ดันตั้งธนาคารลูกจ้างปล่อยกู้ผู้ใช้แรงงาน

คมชัดลึก :คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาฯเดินหน้าแนวคิดธนาคารลูกจ้าง แม้ยังไม่มีหน่วยงานรับเป็นเจ้าภาพ จับมือภาคเอกชนพร้อมควักกระเป๋าตั้งต้นกองทุนปล่อยกู้ให้แรงงาน ใช้กลไกสังคมดูแลและไม่ให้เกิดหนี้เสีย ตั้งเป้าโครงการทดลองมีสมาชิกครบ 100,000 คนในปี 2554

คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงานเพื่อการคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการแรงงาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีสาธารณะเรื่อง "การจัดตั้งธนาคารลูกจ้าง โครงการทดลองเบื้องต้น" เพื่อระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงโครงการทดลองจัดตั้งธนาคารลูกจ้างและร่างพระราชบัญญัติธนาคารลูกจ้าง รวมทั้งเพื่อเผยแพร่สร้างความเข้าใจเรื่องธนาคารลูกจ้างมากขึ้น

 รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สป. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งธนาคารลูกจ้าง ว่า ภายหลังสรุปผลการศึกษาวิจัยและเสนอแนวคิดต่อรัฐบาลว่าธนาคารลูกจ้างมีความจำเป็นที่จะเข้ามาลดความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพโครงการดังกล่าว ดังนั้น จึงตัดสินใจผลักดันในอีกทางหนึ่ง เนื่องจากความเดือดร้อนด้านการเงินของผู้ใช้แรงงานไม่สามารถรอกลไกของกฎหมายได้ โดยดำเนินการจริงในรูปแบบการทดลองผ่านโครงการวิจัย ภายใต้การดูแลของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เงินทุนเริ่มต้น 5 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินจากสถาบันการเงินชุมชน เงินภาคเอกชน รวมทั้งทุนของตนเอง มาตั้งต้นให้สินเชื่อแก่สมาชิกผู้ใช้แรงงาน ซึ่งผู้ลงทุนไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะได้รับผลกำไรปันผล

 รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายขยายจำนวนสมาชิกให้ถึง 100,000 คน ภายในปี 2554 ซึ่งนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มมีสมาชิกถึงหลักพันคนแล้ว มีการปล่อยกู้รายละ 50,000-100,000 บาท พัฒนาเป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การจำหน่ายบัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนี้เสียเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่ในอนาคตคงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีหนี้เสีย นอกจากนั้น ยังอยู่ระหว่างการผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการระดมความคิดเห็นในการสัมมนาครั้งนี้

 สำหรับหลักการแนวคิดการจัดตั้งธนาคารลูกจ้าง คือการตั้งสถาบันการเงินเป็นแหล่งทุนตามความจำเป็นให้แก่แรงงานที่มีรายได้น้อย ที่ต้องการทำธุรกิจสร้างรายได้เสริม หรือใช้ในกรณีฉุกเฉิน จากปัจจุบันมักเดือดร้อนจากการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ โดยส่วนใหญ่ต้องการกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท จากนั้นใช้กลไกทางสังคม ความสนิทสนมกันของกลุ่มลูกจ้างช่วยกันตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย ทั้งนี้ ผู้ที่จะร่วมโครงการจะต้องรวมกลุ่มกันประมาณ 20 คน และจัดกิจกรรมพบปะแบ่งปันทุกข์สุขปัญหากันทุกสัปดาห์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสังคมก่อน และการพิจารณาให้กู้นั้น ผู้กู้จะต้องไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือติดอบายมุข

 นายชาญชัย  บุญญฤทธิ์ไชยศรี  ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงโครงการจัดตั้งธนาคารลูกจ้างว่า เป็นหลักการที่ดี แต่ในการจัดตั้งเป็นธนาคารจะต้องตรวจสอบให้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีรูปแบบการดำเนินงาน และมีวิธีการตรวจสอบความมั่นคง ซึ่งต้องพิจารณาสถานการณ์ในอนาคตต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์