´สนธิ´ แย้มเป็นนัย ได้ชื่อแล้ว 1ตค.ตั้งนายกใหม่

"เป็นผู้มีบารมีพอสมควร และซื่อสัตย์สุจริต"


หลังจากที่ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกมาระบุสเปกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า เป็นผู้มีบารมีพอสมควรและซื่อสัตย์สุจริต พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คปค. ได้ออกมาระบุซ้ำว่า นายกฯคนใหม่ต้องเป็นคนที่สังคมยอมรับ และคาดว่าไม่เกินวันที่ 1 ก.ย.นี้ ได้เห็นโฉมหน้านายกฯคนใหม่แน่นอน

สนธิ เปิดใจหลังปฏิวัติครบ 7 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองบัญชาการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (คปค.) กองบัญชาการกองทัพบกว่า เมื่อเวลา 08.40 น. วานนี้ (26 ก.ย.) เป็นวันครบกำหนด 1 สัปดาห์ ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คปค. ได้นำกำลังทหารปฏิวัติเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เมื่อค่ำวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.สนธิได้นัดพบสื่อมวลชนสายทหาร เพื่อชี้แจงถึงผลการปฏิบัติในช่วง 1 สัปดาห์ของ คปค. โดยเปิดโอกาสให้ซักถามอย่างเป็นกันเอง พล.อ.สนธิมีใบหน้ายิ้มแย้มผิดปกติ ภายหลังจากที่ประสบกับปัญหาสภาวะตึงเครียด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยก่อนแถลงข่าว พล.อ.สนธิได้โชว์ตารางการทำงานของ คปค. ที่นับวันถอยหลังใกล้จะหมดวาระครบ 2 สัปดาห์ ในวันที่ 4 ต.ค.นี้

คณะมนตรีฯไม่ควบคุมรัฐบาลใหม่

หลังจากนั้นสื่อมวลชนได้เริ่มซักถามว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 สัปดาห์ ที่กองทัพได้มีการยึดอำนาจจากรัฐบาล การทำงานของคณะปฏิรูปฯมีความคืบหน้าไปถึงไหน พล.อ.สนธิกล่าวว่า จริงๆแล้ว ผมทำเวลาถอยหลัง จากวันที่ 19 ก.ย.ถึงวันที่ 4 ต.ค. ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่พูดไว้ งานที่สำคัญๆโดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ขณะนี้ตัวร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่วันนี้จะเชิญนักวิชาการครูบาอาจารย์ประชาชนบางส่วนเข้ามาดู และช่วยกันแก้ไขอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในวันนี้ และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

คาดว่าจะเป็นวันที่ 30 ก.ย.หรือ 1 ต.ค.นี้ สำหรับคณะปฏิรูปฯจะแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคง โดยจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงคงไม่ใช่ไปดูแลรัฐบาลใหม่ เพราะคงไม่มีความสามารถขนาดนั้น แต่จะเป็นที่ปรึกษาในขีดความสามารถที่เรามีอยู่ เพราะอย่าลืมว่าสถานการณ์ข้างหน้า สถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรนั้น คงยังตอบไม่ได้ เวลานี้ทุกคนมองว่าสงบเรียบร้อย แต่ยังไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น

ทักษิณ กลับเมื่อไหร่ตัดสินใจเอง


ผู้สื่อข่าวถามว่าในระยะเวลา 2 สัปดาห์ คปค.จะมีการถอนตัวไปตามสัญญาหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกมาแล้ว และวันที่ 4 ต.ค.ครบกำหนด 2 สัปดาห์ ยังยืนยันตรงนั้น ตอนนี้ทำเวลาถอยหลังไว้ ส่วนการหมดสภาพของคณะมนตรีความมั่นคงนั้น ถ้าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กล่าวถึง เราก็จบเมื่อ รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ เมื่อถามว่าที่ผ่านมา พ.ต.ท. ทักษิณติดต่อขอเข้ามาในประเทศหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า

ส่วนใหญ่ให้ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คปค. เป็นผู้ประสาน เมื่อถามว่าจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยได้เมื่อใด พล.อ.สนธิตอบว่า เรียนไปแล้วว่าทุกคนเป็นคนไทยมีสิทธิ์เข้ามาในประเทศไทย แต่ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างสับสน คงยังไม่เข้ามา คิดว่าเช่นนั้น เมื่อถามว่าการติดต่อประสานเพื่อให้กลับมาหรือขอร้องไม่ให้กลับมา พล.อ.สนธิตอบว่า ที่ผ่านมามีการประสานกัน เป็นเรื่องของคนที่ประสาน ความจริงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็คงพิจารณาเองอยู่แล้วว่า สถานการณ์ยังไม่นิ่ง คงตัดสินใจเองอยู่แล้ว

ยึดทรัพย์หรือไม่ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงหรือไม่ว่าอดีตนายกฯจะกลับมาเป็นหัวในการเคลื่อนไหวต่อต้าน คปค. พล.อ.สนธิ ตอบว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ประกาศผ่านทางคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาชัดเจน เมื่อถามถึงการอายัดหรือยึดทรัพย์ ของอดีตนายกฯและอดีตรัฐมนตรี พล.อ.สนธิตอบว่า ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช. เป็นคนดำเนินงาน ขั้นตอนคือ เมื่อ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นมาแล้ว จะมีคณะกรรมการตรวจสอบโครงการต่างๆที่ไม่ค่อยเรียบร้อย และก็ดำเนินการตามกฎหมายแต่ละโครงการ

ส่วนการตรวจสอบในส่วนอดีตรัฐมนตรีนั้น ขึ้นอยู่กับโครงการที่เขาถูกตรวจสอบอยู่ คปค.ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ให้เสรีเขาเข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้ วันที่ 26 ก.ย.นี้ จะคุยกับประธาน ป.ป.ช. และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. เมื่อถามถึงการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ขณะนี้กำลังสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ต้องดูกระแสจากสังคมด้วย

และดูว่าต้องการนายกรัฐมนตรีแบบไหน ก็มีความตั้งใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาในอดีต ทำให้รู้ว่าควรสรรหานายกรัฐมนตรีแบบไหน คปค.ก็ได้ปรึกษาหารือกันถึงคุณลักษณะนายกรัฐมนตรีกันค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้พูดกันว่ามีใครบ้าง ในส่วนของตนก็มีคนในใจอยู่แล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยตรงนี้ เพราะว่าจะทำให้หลายคนที่มีชื่อที่เราพูดถึงแต่หากเขาไม่ได้มา ก็จะเกิดความไม่สบายใจขึ้น

ทหารเกษียณเป็นพลเรือนเต็มขั้น

ผมคิดว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะเข้ามาในระยะเวลาสั้นๆ เราต้องมองในภาพของสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต อันที่สอง คือเรื่องการสมานฉันท์ ความรักความสามัคคี พล.อ.สนธิกล่าว

เมื่อถามว่า ต้องเลือกนายกฯที่เป็นที่ยอมรับและมีบารมีพอที่ทุกฝ่ายจะรับฟังใช่หรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ต้องเป็นคนที่สังคมยอมรับดีกว่า เมื่อถามว่าเป็นนายกฯพลเรือนหรือไม่นั้น พล.อ.สนธิกล่าวว่า คำว่าพลเรือนมีความหมายหลายอย่าง ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าอดีตนายทหารที่เกษียณถือว่าเป็นพลเรือนหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า อย่างตนเกษียณแล้วก็เป็นพลเรือนเต็มขั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะลำบากใจหรือไม่ว่า บุคคลที่เลือกมียศทางทหารนำหน้าอยู่

แต่ออกนอกราชการไปแล้ว จะอธิบายต่อสังคมอย่างไร พล.อ.สนธิตอบว่า อันนี้ค่อยว่ากันอีกครั้ง ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นใคร ผู้สื่อข่าวซักว่าแต่ตอนนี้มีชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เข้ามาอยู่ในแคนดิเดต พล.อ.สนธิตอบว่า ก็ไม่รู้ ต้องถามพวกเรา เพราะสื่อมวลชนเป็นคนนำชื่อออกมา ถามต่อว่าองคมนตรีจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯได้หรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ก็ไม่รู้เหมือนกัน ต้องถามอีกทีหนึ่ง

เก็งชื่อนายกฯไว้แต่ยังไม่บอกใคร


เมื่อถามถึงกรณีที่มีชื่อนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) พล.อ.สนธิตอบว่า อย่างที่บอกว่าตนเก็งชื่อใครไว้ ยังไม่เคยบอกใครเลย ขออนุญาตว่าไม่ขอเปิดรายชื่อ แต่ยืนยันว่า คปค.ทุกคนต้องมาคิดและคัดสรรนายกรัฐมนตรีร่วมกัน ผู้สื่อข่าวถามว่าหากกรณีที่หลายคนมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน หัวหน้าคณะปฏิรูปฯจะเป็นผู้ตัดสินใจสูงสุดหรือไม่ ในฐานะที่สละชีวิตทำการรัฐประหาร พล.อ.สนธิหัวเราะก่อนจะตอบว่า

แหมต้องถึงกับสละชีวิตหรือ แต่ความจริงตอนนี้ก็สละชีวิตไปพอสมควร ตกลงคือเราใช้ประชาธิปไตย เสียงข้างมากเป็นตัวตั้ง ผู้สื่อข่าวถามว่า คปค.จะเสนอบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 คน ขึ้นทูลเกล้าฯ พล.อ.สนธิตอบว่า ไว้ศึกษาเรื่องความเหมาะสมอีกครั้ง ต้องยอมรับว่าเราไม่ค่อยมีความรู้มากนัก เมื่อถามว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีส่วนในการช่วยคัดเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ไม่เกี่ยว ไม่ยุ่ง ที่ไปก็ไปขอคำแนะนำ ไปปรึกษาในบางเรื่องที่เราไม่มีความรู้ ก็แนะนำว่าให้เลือกคนดีๆ

ป๋าเปรม เป็นห่วงเรื่องของอนาคต

เมื่อถามว่าเดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรมได้หารือเรื่องใดบ้างเกี่ยวกับการทำงานของ คปค.หรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ไม่ เป็นห่วงเรื่องของอนาคตมากกว่า เป็นห่วงเรื่องนายกฯ เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ดูให้ดีและให้เรียบร้อย เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.เปรมได้ให้ข้อแนะนำหรือไม่ พล.อ. สนธิตอบว่า ไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติม เมื่อถามถึงความชัดเจนตัวรัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราว จะตั้งเต็มทุกกระทรวงหรือเฉพาะที่จำเป็น พล.อ.สนธิตอบว่า ในรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้จะมีรัฐมนตรี 35 คน รวมนายกฯก็เป็น 36 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีใหม่จะเอาอะไรก็แล้วแต่ เราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เมื่อถามว่าจะมีตำแหน่งรัฐมนตรีคนใดที่จำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เลือก พล.อ.สนธิตอบว่า ผมจะให้ท่านเป็นผู้เลือก ผมจะไม่ยุ่ง

ไม่เกิน 1 ต.ค.ได้ตัวนายกฯใหม่

พล.อ.สนธิกล่าวว่า จะพยายามดำเนินการหานายกฯเพื่อทูลเกล้าฯให้เร็วที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็คงเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 1 ต.ค. และการทูลเกล้าฯนายกและ ครม.นั้นแยกคนละส่วน ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ร่างไว้จะมีรัฐมนตรี 35 คน ไม่รวมนายกฯ ก็ขึ้นอยู่กับนายกฯว่าจะเลือกอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน เราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง นายกฯจะเลือกรัฐมนตรีเอง ส่วนที่ห่วงว่าทหารและอดีตทหารจะเข้าไปเป็นรัฐมนตรีนั้น คิดว่าเป็นเรื่องของความสามารถ เพราะเรามีเวลาที่เข้ามาดูแลน้อย คิดว่าคงจะทำงานเฉพาะหลัก ที่จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ไม่ทราบว่ามีหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นผู้เลือกเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯคนใหม่จะมีอิสระจาก คปค.มากน้อยแค่ไหน เพราะในอดีตนายกฯมักจะต้องปรึกษาหารือคณะปฏิรูปก่อน พล.อ.สนธิตอบว่า คิดว่าเป็นเสรีของนายกฯใหม่ เพราะความสามารถท่านสูงกว่าเรา เมื่อถามย้ำว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่ถูกครอบงำ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ยืนยัน เพราะนิสัยของ คปค.ทุกคน ไม่ใช่ลักษณะนิสัยอย่างนั้นอยู่แล้ว

มั่นใจกองทัพเชื่อไม่มีปฏิวัติซ้อน


เมื่อถามว่าจนถึงปัจจุบันจะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการปฏิวัติซ้อนหรือการต่อต้าน ได้มีการประเมินสถานการณ์หรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า เรื่องปฏิวัติซ้อนคิดว่าไม่มี แต่ปัญหายังไม่แน่ ตอนนี้กำลังเกาะสถานการณ์ อยู่ ส่วนการรวมกลุ่มที่มีอยู่ เช่นการรวมกลุ่มที่ธรรมศาสตร์นั้น คงเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เรื่องของความคิดเราไม่ว่ากัน การแสดงออกนำไปสู่วิถีทางในการช่วยกันแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เมื่อถามถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร

ตท. 10 เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ที่คุมตำแหน่งหลัก พล.อ.สนธิตอบว่า ปัญหาอยู่ที่ความมั่นคงในอนาคต เราต้องวางแนวความคิดไว้ด้วย ต้องการให้อนาคตเป็นสิ่งที่ดีของกองทัพ เมื่อถามย้ำว่าต้องโยกย้ายในตำแหน่งที่คุมกำลัง เพื่อรับประกันความมั่นใจว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวด้านกำลังในกองทัพใช่หรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ เพราะทุกคนรักชาติและรักสถาบัน ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน มิเช่นนั้นคงไม่เรียบร้อยอย่างนี้

ยืนยัน ตท.6 ไม่จองตำแหน่งหลักๆ

เมื่อถามว่าบัญชีโยกย้ายนายทหารที่มีปัญหาเพราะการตกลงเรื่องรุ่นไม่ลงตัวใช่หรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เพราะระบบเปลี่ยน สถานการณ์ เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน และคนก็เปลี่ยนเท่านั้นเอง ส่วนที่มีกระแสข่าว ตท.6 ได้จองตำแหน่งหลักๆไว้ใช่หรือไม่นั้น ยืนยันไม่มี ปีหน้าก็จะเกษียณเกือบหมดแล้ว คงจะไม่รอจองตำแหน่งหลัก เพราะจะไม่รับแล้ว เมื่อถามว่าเพราะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ ตท.6 จึงทำให้เกิดการปฏิรูปครั้งนี้สำเร็จหรือไม่ เพราะคณะปฏิรูปฯ ส่วนใหญ่เป็น ตท.6 ทั้งหมด พล.อ.สนธิตอบว่า มันบังเอิญเฉยๆ

ชาญชัย ปฏิเสธข่าวถูกทาบทาม

ที่บ้านซอยสุขสวัสดิ์ 66 นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์กรณีเป็นหนึ่งในผู้มีรายชื่อที่อาจจะได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า หลังจากที่มีข่าวว่าเป็นผู้ที่อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่ามีทั้งเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิดโทรศัพท์มาให้กำลังใจเป็นระยะๆ แต่ขอยืนยันว่ายังไม่ได้รับการติดต่อทาบทามจากใครทั้งสิ้น

จึงไม่ สามารถบอกได้ว่าจะตัดสินอย่างไร ทั้งนี้ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ภารกิจที่สำคัญมาก เพราะต้องแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ชาติ ส่วนตัวเห็นว่าคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ด้านกฎหมายและเศรษฐกิจควบคู่กัน เพราะต้องแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนั้น ต้องเป็นบุคคลที่มีภาพลักษณ์ดีด้วย

ต้องเก่งทั้งกฎหมายและเศรษฐกิจ

นายชาญชัยยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาลของ คปค.ว่า นายศุภชัยเป็นคนเก่งและมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศ แต่การที่เคยสังกัดพรรคการเมืองอาจจะถูกวิจารณ์ในเรื่องความเป็นกลางได้

แต่เชื่อว่านายศุภชัยจะสามารถแยกแยะบทบาทในการช่วยเหลือประเทศชาติได้ ส่วนการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอดีต ครม.ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานนั้น เชื่อว่าไม่ใช่เป็นการเช็กบิล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสวัสดิ์ได้ยืนยันชัดเจนว่า จะทำหน้าที่ตามขอบเขตไม่กลั่นแกล้ง นักการเมืองคนใด หากพบว่ามีความผิดจริงก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

สุรยุทธ์ เข้าประชุมองคมนตรี


ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ที่อาจได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น วันเดียวกัน ที่ทำเนียบองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เป็นประธานการประชุม โดยมีองคมนตรีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ เป็นการประชุมตามวาระเป็นประจำทุกวันอังคาร ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมองคมนตรี พล.อ.เปรมได้เดินทางออกจากทำเนียบองคมนตรี

โดยใช้ประตูทางเข้าด้านหน้า อย่างไรก็ตามเมื่อรถของ พล.อ.เปรมเคลื่อนออกมาจากทำเนียบองคมนตรี ได้ยกมือโบกไปมาเพื่อทักทายบรรดาสื่อมวลชน ที่ติดตามข่าว ตามที่มีกระแสข่าวว่าทาง คปค.ได้มีการพิจารณา ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 โดย พล.อ.สุรยุทธ์ได้ออกมาขึ้นรถออกไป โดยที่ไม่ได้ทักทายหรือให้หยุดสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่สื่อมวลชนต่างไปดักรอสัมภาษณ์ พล.อ.สุรยุทธ์ที่บริเวณทางเข้าประตูด้านหน้าทำเนียบองคมนตรี พร้อมกับมีการถ่ายภาพ ได้มีเจ้าหน้าที่ของทำเนียบองคมนตรี ได้มาขอร้องให้สื่อมวลชนหยุดถ่าย เพราะไม่อยากให้สื่อมวลชนเกิดความเข้าใจผิดว่า เพราะการประชุมวันนี้เป็นการประชุมตามวาระปกติไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

ตีรณ ไม่ยืนยัน ศุภชัย รับตำแหน่ง

นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) สมัยที่ดำรงตำแหน่งรองนายกฯในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้รับการประสานจาก คปค.ให้ติดต่อนายศุภชัยจริง แต่ไม่ขอยืนยันว่านายศุภชัยจะรับตำแหน่งหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ คปค. และนายศุภชัยเอง

รวมทั้งไม่ทราบข้อเท็จจริงว่านายศุภชัยจะเดินทางกลับไทยวันที่ 26 ก.ย. หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้นายศุภชัยเคยบอกว่า จะไปประชุมที่ประเทศเกาหลีในสัปดาห์นี้ และไม่รู้ว่าจะแวะเมืองไทยก่อนหรือไม่ นายประพันธ์ คูณมี เลขานุการส่วนตัว น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ส่งคำชี้แจงไปยังสำนักพิมพ์ทุกแห่ง ถึงข่าวที่ว่า น.ต.ประสงค์ได้ทาบทามนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้นำเสนอต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีนั้น ขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง การดำเนินการเพื่อเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ คปค.นั้น น.ต. ประสงค์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

รองพล สั่งปลดรูป-ชื่อ ทักษิณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ภายหลังจากที่ คปค.ได้มีคำสั่งให้นายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการ ครม. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มารักษาการปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ปรากฏว่า มีรายงานว่านายรองพลเกรงจะตกเป็นที่จับตาหรือไม่ไว้ วางใจจาก คปค.เป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รื้อปลดป้ายชื่อห้องประชุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงเหลือเพียงคำว่าห้องประชุมเท่านั้น

รวมทั้งได้ปลดรูปขนาดใหญ่ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ติดอยู่หน้าประตูก่อนเข้าห้องประชุมชั้นในอีกด้วย ส่วนภายในห้องประชุมก็มีการรื้อข้อความซึ่งเขียนถึงประวัติของ พ.ต.ท.ทักษิณขณะเป็นนายกฯออกจนไม่เหลือซาก อย่างไรก็ตาม เท่าที่สอบถามจากเจ้าหน้าที่ สปน.ระบุว่า ตามประเพณีปฏิบัติแล้วการตั้งชื่อห้องประชุมของ สปน.มีหลักการว่าให้ใช้ชื่อของอดีตปลัดสำนักนายกฯคนเก่าๆมาตั้งชื่อ แต่สมัยที่นายรองพล เข้ามานั่งตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกลับยืนยันว่าต้องการให้ใช้ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นชื่อห้องประชุมที่ใหญ่โตและมีการตกแต่งใหม่อย่างหรูหรามากที่สุด

สนธิ เชิญคณบดีรัฐศาสตร์ถก รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.15 น.วันเดียวกัน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คปค. ได้เชิญคณบดีจากคณะรัฐศาสตร์จาก 4 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ รามคำแหงและสุโขทัยธรรมาธิราช เข้าร่วมหารือที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้งนี้มี พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาฯคปค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างธรรมนูญชั่วคราว และนายจรัล ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา เข้าร่วมด้วย

นายทวี สุรฤทธิกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มสธ. เปิดเผยภายหลังเข้าพบว่า ทาง พล.อ.สนธิได้ขอร้องให้นักวิชาการที่เข้าพบไปทำความเข้าใจกับลูกศิษย์และประชาชน เพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของ คปค. ในเรื่องของการยึดอำนาจตามที่ได้มีแถลงการณ์ออกไป คือต้องการแก้ปัญหาประเทศชาติ และการปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้น จากนั้นทางนายมีชัยได้สรุปสาระสำคัญของธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งมีทั้งหมด 39 มาตรา ให้พวกตนรับทราบ และได้เปิดโอกาสให้มีการซักถาม โดยประเด็นที่มีการสอบถามกันมากคือมาตรา 3 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษยชนว่า จะรวมถึงการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนด้วยหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบจากนายมีชัยว่ารวมอยู่ด้วย

ตั้ง 35 อรหันต์ยกร่างรัฐธรรมนูญ


นายทวีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้รับการชี้แจงว่า หลังจากที่ธรรมนูญชั่วคราวประกาศใช้แล้ว ก็จะมีการตั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม. อีกส่วนหนึ่งก็จะมีการตั้งสภามนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดยสภามนตรีความมั่นคงฯจะแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 250 คน ทำหน้าที่เหมือนรัฐสภา และมีหน้าที่ออกระเบียบสรรหาตัวแทนประชาชนจากทุกภาคทั่วประเทศ รวมทั้งตัวแทนจาก อบจ.และ อบต. 2,000 คน เรียกว่าสมัชชาแห่งชาติ

จากนั้นทางสมัชชาแห่งชาติก็จะมาประชุมเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน และนำรายชื่อที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเลือกให้เหลือ 100 คนเรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญกับประธานสภานิติบัญญัติ อาจจะเป็นคนเดียวกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัว จากนั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญก็จะไปสรรหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ 25 คน

รวมทั้ง 10 คนที่จะมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติคัดเลือกมา รวม 35 คนมาเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาดูว่าควรมีอะไรเพิ่มเติมหรือปรับแก้ จากนั้นก็จะส่งกลับมาให้กรรมการยกร่าง 35 คนไปดำเนินการตามข้อแนะนำ และนำกลับมาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อให้เห็นพ้องต้องกัน ก่อนที่จะทำประชาพิจารณ์เป็นรายมาตราต่อไป

ทุกขั้นตอนใช้เวลาไม่เกิน 300 วัน

นายทวีกล่าวว่า หากไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆมาใช้แทน เช่นรัฐธรรมนูญปี 40 ทั้งนี้ ได้มีการเขียนข้อกำหนดไว้ด้วยว่า ห้ามกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 35 คน เข้ามาเล่นการเมืองหรือมีส่วนได้เสียทางการเมือง ภายในระยะเวลา 2 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 300 วัน นับตั้งแต่ เริ่มมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มสธ.กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่จะให้มีการนิรโทษกรรม คปค.นั้นไม่ได้มีการเขียนไว้ในธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะสามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาตามหลังได้เหมือนสมัย รสช. ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการยึดอำนาจที่ต้องมีการเขียนเรื่องการนิรโทษกรรมไว้ ซึ่งทาง พล.อ.วินัยได้ชี้แจงว่าเหตุที่ไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะอยากให้สังคมมอง คปค.ในแง่บวก

ยืนยัน คปค.ไม่มีทางเหมือน รสช.

นายทวีกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้มีคำถามกันมากในที่ประชุมว่า สภามนตรีความมั่นคงจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของรัฐบาลต่อไปมากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องนี้นักวิชาการหลายคนไม่ค่อยสบายใจ ซึ่งทาง พล.อ.วินัยและนายมีชัยได้บอกว่าไม่ใช่ การตั้งสภามนตรีความมั่นคงไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น แต่ต้องการเพียงแค่เข้ามาดูแลชั่วคราวเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง โดยนายมีชัยได้ชี้แจงว่าสภามนตรีความมั่นคง มีไว้เพื่อคุ้มครองรัฐบาลที่เปราะบาง

ไม่ใช่มาจากกองทัพ แต่ต้องการป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจเงิน และเงินทุนจากต่างชาติด้วย ประเด็นเรื่องทหารยึดอำนาจ หรือจะใช้ความรุนแรงลืมไปได้เลย จะไม่เหมือนสมัย รสช.ที่คนคุ้มครองมาเป็นรัฐบาลเอง อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางคนที่ร่วมหารือด้วย ก็แย้งว่าทำไมถึงไม่ กำหนดเวลาการทำงานของคณะมนตรีความมั่นคงให้ แน่นอน ซึ่งนายมีชัยได้ชี้แจงว่าแม้ไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ เรื่องนี้จะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่รัฐบาลชั่วคราวต้องถือเป็นความรับผิดชอบของสภามนตรีความมั่นคงที่จะต้องดูแลต่อไป อย่างไรก็ตาม ทาง พล.อ.สนธิได้ยืนยันว่าสภามนตรีความมั่นคงจะไม่เข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับทั้งสภานิติบัญญัติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นผู้ที่คุ้มครองความมั่นคงของชาติ

นักวิชาการยันธรรมนูญชั่วคราวเยี่ยม


นายกำชัย จงจักรพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สาระในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เห็นว่าดีคือ ไม่มีบทมาตราให้อำนาจพิเศษ เช่น มาตรา 17 มาตรา 21 อย่างในอดีต มีบทบัญญัติในการให้สิทธิ เสรีภาพ แก่ประชาชนและสื่อสารมวลชน เหมือนที่เคยได้รับทุกประการ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 3 และมีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่มีหลักการและวิธีการในการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน

มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งได้สอบถามถึงความจำเป็นที่จะต้องคง คปค.ในรูปคณะมนตรีความมั่นคง ก็ได้รับคำตอบว่าจำเป็นเพราะไว้ป้องกันรัฐบาล ให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินไปด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตามได้เสนอความเห็นว่า ให้เขียนให้ชัดในมาตรานี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นมาตรา 35 ว่า วาระคณะมนตรีความมั่นคงจะอยู่เพียงเพื่อให้รัฐบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลเพื่อความถูกต้องต่อไป ก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ คปค.เอง ที่ไม่ประสงค์จะรักษาอำนาจตัวเอง ซึ่งประธานยกร่างและที่ประชุมก็เห็นด้วย

บวรศักดิ์ โบกมือลาเลิกช่วยงาน คปค.

วันเดียวกัน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการ ครม.ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คปค. ให้สัมภาษณ์ว่า ขอเรียนต่อสื่อมวลชนให้ทราบว่านับจากนี้ไปตนจะไม่เข้าไปร่วมในการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญอีก ไม่ว่าจะในฐานะสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือคณะที่ปรึกษาใดๆ แม้หากจะมีผู้ใดเสนอชื่อตนเข้าไปเป็นอะไรก็จะขอถอนตัว เนื่องจากตนประสงค์ ที่จะดำเนินการวิจัยทางวิชาการ เพื่อเสนอแนะทางวิชาการผ่านสื่อต่างๆ หากผู้ที่เกี่ยวข้องประสงค์จะใช้ความเห็นทางวิชาการของตนก็สามารถนำไปใช้ได้ หรือถ้าไม่ประสงค์จะใช้ก็ไม่ต้องใช้ นับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. ตนก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานฝ่ายกฎหมายที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานแล้ว

บอกปัดไม่เกี่ยวถูกนักวิชาการกดดัน

เมื่อถามว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเพราะถูกกระแสกดดันจากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและนักวิชาการบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการให้บุคคลที่เคยทำงานในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์ตอบว่า เรื่องนี้เป็นความตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่เข้าไปร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในตอนต้น จนขณะนี้ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวร่างแรกๆแล้ว เพราะถูกขอร้องให้มาช่วยทั้งจาก พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสมช. และเลขาธิการ คปค. และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะ คปค. รวมทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ในฐานะที่เคยปรึกษาหารือกัน ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ของบ้านเมือง ในยุครัฐบาลเก่า เมื่อประมาณ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ในตอนนั้นนายวุฒิพันธุ์ พิชัยรัตน ผอ.สำนักงบประมาณ ก็ร่วมรับรู้อยู่ด้วยถึงการหารือกันด้วยความเป็นห่วงบ้านเมือง

ดัน อมร นำทีมยกร่างรัฐธรรมนูญ


เมื่อถามว่า มองว่าสถานการณ์ขณะนี้ใครเหมาะสมที่จะเข้ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วยกันยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร นายบวรศักดิ์ตอบว่า โดยส่วนตัวอยากเสนอบุคคลรายชื่อดังต่อไปนี้ให้เข้ามาช่วยกันเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีคุณสมบัติความเหมาะสมคือ 1. นายอมร จันทรสมบูรณ์ 2. นายชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตประธานบอร์ดการบินไทย 3. นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว.กทม. 4. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา

ผู้ว่าการ สตง. 5. นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 6. นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการศาลฎีกา 7. นายสมคิด เลิศไพทูรย์ รองอธิการบดี มธ. 8. นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย 9. นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 11. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. และ 12. นายพิภพ ธงไชย

วิษณุ ถอยฉากตามญาติผู้น้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากนายบวรศักดิ์ ที่ตัดสินใจถอนตัวออกจากการช่วยงานด้านกฎหมายให้ คปค.แล้ว นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ก็มีรายงานข่าวระบุว่าได้ตัดสินใจในทำนองเดียวกัน โดยนายวิษณุก็ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คปค. ในวันเดียวกันนี้เช่นกัน ทั้งนี้ ตามโครงสร้างของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อมีการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จำนวน 100 คนเรียบร้อยแล้ว ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 35 คน โดยให้ สสร.คัดเลือกมา 25 คน และอีก 10 คนมาจากการแต่งตั้งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

คปค.ออกคำสั่งตั้งคณะที่ปรึกษา

วันเดียวกัน ได้มีคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 17 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา มีใจความว่า โดยที่ได้มีคำสั่ง คปค.ที่ 7/2549 เรื่องการจัดส่วนงานและการแบ่งมอบหน้าที่รับผิดชอบ ลงวันที่ 20 ก.ย. 2549 แล้วนั้น เพื่อให้การบริหารงานของ คปค. เป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน จึงแต่งตั้งบุคคลผู้มีรายนามต่อไปนี้

ประกอบกันเป็นคณะที่ปรึกษาตามคำสั่งดังกล่าว ดังต่อไปนี้ คณะที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธานที่ปรึกษา 2. นายเกริกไกร จิระแพทย์ เป็นที่ปรึกษา 3. นายโฆสิต ปั้นเปียมรัษฎ์ เป็นที่ปรึกษา 4. นายฉลองภพ สุขสังการ 5. คุณหญิงชฎา วัฒนสิริธรรม เป็นที่ปรึกษา 6. นายไชย ไชยวรรณ เป็นที่ปรึกษา 7. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นที่ปรึกษา 8. ศ.เทียนฉาย กีระนันท์ เป็นที่ปรึกษา 9. ศ.ปราณี ทินกร

เป็นที่ปรึกษา 10. นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นที่ปรึกษา 11. ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นที่ปรึกษา 12. ศ.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด เป็นที่ปรึกษา 13. รศ.วรพล โสคติยานุรักษ์ เป็นที่ปรึกษา 14. นายวีรไท สันติประภพ เป็นที่ปรึกษา 15. นายสันติ วิลาสศักดานนท์ เป็นที่ปรึกษา 16. นายศิวะพร ทรรทรานนท์ เป็นที่ปรึกษา 17. นายอาชว์ เตาลานนท์ เป็นที่ปรึกษา 18. ศ.อำมาร์ สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา 19. น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช เป็นที่ปรึกษา

พร้อมตั้งที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศ

คณะที่ปรึกษาฝ่ายการต่างประเทศ 1. นายวิทยา เวชชาชีวะ เป็นประธานที่ปรึกษา 2. นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร เป็นที่ปรึกษา 3. นายกำธร อุดมฤทธิ์รุจม์ เป็นที่ปรึกษา 4. นายเตช บุญนาค เป็นที่ปรึกษา 5. นายนิตย์ พิบูลสงคราม เป็นที่ปรึกษา 6. นายพิศาล มาณวพัฒน์ เป็นที่ปรึกษา 7. นายวิทย์ รายนานนท์ 8. นายสาโรช ชวนะวิรัตน์ คณะที่ปรึกษาฝ่ายด้านการเสริมสร้างจริยธรรม ธรรมภิบาล และการป้องกันการทุจริตและการประพฤติมิชอบ

1. รศ.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธานที่ปรึกษา 2. รศ.กำชัย จงจักรพันธ์ เป็นที่ปรึกษา 3. รศ.จรัญ เล็งวิทยา เป็นที่ปรึกษา 4. นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็นที่ปรึกษา 5. รศ.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นที่ปรึกษา 6. ผศ. ธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย เป็นที่ปรึกษา 7. รศ.บุญสม ศิริบำรุงสุข เป็นที่ปรึกษา 8. ศ.ผาสุข พงษ์ไพจิตร เป็นที่ปรึกษา 9. รศ.พงษ์ศักดิ์ อังกะสิทธิ์ เป็นที่ปรึกษา 10. รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นที่ปรึกษา 11. รศ.ลาวัลย์ หอนพรัตน์ เป็นที่ปรึกษา 12. รศ.วันชัย ศิริชนะ เป็นที่ปรึกษา 13. ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นที่ปรึกษา

ที่ปรึกษาฝ่ายเสริมสร้างสมานฉันท์


คณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์ และความเป็นธรรมในสังคม 1. นายไพบูลย์ วัฒนสิริธรรม เป็นประธานที่ปรึกษา 2. นายโคทม อารียา เป็นที่ปรึกษา 3. รศ.จรัส สุวรรณมาลา เป็นที่ปรึกษา 4. นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นที่ปรึกษา 5. นางเตือนใจ ดีเทศ 6. ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล 7. รศ.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ 8. รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 9. รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร 10. ศ.พรชัย มาตังคสมบัติ 11. นายพิภพ ธงชัย 12. ภราดา ประทีปโกมลมาศ

13. นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เป็นที่ปรึกษา 14. นายประยงค์ รณรงค์ เป็นที่ปรึกษา 15. นายวรวิทย์ บารู เป็นที่ปรึกษา 16. นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นที่ปรึกษา 17. รศ.วิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ เป็นที่ปรึกษา 18. ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นที่ปรึกษา 19.ศ.วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นที่ปรึกษา 20. รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เป็นที่ปรึกษา 21. ศ.คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ เป็นที่ปรึกษา 22. รศ.สุริชัย หวันแก้ว เป็นที่ปรึกษา 23. ศ.สุธิวงษ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นที่ปรึกษา 24. คุณหญิงแสงดาว สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา 25. นายโสภณ สุภาพงษ์ เป็นที่ปรึกษา 26. รศ.มาณี ชัยธีรานุวัฒศิริ เป็นที่ปรึกษา

มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ คปค.

ให้คณะที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา และเสนอให้คำแนะนำแก่ คปค. ตามที่ คปค.ร้องขอหรือตามที่คณะที่ปรึกษาเห็นสมควร ให้คณะที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆประชุมพิจารณาเรื่องทั้งหลายแยกกัน แต่อาจจัดให้มีการประชุมร่วมกันของคณะที่ปรึกษาทุกคณะหรือบางคณะ ได้ตามที่หัวหน้า คปค. เลขาธิการ คปค. หรือประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆเห็นสมควร ให้คณะที่ปรึกษาแต่งตั้งที่ปรึกษาคนหนึ่งขึ้น ทำหน้าที่เลขานุการ และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้ ให้เลขาธิการ คปค. อำนวยความสะดวกในการจัดประชุมของคณะที่ปรึกษาตามคำสั่งนี้

สั่ง ณ วันที่ 26 ก.ย. 2549 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค. จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน

คปค.ยันทุกอย่างเป็นไปตามแผน

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่หอประชุมกองทัพบก พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ โฆษก คปค. แถลงถึงการประชุม คปค. ประจำวันที่ 25 ก.ย. ว่า พล.อ.สนธิได้เป็นประธานประชุม คปค.ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงต่างๆเพื่อรับทราบการปฏิบัติงาน และปัญหาอุปสรรคในช่วงปลายปีงบประมาณปี 2549 โดย พล.อ.สนธิได้กล่าวขอขอบคุณกับผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ในความร่วมมือที่กำกับดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะได้ ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด

พล.ท.พลางกูรกล่าวต่อว่า ที่ประชุม คปค.เห็นชอบที่จะยังไม่แต่งตั้งข้าราชการในระดับปลัดกระทรวง แต่จะมอบหมายให้คณะรัฐบาลใหม่เป็นผู้แต่งตั้ง โดยจะออกคำสั่งให้มีผู้รักษาการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน โดยให้เน้นในเรื่องความเป็นธรรม และยุติธรรม ทั้งนี้ คปค.จะทำเฉพาะงานเร่งด่วน เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม ความเรียบร้อยของสนามบินสุวรรณภูมิ นอกเหนือจากนั้นจะให้คณะรัฐบาลใหม่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

งบประมาณปี 50 คลอดสิ้นปี


พล.ท.พลางกูรกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาเรื่องงบประมาณปี 2550 นั้น ที่ประชุม คปค.เห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของงบฯปี 2549 ไปพลางก่อน โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นสามารถใช้จ่ายเงินงบฯได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของแผนงบประมาณรายจ่าย หากจำเป็นต้องใช้จ่ายเกินกึ่งหนึ่งให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณได้ในกรณีที่มีข้อผูกพันตามสัญญาเป็นข้อตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศ และมีความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ทางสำนักงบประมาณได้กำหนดกรอบเวลาดำเนินการไว้ 3 เดือน ดังนี้ ในวันที่ 26 ก.ย. หน่วยงานที่รับผิดชอบจะร่วมกันพิจารณานโยบาย ประมาณการรายได้ และโครงสร้างรายจ่าย วันที่ 27 ก.ย. ให้ส่วนราชการพิจารณาทบทวนคำของบประมาณส่งให้พิจารณา วันที่ 10 ต.ค. สำนักงบประมาณจะเสนอกรอบงบประมาณให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ วันที่ 24 ต.ค. ให้ส่วนราชการส่งคำของบฯเพิ่มเติม วันที่ 7 พ.ย. สำนักงบประมาณจะจัดทำรายละเอียดให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และระหว่างวันที่ 21 พ.ย.-29 ธ.ค. จะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ขึ้นทูลเกล้าฯ

ปี 49 เศรษฐกิจยังโตเกินกว่า 4.5

พล.ท.พลางกูรกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงในที่ประชุม คปค.ถึงการควบคุมราคาสินค้า และปัญหาบริษัทค้าปลีกที่ยังไม่ยอมให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ซึ่งในระยะยาวอาจจะต้องมีกฎหมายค้าปลีกเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สำหรับสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ไม่มีผลกระทบที่รุนแรง ยังมีเสถียรภาพดี ตัวเลขจีดีพีปี 2549 น่าเติบโตสูงเกินกว่า 4.5% ส่วนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รายงานในที่ประชุมถึงการควบคุมการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ และการสร้างความเข้าใจกับสื่อได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งได้มีการปิดเว็บไซต์จำนวนหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและสถาบัน

พล.ท.พลางกูรกล่าวอีกว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ชี้แจงในที่ประชุม คปค.ถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งมีทั้งสิ้น 39 มาตรา โดยเฉพาะในมาตร 3 ยังคงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกประการ รวมทั้งบรรดาข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศยังคงเหมือนเดิม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจ้างนักจิตวิทยาเพื่อการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจของเด็กกำพร้า และผู้เป็นม่ายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเร่งด่วน

พร้อมหนุนนโยบายผลประโยชน์ชาติ

โฆษก คปค.กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้รายงานสถานการณ์ ด้านยาเสพติดในที่ประชุม คปค.ทราบด้วย โดยศูนย์ต่อสู้ เพื่อเอาชนะยาเสพติดได้ดำเนินการมาโดยตลอดและบรรลุผลในระดับหนึ่ง และจากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอยากให้ คปค.ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง

พล.ท.พลางกูรกล่าวว่า พล.อ.สนธิ ได้กล่าวสรุปในที่ประชุม คปค.ในตอนท้ายว่า งานต่างๆซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรืองานอื่นๆซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้ดำเนินการไว้ที่เป็นผลประโยชน์ของชาตินั้น คปค. พร้อมให้การสนับสนุน สำหรับงานสำคัญในระยะอันสั้น เช่น อุทกภัย ขอให้ทุกกระทรวงทุ่มเทอย่างเต็มความสามารถ

ให้ถือว่าทุกข์ของประชาชนเป็นความทุกข์ร่วมกันของพวกเรา ให้ถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่ง ส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ขอความร่วมมือให้ทุกส่วนราชการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อความมั่นคงของสังคมไทย นโยบายการประหยัดพลังงานนั้นถือเป็นนโยบายของชาติ ก็ขอให้ช่วยกันรณรงค์ ส่วนเรื่องโรคระบาด ไข้หวัดนก และอื่นๆรวมทั้งโรคจากนํ้าท่วมถือเป็นหน้าตาของประเทศ หากมีเกิดขึ้นอย่ามีการปกปิด

ครวญสาวโคโยตี้ทำเสียภาพทหาร

พล.ท.พลางกูรกล่าวด้วยว่า หัวหน้า คปค.เน้นย้ำในเรื่องความรักความสามัคคี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในขณะนี้ เพราะความรักความสามัคคีนั้นสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ส่วนกรณีที่มีประชาชนนำสาวโคโยตี้ไปเต้นเชียร์ให้กำลังใจทหารหน้ารถถังที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าว่า ความจริงต้องขอความกรุณาผู้ที่นำมาเต้น ทหารไม่ได้ร้องขอ เป็นแค่ดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่ม

ทางทหารก็ขอขอบพระคุณ แต่ผู้ที่นำสาวโคโยตี้มาเต้น ไม่รู้ว่ามีเจตนาดีประสงค์ร้ายหรือเจตนาดีประสงค์ดี เราก็ไม่ว่ากัน แต่เป็นภาพที่ดูแล้วคงไม่เหมาะสม อีกทั้งสถานที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นสถานที่โอ่โถงมีผู้คนไปมา ยังไม่แน่ใจว่าคนที่พาทีมมาเต้นคือใคร เรื่องนี้ต้องฝากให้ทางตำรวจตรวจดูแลด้วย ส่วนรถถังนั้นเมื่อทุกอย่างคลี่คลายตามกรอบเวลา

ดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทหารเราก็ไม่อยากตั้งไว้นาน เพราะกลายเป็นสิ่งที่พากันมาเที่ยวชม เดี๋ยวพอตอนกลางคืนก็จะพากันมาเต้นแล้วจะกลายเป็นการดิสเครดิตทางทหารไป ต้องฝากตำรวจดูแล และผู้ที่นำมาก็ขอความกรุณาให้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายก็แล้วกัน ไม่ต้องนำมาอีก เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์