เชื่อจีดีพีไทยโตร้อยละ 4.7


นายกฯ มั่นใจปีนี้จีดีพีไทยโตตามการประเมินของไอเอ็มเอฟ ยอมรับปัญหาทุจริต-การเมืองเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 3 ก.พ. ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนวิภาวดีรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 48 ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบรรยายพิเศษหัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งว่า ในข้อเท็จจริงตอนนี้ต้องยอมรับว่า เราตระหนักถึงอิทธิพลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยน้อยเกินไป เพราะทั้ง 2 อย่างมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับอีกอย่างคือ เศรษฐกิจของเราในปัจจุบัน ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือภาคเอกชน  ภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนการบริหารจัดการเท่านั้น รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่จากเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือเป็นความท้าทาย แต่เมื่อมาถึงปีนี้ เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้แล้ว และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด อย่างตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ติดลบถึงร้อยละ 7 แต่เมื่อมาถึงปลายปี 2552 โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นบวก และมีการคาดการณ์กันว่า การขยายตัวในปีนี้จะไม่เกินร้อยละ 3.5 แต่ปรากฏว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการณ์ว่า การขยายตัวของเศรฐษกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ซึ่งคงเป็นการประเมินที่ถูกต้อง และตรงกับที่เราวิเคราะห์ไว้เช่นกัน
               
นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตัวเลขพื้นฐานต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางบวก โดยเฉพาะการส่งออก รัฐบาลกำหนดเป้าหมายว่า ปีนี้การส่งออกจะขยายตัวถึงร้อยละ 14 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยติดลบถึงร้อยละ 20-30 ในเดือน ธ.ค.52 ตัวเลขเพิ่มขึ้นในเดือนเดียวถึง 1.6 ล้านคน อัตราการว่างงานปัจจุบันลดลงเหลือร้อยละ 1 จากเดิมที่มีคนว่างงาน 8 แสนคน เมื่อต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4-5 แสนคนเท่านั้น จึงถือว่า เศรษฐกิจของเราฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจต้องยอมรับว่า ยังมีอุปสรรคสำคัญ 3 ด้าน คือ การแข่งขันที่รุนแรงทางเศรษฐกิจ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และความแตกแยกทางการเมืองที่ถือเป็นอุปสรรคอย่างมาก ซึ่งการจะแก้ไขก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคม และประชาชนทุกภาคส่วน ที่ต้องร่วมกันสร้างการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ซึ่งจะสามารถทำให้การบริหารจัดการความแตกแยกทางความคิดเป็นไปอย่างมีระบบ และเสมอภาค โดยไม่มีความรุนแรง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์