เพราะต้องการได้ทั้งหมด จึงต้องเสียทั้งหมดเส้นทางของทักษิณ

"ถึงจุดตกต่ำในเพียง 1 ปี"


หากถือเอาช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกเข้ามาถล่มทลาย ได้จำนวน ส.ส. ถึง 377 เสียง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวสำเร็จ

เป็นช่วง "จุดสูงสุด" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บนเส้นทางการเมือง

ก็แทบไม่เชื่อว่าหลังจากนั้นเพียง 1 ปี พ.ต.ท.ทักษิณจะก้าวเข้าสู่ "จุดตกต่ำ"

และตกต่ำถึงที่สุด เมื่อคณะนายทหารภายใต้ชื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน

ไม่มีใครคาดคิดว่าการเดินทางออกจาก บน.6 เมื่อวันที่ 9 กันยายน เพื่อไปเยือนทาจิกิสถาน ก่อนจะไปร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ที่ฟินแลนด์ ต่อด้วยการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่คิวบา และเข้าร่วมประชุมสภาสามัญประจำปีของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่กรุงนิวยอร์ก ที่สหรัฐ

จะเป็นภารกิจสุดท้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

"ทักษิณเป็นจุดเปลี่ยน"


พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าสู่วงจรการเมืองโดยการชักนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อปี 2537 ประเดิมตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เข้าสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงแยกตัวออกมาตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี 2542

หลังเลือกตั้งปี 2544 การเมืองไทยเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ริเริ่มหลักการตลาดนำการเมือง นโยบายประชานิยม กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ ได้รับการตอบรับจากประชาชน "ชาวรากหญ้า" อย่างล้นหลาม

บวกกับภาพลักษณ์เฉพาะตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นส่วนสำคัญผลักดันให้พรรคไทยรักไทย ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ผลักดันตัวเองก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง

แม้ช่วงแรกต้องพบอุปสรรคในคดี "ซุกหุ้น" แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ พร้อมกับวาทะ "บกพร่องโดยสุจริต" อันลือลั่น

จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เหมือน "พยัคฆ์เสียบปีก"

สั่งการทุกองคาพยพเดินหน้าแปรนโยบายประชานิยมมาสู่ภาคปฏิบัติ อย่างเต็มรูปแบบ ผุดโครงการสารพัด "เอื้ออาทร" เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างไม่ขาดสาย

สังคมยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย สร้างแบบอย่างผู้นำแนวใหม่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ฉับไวและเฉียบคม ได้รับการยอมรับจากเวทีโลกมากกว่านายกฯ คนใดที่ประเทศไทยเคยมีมา

สภาวะเศรษฐกิจที่พลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว นับจากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 เป็นผลงานอันโดดเด่นมากที่สุดของรัฐบาลทักษิณ "ทักษิโนมิกส์" กลายเป็นทฤษฎีใหม่ให้หลายประเทศนำไปศึกษา

"ไม่ได้ทำได้ง่าย ต้องมีพันธมิตรและผู้ได้รับประโยชน์ร่วมมือ"


การปฏิรูประบบราชการ การนำระบบ "ซีอีโอ" มาใช้บริหารประเทศ เพิ่มอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด การประกาศสงครามปราบยาเสพติดช การประกาศล้างมาเฟีย ผู้มีอิทธิพลกลุ่มต่างๆ

การทุบทำลายหม้อข้าวของเจ้ามือหวยเถื่อน ยกเอาหวยใต้ดินมาไว้บนดิน นำกำไรมาเป็น "พ็อคเก็ต มันนี่" ไว้จับจ่ายระหว่างการเดินสาย "ทัวร์นกขมิ้น" ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

เหล่านี้ไม่ใช่ว่านายกฯ คนไหนก็ทำได้

วิเคราะห์กันว่า อำนาจที่แข็งแกร่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งอยู่บนรากฐานสำคัญคือ กลุ่มทุนพันธมิตรทางธุรกิจ กลุ่มเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 26 (นรต.26) และชาวรากหญ้าที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม

ตลอดจนนักการเมืองหลายกลุ่มในพรรค ที่คานอำนาจกันไปมาสานต่อจนกลายเป็นนั่งร้านอันมั่นคงให้กั บพ.ต.ท.ทักษิณ ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ก่อนจะถึงวาระสุดท้าย

"ผลประโยชน์ทับซ้อน และ ทุจริตเชิงนโยบาย"


การใช้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้หลายอย่างจะสร้างคุณูปการให้ประเทศชาติ แต่ก็ไม่น้อยที่สร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว พวกพ้องบริวาร และ "รุ่น" ของตัวเอง มากพอๆ กับการใช้อำนาจเพาะสร้างศัตรูตามรายทาง

ข้อกล่าวหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" และ "ทุจริตเชิงนโยบาย" เริ่มมีขึ้นในช่วงปลาย "ทักษิณ 1" ถูกตอกย้ำให้เด่นชัดขึ้นใน "ทักษิณ 2" ต่อเนื่องจนถึงช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ หลังการยุบสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำ "หุ้น" มากระจายในหมู่คนใกล้ชิด และนักธุรกิจกลุ่มทุนแวดล้อมรัฐบาล จนบางแห่งมีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้มีคำสั่งระงับยับยั้ง คือรูปธรรมที่ชัดเจน

หากมองย้อนไปถึงการปรับ ครม. มากกว่า 10 ครั้งในช่วงรัฐบาลสมัยแรก จะพบว่าเป็นการปรับเพื่อเฉลี่ยผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนสนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทย ให้ได้ทั่วถึง

นโยบายประชานิยมที่ใช้ "เม็ดเงิน" เป็นตัวขับเคลื่อน เริ่มส่งผลเสียหายต่อประชาชน และประเทศชาติแบบซึมลึก

ปัญหา "ไฟใต้" ที่ปะทุรุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2547 สะท้อน "ความอ่อนหัด" ในงานด้านความมั่นคง ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีทางการตลาดตามที่ตัวเองถนัด

องค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ไม่ว่า ป.ป.ช., กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ, สตง., วุฒิสภา ตลอดจนองค์กรจัดสรรทรัพยากรของรัฐ อย่างเช่น กทช., กสช. ถูกรัฐบาลทักษิณ เข้าไปแทรกแซงจนสูญสิ้น "ความเป็นกลาง"

การล้วงลูกโผโยกย้ายข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ สร้างความขัดแย้งให้คนในสถาบันเดียวกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

"เล่ห์เหลี่ยม 73,000 ล้านบาท"


การเปิดโปงเบื้องหลังเล่ห์เหลี่ยมการขายหุ้น "ชินคอร์ป" 73,000 ล้านบาท ให้กับกลุ่มทุนต่างชาติโดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นเรื่องท้าทายปัญหาด้านคุณธรรมและจริยธรรมของคนเป็นผู้นำอย่างหนัก

นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ "ขาประจำ" กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า เพราะต้องการได้ทั้งหมด จึงกลับต้องเสียทั้งหมด

ประเด็นขายหุ้นชินคอร์ปยังชักพาปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าการเคลื่อนไหวกลุ่มพันธมิตรฯ การยุบสภา การบอยคอตเลือกตั้ง การล้มผลเลือกตั้ง 2 เมษายน ผลักดันประเทศชาติเข้าสู่ภาวะแตกเป็นเสี่ยงๆ

การตีฝีปากล่วงเกิน "ผู้มีบารมี" ครั้งแล้วครั้งเล่า

การมุ่งยึดถือเอาการเลือกตั้งเป็นเสมือนเครื่อง "ฟอกตัว" ในการกลับคืนสู่อำนาจ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากสังคม

เหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องลงจากอำนาจอย่างเจ็บปวด


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์