวงมาต่อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บนถนนเดียวกัน ที่นี่ส่วนใหญ่มาจากกาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฯลฯ

เดินทางมากันเป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มละ 30-50 คน มีการตระเตรียมเสบียงกรังไม่ต่างอะไรกับที่สนามหลวง อาหารหลักยังคงเป็นข้าวเหนียว ตำมะละกอ ตำแตง ปลาร้าบอง ปลาร้าดิบ ส่วนอุปกรณ์ทำครัวมีเตา หวด ซึ้ง เป็นต้น


"ทองผัน เห็มวิพัฒน์" อายุ 44 ปี จากห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ แม่ครัวของกลุ่มเสื้อแดงห้วยผึ้ง 53 เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนประมาณ 50 คน ยึดต้นมะขามข้างคุรุสภาด้านทำเนียบรัฐบาลเป็นที่พักผ่อนหลับนอนตั้งแต่ 12 มีนาคม เป็นต้นมา บอกว่า ตุนเสบียงมาพอกิน 1 สัปดาห์ จำพวกข้าวเหนียว มะละกอ แตงกวา และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทุกๆ เช้าจะนึ่งข้าวเหนียวเตรียมไว้วันละ 10 กิโลกรัม ส่วนส้มตำก็ทำกินตลอด ใครหิวก็แวะมากินได้เสมอ


"คนอีสานกินง่ายๆ ข้าวเหนียวปั้นเดียวก็อยู่ได้ทั้งวัน การเตรียมอาหารก็ไม่ยุ่งยาก ข้าวของที่เตรียมมาอยู่ได้ 1 สัปดาห์ หากการชุมนุมยืดเยื้อจะมีรถมาส่งเสบียงที่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสได้มาร่วมชุมนุม" ทองผัน กล่าว


ทองผันคงจะไม่เหนื่อยเท่า "จันทร์เพ็ญ คุณวงศ์" แม่ครัววัย 48 ปี ของกลุ่มขุนหาญ ศรีสะเกษ ที่ต้องทำอาหารเลี้ยงคนวันละ 500-600 คนทุกวัน วันละ 3 มื้อ โดยเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงและมีแม่ครัวที่มาช่วยอีก 4-5 คน ดังนั้น ตลอดทั้งวันแม่ครัวกลุ่มนี้จะง่วนอยู่กับการเตรียมอาหารและปรุงอาหาร สำหรับมื้อเย็นวันนี้จันทร์เพ็ญบรรจงปรุงต้มไก่หม้อใหญ่ไว้คอยเลี้ยงดูปูเสื่อเพื่อนผู้ชุมนุม


"ใครหิวก็แวะมากิน อย่างส้มตำนี่ตำไว้ตลอดเลยนะ ไม่เคยขาด" จันทร์เพ็ญ กล่าว

 เมื่อถามถึงที่มาของเสบียง แม่ครัวจากขุนหาญบอกว่า ก่อนจะมาชุมนุมเธอกับเพื่อนจะขับรถกระบะประชาสัมพันธ์เรื่องการมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ พร้อมกับขอบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง พริกสวนครัว เครื่องปรุง ตลอดจนเงินบริจาค เบ็ดเสร็จแล้วได้ข้าวสารมา 1 คันรถกระบะ ไข่ไก่หลายสิบแพ็ก และ ฯลฯ


ส่วนเสื้อแดงอีกกลุ่มจากกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ย้ายฐานมาปักหลักข้างทำเนียบ

ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสูงอายุและคนชราประมาณ 30 คน ระหว่างพูดคุยมีชายฉกรรจ์เดินมาเทียวถามว่า มาจากไหน ต้องการอะไร จากการสอบถาม "ป้าเผย" วัย 60 ปี และ "แหวง" หนุ่มรุ่นน้องวัย 50 ปี ได้ความว่าเตรียมข้าวเหนียวมาถึง 1 กระสอบ ส้มตำ ปลาร้าบอง มะขามเปียก มะขามคั่ว ใช้กินได้แค่ 3 วัน ตอนนี้เสบียงเริ่มหมดแล้ว ก็อาศัยเดินขอตามกลุ่มเสื้อแดงที่มาชุมนุม


ไม่เฉพาะกลุ่มป้าเผยเท่านั้น เสื้อแดงหลายกลุ่มที่สำรองอาหารไว้เพียงไม่กี่วัน บางคนใช้หมดแล้วก็จะไปขอแบ่งปันจากกลุ่มข้างๆ ซึ่งก็จะได้รับการเอื้อเฟื้อแบ่งปันตามวัฒนธรรมของคนอีสาน บางกลุ่มมีกองหนุนก็จะโทรสั่งเพื่อนให้ขนเสบียงมาส่ง ไม่รวมบรรดาพ่อค้าแม่ขายหาบเร่ ทั้งไก่ปิ้ง ปลาหมึกย่าง ผลไม้ ขนมหวาน หรือแม้แต่น้ำเปล่ามาตั้งแผงค้าขายอยู่โดยรอบ


เมื่อท้องอิ่มก็มาถึงเรื่องที่หลับที่นอน เต็นท์ผ้าใบขึงกันแดดกันฝนถูกใช้แทนห้องหับ มีป้ายชื่อแต่ละจังหวัดปิดไว้ด้านหน้ากันหลง ส่วนห้องน้ำห้องท่านั้น นอกจากห้องสุขาเคลื่อนที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้วยังมีห้องสุขาน็อกดาวน์ที่บรรดาแกนนำผู้ชุมนุมได้จัดเตรียมไว้รอบสนามหลวง และตามแยกต่างๆ บนถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สนามหลวงมาจนถึงสะพานผ่านฟ้า ตลอดความยาวกว่า 3 กิโลเมตร


ห้องน้ำหญิงดัดแปลงมาจากกระสอบปุ๋ยที่เลาะแผ่เป็นผืนนำมาเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ ขึงกั้นทั้ง 4 ทิศกันอุจาดตา เมื่อเปิดเข้าไปภายในจะมีทางเดินตรงกลาง แยกซ้ายขวาเป็นห้องน้ำที่มีโถรองนั่งต่อท่อตรงทิ้งของเสียและสิ่งปฏิกูลลงท่อระบายน้ำ ส่วนห้องน้ำชายง่ายและสะดวกดายกว่านั้น ก่อโครงจากท่อพีวีซีมีฉากกัน 2 ด้านเข้ามุม แล้วมีโถรองปัสสาวะติดอยู่กับโครงเสาติดมุม โดยจะจัดให้ห้องน้ำชายหญิงอยู่กันคนละฝั่งถนนแยกกันชัดเจน


สำหรับห้องอาบน้ำในสภาพอากาศร้อนอบอ้าวอย่างที่เป็นอยู่ แกนนำได้นำกระสอบปุ๋ยเย็บต่อผืนใหญ่ไปขึงกั้นไว้ที่สนามหลวงฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้างในจะมีถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร บรรจุน้ำเต็มให้ชาวบ้านได้อาบคลายร้อน จากการเฝ้าสังเกตพบว่ามีผู้คนมาเข้าคิวรออาบน้ำอยู่ตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพห้องน้ำที่ไม่มีสุขลักษณะ ประกอบกับมีผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อย เพียงไม่กี่วันจึงเริ่มมีกลิ่นโชยออกมาบ้างแล้ว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์