วิเคราะห์การเมือง ต้องยึดหลักไว้ให้แน่น

โดยที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ได้นำความกราบบังคมทูลว่า


เหตุที่ทำการยึดอำนาจและประกาศ ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน

ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

อันเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่น ให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย จนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อันเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงทางสังคม

ความตอนหนึ่งในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ที่ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549


ย้ำเหตุการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชันของรัฐบาลชุดที่แล้ว และปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ

ตามมาด้วยเสียงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่

ฝ่ายบริหารจะให้ความร่วมมือมากที่สุด ในเรื่องของการดำเนินการจะยืนอยู่บนหลักของความยุติธรรม โดยใช้กฎหมาย และองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานทางด้านความยุติธรรมต่างๆ ถ้าหากต้องการหลักฐาน เอกสารต่างๆ เราก็พร้อมให้การสนับสนุนทุกเรื่อง

ยืนยันรัฐบาลชุดใหม่


จะสนับสนุนการตรวจสอบทุจริตคอรัปชันในรัฐบาลชุดที่แล้วอย่างเต็มที่

เหนืออื่นใด ก่อนหน้าที่คณะปฏิรูปฯจะแปลงสภาพมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพียงไม่กี่ชั่วโมง พล.อ.สนธิได้ออกประกาศฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ


ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 23


โละคณะกรรมการตรวจสอบชุดที่มีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน ซึ่งมีปัญหาขบเกลียวกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. ที่เป็นรองประธาน

พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่ 12 คน ประกอบด้วย

1. นายกล้านรงค์ จันทิก
2. นายแก้วสรร อติโพธิ
3. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
4. นายจิรนิติ หะวานนท์
5. นายนาม ยิ้มแย้ม
6. นายบรรเจิด สิงคะเนติ
7. นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์
8. นายสวัสดิ์ โชติพานิช
9. นายสัก กอแสงเรือง
10. นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์
11. นายอุดม เฟื่องฟุ้ง
12. นายอำนวย ธันธรา

ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการ


ที่ ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลใน ครม.หรือ ครม.ชุดที่แล้ว ที่สงสัยว่าจะมีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

โดยเพิ่มอำนาจให้ตรวจสอบสัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้าง ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่มีเหตุสงสัยว่าจะมีการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบหรือมีการทุจริต รวมทั้งให้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่รัฐหรือ หน่วยงานของรัฐที่สงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการกระทำที่ทุจริตประพฤติมิชอบ

ตลอดจนมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษีอากรทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ที่สำคัญ ยังมอบดาบให้คณะกรรมการตรวจสอบ มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคล


ที่ถูกตรวจสอบและมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต ประพฤติมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ รวมไปถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้

อำนาจล้น ครอบจักรวาล

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันได้เริ่มงาน นายสวัสดิ์ หนึ่งในกรรมการชุดใหม่ก็ชิงลาออก โดยอ้างว่าลูกหลานต้องการให้พักผ่อน รวมทั้งอึดอัดใจที่มีคนบางคนไม่เชื่อมั่นในความเป็นกลางของตัวเอง

แน่นอน เมื่อคนที่มีดีกรีเป็นถึงอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความยุติธรรมในการทำหน้าที่ ไขก๊อกถอนตัวออกไป

ทำให้อรหันต์ตรวจสอบทรัพย์สินที่เหลือ 11 คน


กลายเป็นที่จับตาของสังคมว่า การทำหน้าที่จะมีความเที่ยงธรรม ยึดมาตรฐานความยุติธรรม มากน้อยแค่ไหน

เพราะที่ผ่านมา ทั้งนายนามที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ นายแก้วสรร เลขานุการคณะกรรมการฯ นายสัก โฆษกคณะกรรมการฯ รวมถึงคุณหญิงจารุวรรณ ที่เป็นกรรมการฯ

ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม ทักษิณ ทั้งสิ้น

ถ้าไม่ยึดหลักกฎหมายและหลักความยุติธรรมไว้ให้แน่น

ระวังกระแสจะตีกลับ.


แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์