กระหึ่มเทมาเส็กหาช่องขายหุ้นชิน เดินสายชี้แจงพร้อมเตรียมทางถอย

จากมติชนรายสัปดาห์



เทมาเส็กกุมขมับพิษกุหลาบแก้ว จัดทีมเดินสายชี้แจงเจตนาซื้อหุ้นชินคอร์ป หารือลับยอมขาดทุนเตรียมเทขายหุ้น ยืนยันมุ่งลงทุนระยะยาว-ไม่เคยคิด "ล้วงตับ" ยอมรับต้องลงทุนผ่านนอมินีเพราะกฎหมายไทยไม่เอื้อ ขณะที่ผู้บริหารด้านการลงทุนแจงสื่อ ตปท. หุ้นชินพื้นฐานแกร่ง ศก.ไทยศักยภาพเยี่ยม พร้อมเล็งเพิ่มโอกาสการลงทุน


นับตั้งแต่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ได้ตกลงซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปจากครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549


โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ขายประกอบด้วยครอบครัว "ชินวัตร" และครอบครัว "ดามาพงศ์" ขายหุ้นสามัญที่ถืออยู่ในบริษัททั้งหมด 1,487,740,120 หุ้น หรือคิดเป็น 49.595% ของทุนชำระแล้ว ให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 73,271.2 ล้านบาท


หลังจากซื้อมาขายมีข่าวโจมตีการซื้อขายหุ้น ดังกล่าว แต่ทางเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์มีการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวบ้างแต่ไม่ได้มีท่าทีอย่างชัดแจ้งต่อข่าวที่เกิดขึ้น


ตั้งแต่ข่าวต่อต้านการไม่ใช้ซิม ของเอไอเอส ข่าวการฟ้องร้องให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานมือถือ ดาวเทียม หรือข่าวความผิดเรื่องนอมินีกรณีกุหลาบแก้ว จนกระทั่งข่าวรัฐประหารยึดอำนาจทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวิตรกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี


แหล่งข่าวในวงการการเงินเปิดเผยว่า ล่าสุดกลุ่มเทมาเส็กค่อนข้างกังวลต่อการตัดสินใจซื้อหุ้นชินคอร์ป และยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด


จึงได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านที่ปรึกษาการเงินว่าจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร ในเบื้องต้นมีการแนะนำว่าควรที่จะพบปะสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงเจตนาของการเข้ามาลงทุนในหุ้นชินคอร์ปว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร

เท่าที่ทราบตอนนี้เทมาเส็ก ก็ได้เดินสายพบปะกับสื่อมวลชนบางฉบับเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็มีข่าวออกมาบ้างแล้ว แต่กลุ่มเทมาเส็กยังไม่มีแผนจะแถลงข่าวในวงกว้าง เพราะเกรงผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา


แหล่งข่าวได้กล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบตอนนี้กลุ่มเทมาเส็กได้หารือถึงทางถอยด้วยว่าหากกลุ่มเทมาเส็กจะขายหุ้นชินคอร์ปออกจะเป็นไปได้หรือไม่

ทั้งนี้เพราะเทมาเส็กเล็งเห็นว่าการถอยโดยจะยอมขาดทุนบ้างก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ส่วนจะมีใครซื้อหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ ถ้าถามว่าเทมาเส็กจะขาดทุนมากไหมหากขายหุ้นทิ้ง ก็ไม่น่าจะมากนัก อยู่ที่การเจรจาตกลงซื้อขายว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้จะไปเทียบกับมูลค่ามาร์เก็ตแคปที่หายไปคงไม่ได้

"เท่าที่ทราบทางกลุ่มเทมาเส็กตั้งใจเข้ามาลงทุนจริงๆ และเขาก็ยอมรับว่าบริษัทที่เข้ามาถือหุ้นเป็นนอมินี เพราะติดตามข้อกำหนดของกฎหมาย แต่เจตนาการเข้ามาลงทุนไม่ได้เข้ามาเพื่อล้วงตับหรือล้วงข้อมูลของไทยแต่อย่างใด" แหล่งข่าวกล่าว


ขาดทุนประมาณ 30,870.60 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้นชินคอร์ปที่เทมาเส็กซื้อ 49.25 บาท/หุ้น จำนวน 1,487,740,120 หุ้น แต่ราคาล่าสุด (9 ต.ค.49) อยู่ที่ 28.50 บาท/หุ้น ทางเทมาเส็กขาดทุนไปแล้ว 20.75 บาท/หุ้น หรือคิดเป็นเงิน 30,870.60 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 นายสตีเฟน เบนเนตต์ นักกฎหมายประจำสำนักงานกฎหมายฮันตัน แอนด์ วิลเลียมส์ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้เทมาเส็กซื้อกิจการชินคอร์ป

ยอมรับในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ว่า

ระหว่างติดต่อซื้อขายหุ้นชินคอร์ปจากครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าการซื้อขายดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลสะเทือนทางการเมืองสูงจนกลายเป็นที่มาของการยึดอำนาจในประเทศไทยในที่สุด

"ผมไม่คิดว่าตอนนั้นจะมีใครคาดคิดว่าดีลนี้จะเกิดผลสะเทือนทางการเมืองจนลงเอยอย่างที่เป็นอยู่ และเทมาเส็กคงไม่ตกลงซื้อแน่ถ้าหากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น" นายเบนเนตต์กล่าว นอกจากนี้ที่ผ่านมากลุ่มเทมาเส็กผู้บริหารของเทมาเส็กก็ได้สะท้อนความเห็นผ่านสื่อต่างๆ มาเป็นระยะ โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 นายจิมมี่ ฟุน กรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านการลงทุนของเทมาเส็ก ได้กล่าวกับนิตยสารนิวส์วีก และดาวโจนส์ นิวส์ไวร์ ว่าเขาเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบที่เกิดขึ้นจะแสดงให้เห็นว่าเทมาเส็กได้กระทำตามกฎหมายและระเบียบของไทยทุกประการ


เขากล่าวด้วยว่า ชินคอร์ปยังคงถือเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับบริษัท เพราะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพในระยะยาวที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้



"เทมาเส็กอาจจะเริ่มสำรวจโอกาสลงทุนในประเทศไทยเพิ่มอีก" ขณะเดียวกันนายฟุนยังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในวันที่ 14 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการยึดอำนาจว่า เทมาเส็กมั่นใจการลงทุนในยักษ์สื่อสารชินคอร์ป ซึ่งในที่สุดจะมีความชัดเจนขึ้นจากการตรวจสอบของหน่วยงานไทย

"เราปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ และเราได้ร่วมมืออย่างเต็มที่กับกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งเชื่อมั่นในการพิจารณาของไทย"


แต่นายฟุนก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการตรวจสอบเรื่องนอมินีของกรมพัฒนาธุรกิจที่สรุปว่า ชินคอร์ปละเมิดกฎหมายผู้ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว


นายฟุนปฏิเสธว่า ดีลครั้งนี้ไม่ได้มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

"การลงทุนครั้งนี้เกิดจากการตัดสินใจในเรื่องพาณิชย์อย่างแท้จริง และเทมาเส็กไม่ต้องการเข้ามาแทรกแซงการบริหารของชินคอร์ปแต่อย่างใด โดยเทมาเส็กมีตัวแทนอยู่ในบอร์ดบริหารเพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น"


หลังจากมีบรรณาธิการต่างชาติลุกขึ้นถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ดีลระหว่างชินคอร์ปและเทมาเส็กจะส่งผลทางอ้อมให้เกิดการยึดอำนาจในไทย และทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหมดอำนาจ


โดยนายลีตอบว่า เทมาเส็กตัดสินใจเกี่ยวกับการค้าบนพื้นฐานของผลประโยชน์ในระยะยาว และการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลก็เกิดขึ้นก่อนที่ดีลระหว่าง 2 บริษัทจะมีขึ้นด้วย เพียงแต่หลังจากเซ็นดีลแล้ว อุณหภูมิก็ร้อนขึ้น และในที่สุดก็ลงเอยอย่างที่เห็น

นายลีกล่าวด้วยว่า เทมาเส็กปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการไทยทุกประการ และ บริษัทก็มองถึงการดำเนินการในระยะยาว เพราะเป็นการลงทุนอย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์