โพลคนกรุง-ปริมณฑล90% วอนอย่าใช้ความรุนแรงหลังคดียึดทรัพย์

โพลคนกรุงเทพ-ปริมณฑทล หลังตัดสินคดียึดทรัพย์"ทักษิณ" เกือบ 90% ขอให้เคลื่อนไหวอย่างสงบ อย่าใช้ความรุนแรง แต่ยังเชื่อว่า สถานการณ์จะวุ่นวายเหมือนเดิมเกือบร้อยละ 50

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ถึงผลสำรวจภาคสนาม

เรื่อง  ความทรงจำของคนกรุงเทพมหานคร ต่อสถานการณ์การเมืองในปีที่แล้ว กับความคิดเห็นต่อ ผลที่จะตามมาหลังคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เป็นผู้มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 1,515 ระหว่างวันที่ 19 – 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


ประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ยังคงติดตามข่าวการพิจารณาคดียึดทรัพย์

โดยมีประชาชนร้อยละ 11.7 กังวลมากจนถึงขั้นจะกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ และร้อยละ 3.0 กังวลจนถึงขั้นจะกักตุนอาหารและจะชักชวนคนอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ไม่รู้สึกกังวลและจะใช้ชีวิตไปตามปกติ


ที่น่าเป็นห่วงคือ ความรู้สึกของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองที่คาดว่า จะเกิดขึ้นภายหลังการพิพากษาคดียึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่พบว่า ร้อยละ 49.2 คิดว่าจะวุ่นวายเหมือนเดิม และร้อยละ 44.2 จะวุ่นวายมากขึ้น มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่คิดว่าจะลดความวุ่นวายลง
 

คนกรุงเทพฯและปริมณฑลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 ยังคงจำได้ว่าในปีที่ผ่านมา
มีการชุมนุมประท้วงก่อความวุ่นวายของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่ใช้ความรุนแรง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.4 ระบุว่า ถ้าเกิดสถานการณ์การเมืองวุ่นวายรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมาอีกตนเองจะเดือดร้อนมากกว่า แต่มีอยู่เพียงร้อยละ 4.6 เท่านั้นที่คิดว่า จะได้รับประโยชน์มากกว่าถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น


นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 คิดว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองบางกลุ่ม ในขณะที่เพียงร้อยละ 9.6 คิดว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และร้อยละ 29.0 ไม่มีความเห็น


สำหรับ 5 อันดับแรก ที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลมีข้อเสนอแนะต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มขณะนี้ อันดับแรกหรือร้อยละ 89.6 ระบุขอความสงบในการเคลื่อนไหวไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน


อันดับสองหรือร้อยละ 86.5 ระบุให้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และอันดับสาม หรือร้อยละ 83.1 ระบุให้เร่งช่วยกันแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน


ส่วนอันดับสี่และห้าคือ ให้อภัยต่อกัน และทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งแต่ทำลายกัน ตามลำดับ
 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์