อำนาจหมด ตอผุด ขุดคุ้ย สนามกอล์ฟอัลไพล์

มีชัย ทวงถามใครเอ่ย ? ต้องรับผิดกรณี สนามกอล์ฟอัลไพน์ "เพื่อให้ความยุติธรรมเดินหน้าต่อไปได้"


จากประชาชาติธุรกิจ

สัปดาห์ที่ผ่านมาคนที่รับใช้ระบอบทักษิณถูกเช็กบิลไม่เว้นแต่ละวัน วันพฤหัสฯ (28 ก.ย.) พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชิงยื่นใบลาออกกับนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปเรียบร้อยแล้ว โดยอ้างว่าจะไปทำงานส่วนตัว


ล่าสุด "พิบูลรัฐ รักยุติธรรม" ได้ตั้งกระทู้ถาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เจ้าของเว็บไซต์ meechaithailand.com และประธานร่างรัฐธรรมนูญการปกครองว่า


ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาฯเคยให้แนวทางในเรื่องที่ดินที่เป็นมรดกของวัดที่มีการนำมาจัดสรรส่วนหนึ่งและเป็นสนามกอฟล์อัลไพน์ส่วนหนึ่งนั้น ทำไมไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียที

เรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาเป็นบรรทัดฐานไว้หลายฎีกา และไม่มีอายุความ น่าจะทำให้ถูกต้อง ไม่ควรปล่อยให้ผิดกฎหมายต่อไปอย่างไม่รู้จบ เป็นหน้าที่ของผู้ใด หน่วยงานใด ที่จะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง หรือว่าทักษิณอยู่เหนือกฎหมาย ไม่มีใครกล้าแตะต้อง เรื่องนี้นักกฎหมายเข้าใจดีทุกคน (ครับ)



นายมีชัยตอบคำถามแบบสั้นๆ แต่ตรงประเด็นว่า ว่างๆ ก็น่าจะลองไปกล่าวโทษอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นคนทำเรื่องนี้ดู ความยุติธรรมจะได้เดินหน้าต่อไปได้



เมื่อย้อนกลับไปดูปลัดกระทรวงมหาดไทยในช่วงเกิดเหตุมีเพียงคนเดียวคือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ คนนี้นี่เอง


จริงๆ แล้วกรณีสนามกอล์ฟปรากฏอยู่ในสำนวนคดีซุกหุ้น โดยตอนหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (22 เมษายน 2542) ว่า


"สนามกอล์ฟนี้นะครับ ราคาที่ผมจ่ายไป 500 ล้าน มีที่อยู่ประมาณเกือบ 500 ไร่ และมีคลับเฮาส์หลังเบ้อเร่อ สร้างด้วยเงินร้อยกว่าล้าน worth ไหมครับ

และเป็นสนามกอล์ฟที่ใช้แข่งเอเชียนเกมส์ เพราะฉะนั้นไม่เป็นการช่วยเหลือหรอกครับ เป็นการซื้อกันทางธุรกิจในฐานะคนรู้จักกันมาเจรจาค้าขายกันและมองว่าเป็นสิ่งที่ worth ที่จะซื้อกัน ผมก็เลยซื้อก็เท่านั้น

คงไม่เป็นเรื่องบุญคุณ ผมไม่ได้มีบุญคุณอะไรกับคุณเสนาะ (เทียนทอง) เป็นเรื่องของผม เพราะคุณเสนาะมาเสนอขาย ราคามันสมเหตุสมผล ผมก็เลยซื้อ บังเอิญเป็นคนรู้จักกันเท่านั้นเอง"


นี่คือปฐมบทที่ทักษิณ หรือเอสซี แอสเสท ไปซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของวัดธรรมิการามวรวิหาร มรดกนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา



"ประชาชาติธุรกิจ" ตามค้นคว้ากลับไปดูคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขที่ 73/2544 พบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีนายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในยุคนั้น ฟันธงไว้แบบชัดๆ โต้งๆ แบบดิ้นออกทางอื่นไม่ได้ หากไม่มีเจตนาซ่อนเร้น


ครั้งนั้นนายชัยวัฒน์สรุปแบบฟันธงว่า กรณีของที่ดินมรดกสองแปลงของนางเนื่อมที่เป็นปัญหานี้


นางเนื่อมได้สั่งไว้ในพินัยกรรมว่า ยกให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมจึงชอบแต่จะจัดการจำหน่าย จ่าย โอน ที่ดินมรดกให้แก่วัด ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมเท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นที่พินัยกรรมมิได้ระบุให้เป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้


สำหรับพินัยกรรมที่ระบุให้เจ้าอาวาสวัด จัดการมอบอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินซึ่งได้แก่วัด รวมทั้งสิ้นแก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยช่วยจัดทำผลประโยชน์เพื่อใช้บำรุงวัดนั้น


ย่อมมีเจตนาเป็นเพียงการมอบหมายให้มูลนิธิดำเนินการจัดหาผลประโยชน์จากที่ดินมรดกแทนวัด ไม่ใช่ให้มูลนิธิ เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวต่อจากวัดแต่อย่างใด

ดังนั้นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกที่ตกได้แก่วัดตามพินัยกรรมให้แก่มูลนิธิ ตามความในข้อ 4 ของพินัยกรรม จึงย่อมเป็นอันตกไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิ ในฐานะ ผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม จึงต้องโอนที่ดิน มรดกตามพินัยกรรมที่ระบุให้ตกแก่วัด ให้แก่วัด ได้เท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดไม่ได้ การโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากบุคคลที่ระบุให้เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกซึ่งไม่ผูกพันทายาทและจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 (21) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ชั่วโมงนี้เมื่อน้ำลด ตอย่อมผุดเป็นธรรมดา เรื่องแบบนี้กรรมใดใครก่อ (โยม)

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์