ติดสลากภาพคำเตือนขวดน้ำเมาต้องรอ เสธ.หนั่นยังไม่เรียกถก เอ็นจีโอไม่ชัวร์ นัดเคลื่อนไหวหลังวันพ่อ

ติดสลากภาพคำเตือนขวดน้ำเมาต้องรอ เสธ.หนั่นยังไม่เรียกถก เอ็นจีโอไม่ชัวร์ นัดเคลื่อนไหวหลังวันพ่อ

สธ.ต้องร้องเพลงรอชงติดสลากภาพคำเตือนขวดย้ำเมา เหตุเสธ.หนั่นยังไม่เรียกถกกก.นโยบาย เอ็นจีโอไม่มั่นใจได้หนุน นัดรวมพลังเคลื่อนไหวหลังวันพ่อ

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันให้มีการติดภาพและคำเตือนข้างขวด กล่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ว่า สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สธ. ได้ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 (1) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายตรวจสอบความถูกต้อง และเสนอให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา


"หากร่างนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายโดยสมบูรณ์ สามารถออกเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ แต่เนื่องจากจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณว่า พล.ต.สนั่นจะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายฯเมื่อใด เพราะเดิมจะนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา แต่ประธานก็ได้ขอเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ทุกอย่างจึงหยุดชะงักและคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวได้เมื่อใด"


นพ.สมานกล่าว และว่า ในฐานะข้าราชการประจำ ขณะนี้ทำได้เพียงการรอเรียกประชุมเท่านั้น แต่ยืนยันว่ารายละเอียดทุกเรื่องพร้อม อย่างไรก็ตาม หากประกาศนี้มีผลบังคับใช้จะต้องให้เวลากับภาคธุรกิจอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน เพื่อเตรียมตัว สำหรับภาพคำเตือนนั้น อยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญคัดเลือก ยังไม่ได้ข้อสรุป


ผู้สื่อข่าวถามว่า การติดภาพคำเตือนข้างขวดจะมีผลต่อการดื่มหรือไม่ นพ.สมานกล่าวว่า สำหรับผู้ที่ดื่มแล้วอาจไม่มีผลใดๆ แต่สำหรับผู้ที่คิดจะลองดื่ม อาจทำให้ไม่อยากซื้อดื่ม เพราะเกรงผลกระทบต่อสุขภาพ เรื่องนี้จึงต้องใช้เวลา และว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ส่งร่างประกาศดังกล่าวไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ว่ามีส่วนใดขัดข้อตกลงในองค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ ล่าสุดปลัดกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่ขัด เพราะถือเป็นการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน


ต่อข้อถามว่า มีภาคธุรกิจบางรายเสนอให้ใช้มาตรการเดียวกันกับสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง นพ.สมานกล่าวว่า อย่าเบี่ยงเบนประเด็น เพราะขนมขบเคี้ยวหรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังไม่ได้ทำให้มีผลต่ออารมณ์หรือสภาพจิตใจ และไม่ได้เข้าข่ายสารเสพติด จึงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้


"เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ถือเป็นสารเสพติด จึงต้องมีมาตรการสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นสินค้าที่ไม่ปกติ หรือต้องควบคุมพิเศษ ผมไม่เคยเห็นข่าวว่าเด็กกินขนมขบเคี้ยวแล้วไปเกิดอุบัติเหตุ ข่มขืน หรือทำร้ายร่างกายใคร ไม่เหมือนกับพวกดื่มแอลกอฮอล์ ที่นอกจากมีผลต่อสุขภาพตัวเองแล้ว ยังทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนด้วย" นพ.สมานกล่าว


ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการของ สธ. แต่ไม่มั่นใจคณะกรรมการนโยบายฯ เพราะแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการจัดโซนนิ่งหรือสุราปั่น ก็ยังไม่สามารถกำหนดมาตรการที่ชัดเจนได้ ดังนั้น เครือข่ายจึงไม่คาดหวังว่ามาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ในสมัยของคณะกรรมการนโยบายฯชุดปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 5 ธันวาคมนี้ เครือข่ายจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้แน่นอน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์