ผลทดสอบจีที200 น่าพอใจ พร้อมเปิดรายงานให้สาธารณทราบใน1เดือน

ทดสอบจีที 200 รวดเดียว 20 รอบในหนึ่งวัน ได้ผลน่าพอใจ "คุณหญิงกัลยา" การันตีใช้ 3 ทีมทดสอบโปร่งใส เสร็จแล้วให้สื่อมวลชนเข้าไปในพื้นที่ได้ ผอ.เนคเทคเผยพร้อมเปิดข้อมูลวิธีการทดสอบจะรายงานให้ประชาชนทราบภายใน 1 เดือน

ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 ตามขั้นตอนการทดสอบที่เรียกว่า Double-Blind Test โดยซ่อนสารระเบิดซีโฟร์น้ำหนัก 1.25 ปอนด์ ประมาณ 567 กรัม ห่อด้วยพลาสติคมิดชิด ซ่อนในกล่อง 4 ชิ้น โดยมีของจริงเพียง 1 ชิ้น นำไปวางในตำแหน่งที่ต่างกัน จากนั้นทำการค้นหา 20 ครั้ง แต่ละครั้งมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง มีกรรมการทดสอบซึ่งแบ่งออกเป็น 3 คณะ คือ น.ส.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานการทดสอบ กรรมการฝ่ายซ่อนหาวัตถุ มีนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าฝ่ายซ่อน และมีกรรมการฝ่ายค้นหา มีพันเอกทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย กองทัพบก เป็นหัวหน้าฝ่ายค้นหา ทั้งนี้ สื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ทดสอบเพื่อทำให้เกิดความเสถียร ทั้งในเรื่องอุณหภูมิของห้อง ของวัตถุ ซึ่งหากมีบุคคลอื่นเข้าไปจะทำให้อุณหภูมิความชื้นเปลี่ยนไป


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 ว่า

คณะอนุกรรมการหลัก 3 คณะ คือ 1.ประธานการทดสอบ 2.กรรมการฝ่ายซ่อนวัตถุ และ 3.กรรมการฝ่ายค้นหาวัตถุ ทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีอุปสรรค เมื่อทดสอบเสร็จทั้ง 20 ครั้งแล้ว จะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปในพื้นที่ได้ รับรองว่าโปร่งใส เรียบร้อย มิดชิดรอบคอบเพื่อให้ทุกอย่างเป็นเป็นที่สบายใจซึ่งกันและกัน นักวิทยาศาสตร์มีความตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ขั้นตอนแรกจะตรวจวัตถุโดยเครื่องตรวจวัตถุที่ใช้ที่สนามบิน จากนั้นจะนำสารวัตถุระเบิดทั้ง 4 ชิ้น เข้าไปยังห้องซีที สแกน (CT Scan) เพื่อตรวจสอบหาสารวัตถุระเบิด ซึ่งจะมีการถ่ายถอดสดผ่านจอแอลซีดีให้สื่อมวลชนสังเกตการณ์ขั้นตอนการสแกนสารวัตถุระเบิดทั้ง 4 ชิ้นได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ให้สื่อช่วยเป็นพยาน


จากนั้น น.ส.สุจินดาได้นำวัตถุตัวอย่างบรรจุลงกล่องและสุ่มลูกปิงปองเพื่อระบุหมายเลขแต่ละกล่อง

และจะบันทึกหมายเลขวัตถุตัวอย่างที่เป็นสารระเบิดและปิดผนึกใส่ซองเก็บใส่ตู้เซฟ ซึ่งจะเปิดอีกครั้งพร้อมกับผลการทดสอบที่เจ้าหน้าที่แต่ละชุดบันทึกผล และบรรจุลงซองทุกครั้งที่ทดสอบ จากนั้นจึงจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพห้องทดสอบและห้องคณะกรรมการทั้งหมดได้


นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยเนคเทค ในฐานะโฆษกคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจระเบิดจีที 200 ว่า การทดสอบเป็นที่น่าพอใจ

การทดสอบแบ่งเป็น 3 รอบ รอบแรกใช้เวลา 2 ชั่วโมงเศษทดสอบไปได้ 5 ทีม 5 รอบ เฉลี่ยรอบละ 25 นาที แบ่งเป็นทีมซ่อนใช้เวลาซ่อน 5 นาที และทีมค้นหาใช้เวลา 20 นาที รอบที่สองใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงได้เพิ่มอีก 10 ครั้ง รวมเป็น 15 ครั้ง และรอบสุดท้ายใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง การทดสอบครั้งนี้วัดประสิทธิภาพการค้นหาตามหลักสถิติ แต่หากเป็นในแง่วิทยาศาสตร์คงให้ ครม.เป็นผู้พิจารณา สำหรับการให้เวลาตรวจสอบและประเมินผลหลังจากทำการทดสอบเสร็จแล้ว จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารและพิจารณาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงกระบวน


"การทดสอบโปร่งใส ชัดเจน มีคณะกรรมการภายนอกและขอยืนยันว่ากระบวนการสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่ผลจะเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีใครแม้แต่คนเดียวทราบเพราะข้อมูลยังแยกกันอยู่ตู้เซฟเก็บข้อมูล ประมาณ 2-3 กล่อง ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดีจนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลพร้อมกันในที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ สำหรับผลการทดลองอย่างละเอียด คณะทำงานจะสรุปให้ข้อมูลวิธีการทดสอบทั้งหมดเป็นรายงานให้ประชาชนรับรู้ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังจากนี้" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์