เจาะอนาคต เอสซี แอสเสท ภาวะกดดันของ องค์กรไร้หัว

จากประชาชาติธุรกิจ



ถ้าไม่เกิด "ปฏิวัติ" เสียก่อน น่าเชื่อว่า บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ที่มีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร หรือคุณหญิงอ้อ ซึ่งเป็นเจ้าของพอร์ตตัวจริง อาจมีสิทธิกระโดดข้ามขั้นจนติดอันดับท็อปทรีบริษัท อสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

โดยประเมินจากทรัพย์สิน ที่ดินดิบ มูลค่าหุ้น ฐานทุนและสายสัมพันธ์

เซียนวงการอสังหาฯท่านหนึ่งเคยวิเคราะห์ "อนาคต" บริษัทเอสซีฯว่า "อาจจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ของ อนันต์ อัศวโภคิน หรือ ที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี หากเจ้าของตัวจริงได้ลงมือจัดระเบียบและปรับโครงสร้างองค์กรอย่างจริงๆ จังๆ"

เพราะเอสซีฯมีความได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะแลนด์แบงก์ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมไปถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ


เฉพาะที่คุณหญิงถือในนามตัวเองและแจ้งต่อทางการมีประมาณ 108 แปลง

แย่งเป็นทำเลในกรุงเทพฯ 59 แปลง นนทบุรี 4 แปลง สมุทรปราการ 1 แปลง ปทุมธานี 4 แปลง ฉะเชิงเทรา 5 แปลง ชลบุรี 1 แปลง จันทบุรี 2 แปลง เพชรบุรี 2 แปลง ชุมพรและภูเก็ตอย่างละ 1 แปลง

ที่มากสุดคือ "เชียงใหม่" ถิ่นบ้านเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและสามีตามกฎหมาย 19 แปลง

กล่าวกันว่า ที่แปลงเด็ดในจังหวัดเชียงใหม่ของคุณหญิงจะอยู่รอบนอกตัวเมืองและมีบรรรยากาศดี ทำเลในเมืองมีบ้างประปราย ต่างกับนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของพอร์ตอสังหาฯ ที.ซี.ซี.แลนด์ จะเน้นการกว้านซื้อที่ในเมืองเพื่อปรับปรุงอาคารเป็นมอลล์ค้าขายหรือโครงการคอมเพล็กซ์ตามแนวนิยม

"แต่ทั่วประเทศคุณหญิงยังมีที่ดินอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถือครองในนามส่วนตัว" แหล่งข่าวระบุ


ดังนั้นตามหลักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มเอสซีฯจึงเหนือกว่าคู่แข่งไปโดยปริยาย เพราะมีที่ดินในมือมากมายมหาศาลและพร้อมจะพัฒนาได้ทุกเมื่อ

หากโอกาสอำนวย ซึ่งถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มี "ต้นทุนต่ำ" จากที่ดินดิบ

ยกตัวอย่างโครงการบางกอกบลูเลอวาร์ด รามอินทรา ที่เอสซีฯ ภาคภูมิใจในการนำเสนอและพัฒนาเป็น "บ้านเดี่ยว" ขาย ก็พัฒนาอยู่บนแลนด์แบงก์ของตระกูล "ชินวัตร" ซึ่งมีจำนวนขนาดถึง 300 ไร่ และอยู่ติดกับโครงข่ายคมนาคมใหม่ที่ตัดผ่านพอดี

เผอิญว่าบรรยากาศซื้อขายอสังหาฯเริ่มซึมๆ มานานพักใหญ่ ทำให้ยอดโครงการนี้ไม่พุ่งพรวดเท่าไหร่ พอขายได้เรื่อยๆ


ปัจจุบัน "เอสซี แอสเสท" มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั่งบริหารในตำแหน่ง "ประธานกรรมการบริหาร"



โดยมี "สหัส ตันติคุณ" มืออาชีพที่ถูกดึงตัวมาจาก บมจ.อีสเทิร์น สตาร์ฯ เครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา มานั่งบริหารเป็น "กรรมการผู้อำนวยการ" และมี น.ส.ยุบล โล่ห์จินดารัตน์ ซึ่งถูกดึงตัวมาจาก บมจ.ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ของตระกูล "เคียงศิริ" มาเสริมทีมในตำแหน่ง "ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารการตลาด"

เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทเอสซีฯเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ใช้ผู้บริหารค่อนข้างเปลือง เพราะมีผู้บริหารเข้าๆ ออกๆ เป็นระยะ ตั้งแต่ "สุรเธียร จักรธรานนท์" ตัดสินใจโบกมือลา ไม่นานผู้บริหารหญิงด้านการตลาดอีก 2 ท่านก็ขอลาออก

ครั้งหนึ่งถึงขนาดลือกันว่า หลังคุณหญิงอ้อส่งน้องสามีเข้ามา "บริหาร" แล้ว โครงสร้างใหม่ของเอสซีฯอาจไม่มีชื่อ "สหัส ตันติคุณ" นั่งในตำแหน่งเดิม

ทำให้ทั้งยิ่งลักษณ์และสหัสต้องออกมาแถลงเรียกความเชื่อมั่นและคลายความสับสน


มาวันนี้ วันที่เมืองไทยเกิด "รัฐประหาร" บริษัทเอสซีฯ ขุมทรัพย์ของ "ชินวัตร" จึงถูกเฝ้าจับตามองมากเป็นพิเศษ



แม้ว่าในบอร์ดและโครงสร้างบริหารจะมีชื่อ "ยิ่งลักษณ์" เป็นซีอีโอเหมือนเดิม

แต่บทบาทของเธอจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะต้องเจอกับแรงกดดันรอบด้าน ทั้งการเมืองและซีกคู่แข่งฝ่ายตรงข้าม

ไม่แน่หากเธอกลับจากอังกฤษ เธอคงพกความมั่นใจกลับมาด้วย เช่นเดียวกับพี่สะใภ้เธอ "คุณหญิงอ้อ" ที่บินกลับมาก่อน

อนาคต "เอสซีฯ" จะวิ่งแรงพุ่งฉิวเหมือนที่ใครหลายคนวิเคราะห์ไว้หรือไม่ ???

คงต้องฝากถาม "กุนซือ" ผู้อยู่เบื้องหลังเกือบทุกชอตที่ช่วยธุรกิจของตระกูล "ชินวัตร" และเครือชินคอร์ปมาตั้งแต่ต้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์