เผยเบื้องหลังเลือกสัปปายะฯแบบสร้างรัฐสภาใหม่ หน.ออกแบบชี้เพื่อให้ปท.สู่ความสงบ สติปัญญานำร่มเย็น

เผยเบื้องหลังเลือก"สัปปายะฯ"แบบสร้างรัฐสภาใหม่ หน.ออกแบบชี้เพื่อให้ปท.สู่ความสงบ สติปัญญานำร่มเย็น

เผยเบื้องหลังเลือก"สัปปายะสภาสถาน"เป็นแบบก่อสร้างรัฐสภาใหม่ เหตุสื่อถึงความสงบ ตอบปัญหาความวุ่นวายสภาในปัจจุบัน หัวหน้างานออกแบบเปิดใจเน้นสถาปัตยกรรมโบราณ เพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ จิตวิญญาณสูงขึ้น สติปัญญานำประเทศอยู่อย่างร่มเย็น

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการประกวดแบบก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เปิดเผยผลการตัดสินการประกวดแบบอาคารัฐสภาใหม่หลังจากที่ 5 กลุ่มบริษัทที่เข้ารอบสุดท้ายนำเสนองานประกวดแบบเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือก ตลอดวันที่ 27 พฤศจิกายน ประกอบด้วย 1.กลุ่มนายธีระพล นิยม 2.บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด 3.นายธรรมศักดิ์ อังศุสิงห์ 4.บริษัท ดีไซด์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 5.กลุ่มผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชษฐ์ สุวิสิทฐ์ ว่า หลังจากที่ 5 บริษัทมานำเสนอผลงานทั้งแนวคิด ประโยชน์ใช้สอย รูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม การขยายพื้นที่ในอนาคต ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงระบบความปลอดภัย บนพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร ย่านเกียกกาย กรุงเทพฯ วงเงินก่อสร้างไม่เกิน 12,000 ล้านบาท คณะกรรมการทั้ง 14 คน ได้ประชุมกันต่อเนื่องทันทีเมื่อคืนวันที่ 27 พฤศจิกายน และลงคะแนนตัดสินเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ผลปรากฏว่า แบบที่ 1 ของนายธีรพล นิยม ชื่อ สัปปายะสภาสถานŽ ได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 92 คะแนน โดยชนะอันดับที่ 2 ของบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด อยู่ 3 คะแนน


นายนิคมกล่าวว่า ทั้ง 5 แบบมีความงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ใช้สอย การเข้าถึงองค์ประกอบในอาคาร เริ่มมีความแตกต่าง พอมาถึงประเด็นการขยายพื้นที่ในอนาคต บางแบบก็เริ่มมีจุดอ่อน เหตุผลที่แบบที่ 1 ได้คะแนนอันดับ 1 เนื่องจากแนวคิดของผลงานดีมาก สื่อถึงความสงบ ยึดหลักธรรมะ อันเป็นเอกลักษณ์ของไทย และยังตอบโจทย์ของสภาในปัจจุบันที่มีความวุ่นวาย แม้แบบที่ 2 ที่เป็นตึกสูงด้านซ้าย ขวา มีอาคารทรงไทยที่เป็นห้องประชุมรัฐสภาและห้องประชุมวุฒิสภาอยู่ตรงกลาง จะมีความสวยงาม แต่จุดที่เป็นข้อติติงสำคัญคือ การเข้าถึงห้องประชุมใช้เวลาประมาณ 2 นาที ขณะที่คณะกรรมการตั้งเป้าไว้ที่ 30 วินาที เพื่อให้สมาชิกที่อยู่โดยรอบเข้ามาลงคะแนนในห้องประชุมได้ทัน ขณะที่แบบที่ 1 เรื่องรูปลักษณ์ทางสถาปัตย์และเรื่องอื่นๆ ไม่แพ้แบบที่ 2 จุดนี้จึงทำให้แบบที่ 1 ชนะเลิศ


นายนิคมกล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป วันที่ 2 ธันวาคม จะประกาศผลการตัดสินอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะประสานกับผู้ชนะการออกอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มาออกแบบจัดวางอาคารทรงไทยเฉลิมพระเกียรติ ที่จะใช้งบฯก่อสร้าง 200 ล้านบาท ระหว่างนั้นคณะกรรมการจะเชิญบริษัทผู้บริหารโครงการเข้ามาเสนอโครงการ เพื่อกำกับดูแลการก่อสร้าง ซึ่งจะเซ็นสัญญากับทั้งผู้ออกแบบและผู้บริหารโครงการได้ประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม จากนั้น 8 เดือนถัดไป ผู้ออกแบบจะทำรายละเอียดมาทั้งหมด และประมาณเดือนสิงหาคมก็จะสามารถเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างได้ ส่วนการกราบบังคมทูลฯเพื่อทรงวางศิลาฤกษ์ จะดำเนินการหลังจากหน่วยงานต่างๆ ส่งมอบพื้นที่บริเวณเกียกกายให้รัฐสภาได้แล้วเสร็จทั้งหมด คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้


นายนิคมกล่าวว่า ส่วนการชดเชยให้ชุมชนและโรงเรียน รวมถึงหน่วยราชการบริเวณเกียกกาย ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว โดยโรงเรียนโยธินบูรณะแห่งใหม่กำลังดำเนินการออกแบบก่อสร้าง เช่นเดียวกับสำนักงานสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ส่วนชุมชนตระกูลดิษฐ์ กทม.ก็ดำเนินการชดเชยเพิ่มอยู่ ส่วนชุมชนโรงงานทอผ้า ก็เชิญมาให้ข้อมูลเพื่อดำเนินการชดเชยแล้ว


นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี คณะกรรมการตัดสินการออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ โดยกรรมการมีอิสระในการที่จะตัดสินใจอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้ง 5 แบบก็มีทั้งข้อดีและข้อเด่น แบบใดที่ได้รับการคัดเลือกถือว่าดีทั้งสิ้น เพราะไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ถือว่าทุกแบบดีทั้งสิ้น แต่แบบของนายธีรพลที่ชนะเลิศนั้น ตนเห็นว่ามีความโดดเด่นและมีความหมาย โดยจะเห็นว่าการออกแบบของอาคารจะเน้นเรื่องความเชื่อด้านศาสนา ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นคอนเซ็ปท์ในการออกแบบ โดยใช้ชื่องานว่า "สัปปายะสภาสถาน"


นายสิงห์ชัยกล่าวว่า คำว่า สัปปายะ แปลว่า สบาย สงบ ในทางธรรม โดยมีอาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทยอยู่ตรงกลาง ลักษณะเป็นเจดีย์ เปรียบเสมือนยอดเขาพระสุเมรุ ที่เป็นเหมือนศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนไทย และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้วิธีการนำเสนอยังเป็นลำดับขั้นตอน รายละเอียด ชี้แจงและตอบข้อซักถามของคณะกรรมการได้ดี ที่สำคัญอาคารหลังนี้จะเป็นความภูมิใจให้กับคนไทยทั้งชาติ เพราะนี่คืออาคารที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย


นายธีรพลหัวหน้าทีมออกแบบ "สัปปายะสภาสถาน" ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับ 1 กล่าวว่า ดีใจที่คณะกรรมการให้ความไว้วางใจ และให้คุณค่ากับงานที่ทีมงานของตนออกแบบ ซึ่งทีมงานตั้งใจทำมาตลอด 6 เดือน และคิดว่าเป็นงานสำคัญระดับประเทศที่จะแสดงออกถึงความเป็นไทย และภูมิปัญญาไทยผ่านทางสถาปัตยกรรม ให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ทีมงานสถาปนิกทั้ง 5 คน ได้แก่ ตนจากสถาบันอาศรมศิลป์ นายเอนก เจริญพิริยะเวช บริษัท แปลนสตูดิโอ นายชาตรี รดาลลิตากุล บริษัท ต้นศิลป์ นายปิยเมศ ไกรฤกษ์ บริษัท บลูแพลนเนท อินเตอร์เนชั่นแนล และนายบุญญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์ บริษัท แปลนแอสโซซิเอท ตั้งใจทำเต็มที่ ด้วยความรู้สึกต้องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน


นายธีรพลกล่าวว่า คิดว่าจุดเด่นที่งานออกแบบได้รับการคัดเลือก เนื่องจากงานได้แสดงถึงอัตลักษณ์ไทย คุณค่าทางจิตวิญญาณ โดยโจทย์ที่ทีมงานตั้งมี 4 ข้อ คือ 1.นอกจะตอบสนองประโยชน์ใช้สอยและทางเทคนิคแล้ว ต้องมีพลังที่จะพลิกฟื้นจิตวิญญาณสังคม ที่ปัจจุบันเผชิญวิกฤตศีลธรรม 2.อัตลักษณ์ความเป็นคนไทยที่แสดงออกว่าต้องสร้างบนแผ่นดินไทยเท่านั้น และให้ทุกคนรวมถึงชาวต่างชาติเข้าใจได้โดยง่ายไม่ต้องตีความ เป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน เป็นจุดหมายที่ชาวโลกจะมาชื่นชม 3.การออกแบบและการก่อสร้างต้องสร้างให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ในสังคม โดยแผนไตรภูมิและเขาพระสุเมรุ เพื่อสอนให้รู้จักบาปบุญ ความละอายต่อบาป 4.ต้องทำให้เกิดความใกล้ชิด ไม่แปลกแยกระหว่างรัฐกับประชาชน ฉะนั้น งานจึงออกมาในรูปสถาปัตยกรรมโบราณผ่านแบบแผนไตรภูมิตามคติพุทธ เพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบสุข มีจิตวิญญาณที่สูงขึ้น มีสติปัญญานำบ้านเมืองให้อยู่อย่างร่มเย็น


นายธีรพลกล่าวว่า จากโจทย์ 4 ข้อ จึงแสดงออกมาเป็นรูปธรรม 9 ด้าน ได้แก่ ชาติ คือ เครื่องยอดของอาคาร ศาสนา คือ การนำยอดเจดีย์มาเป็นสัญลักษณ์ พระมหากษัตริย์ คือ การกำหนดโถงพระราชพิธีวันเปิดประชุมรัฐสภา สติปัญญา คือ การมีหอจดหมายเหตุ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตยบริเวณกำแพงแก้ว ประชาชน คือ การมีพื้นที่สำหรับเป็นโถงรับรองของประชาชน มีลานสนามหลวง สมาชิกรัฐสภา คือ การมีห้องประชุมของ ส.ส. ส.ว. อยู่ซ้ายขวาของแกนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน การประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม แบบสถาปัตยกรรมเขตร้อนที่ได้มาตรฐานขั้น Gold และพื้นที่สีเขียว ความเป็นสากล คือ เครื่องอำนวยความสะดวกกับคนทุกกลุ่มในสังคม และความปลอดภัย


เมื่อถามว่า เริ่มมีเสียงลือว่ามีนายหน้าวิ่งเต้นเรียกรับเงิน 30 ล้านบาท ไปยังบรรดาผู้ออกแบบเพื่อให้ได้รับงาน นายธีระพลกล่าวว่า เคยได้ยิน มีการพูดๆ กันตามเว็บไซต์ แต่ไม่เคยมีใครมาติดต่อตน ทั้งนี้ตนและทีมงานถือว่างานนี้เป็นงานระดับชาติ มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรมีเรื่องแบบนี้ เพราะจะทำให้เกิดความเสื่อม


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์