ปฏิวัติปิดฉาก ทักษิณ สยบขัดแย้ง-รุนแรง-แบ่งฝ่าย

และแล้วข่าวลือก็เป็นจริง


หลังจากก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายนนั้น มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่า มีความพยายามจากทหารบางกลุ่มที่จะทำการ "ปฏิวัติ"

แต่ก็ไม่ใช่ว่า รัฐบาล โดยเฉพาะ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จะไม่ระแวงถึงกระแสข่าวการปฏิวัตินี้

จะเห็นได้ว่า ในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ตั้งแต่ปี 2544 นั้น

มีความพยายามในการที่จะนำนายทหารที่เป็นพรรคพวกของตัวเอง โดยเฉพาะนายทหารร่วมรุ่นเตรียมทหาร 10 หรือ ตท.10 มานั่งในตำแหน่งสำคัญๆ

โดยเฉพาะในตำแหน่งที่คุมกำลังใน กทม. และปริมณฑล ซึ่งเป็นหน่วยกำลังหลักที่มักถูกใช้ในการปฏิวัติ-รัฐประหารมาแล้วในอดีต

เป็นการโยกย้ายภายใต้สมมติฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการจัดระเบียบกองทัพ เพื่อป้องกันการปฏิวัติจากฝ่ายทหาร

"เกิดการแบ่งฝ่ายกันขึ้น"


การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในช่วงปีแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณนั้น ยังไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงมากนัก

เนื่องจากรัฐบาลทักษิณยังได้รับคะแนนนิยมอย่างมากจากประชาชน

แต่เมื่อความพึงพอใจของประชาชนต่อ พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มลดลง เกิดการแบ่งฝ่ายของคนที่ชอบและไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างเห็นได้ชัด

การโยกย้ายเพื่อนร่วมรุ่นในช่วงหลังนี้จึงเริ่มเห็นกระแสความไม่พอใจของทหารหลายคนในกองทัพออกมาให้เห็น

ที่รุนแรงมากที่สุดคือ การแต่งตั้งโยกย้ายทหารประจำปี ที่จะมีในเดือนตุลาคม 2549

รุนแรงและสร้างความไม่พอใจจนกระทั่งมีนายทหารยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

และรุนแรงจนมีนายทหารออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อมวลชน

รวมทั้ง มีนายทหารระดับแม่ทัพภาคอย่าง พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 ออกมาต่อว่า นายทหาร ตท.10 อย่างรุนแรง

"กระแสข่าวการปฏิวัติ"


กระทั่งวันที่ 19 กันยายน ก็มีกระแสข่าวลือออกมาอย่างมากว่า ทหารจะก่อการปฏิวัติ

มีข่าวลือของการเคลื่อนกำลังหลายแห่ง ทั้งจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี

จากกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 4 กองพัน

จากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ กองทัพภาคที่ 1 จำนวน 5 กองพัน

จากกองพันทหารม้าที่ 23 และกองพันทหารม้าที่ 24 จากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์

และจากกองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี

ท่ามกลางกระแสข่าวลือ "พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เรียกประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ก็ไม่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใดเข้าร่วมประชุมแม้แต่คนเดียว

และมีการปฏิเสธกระแสข่าวปฏิวัตินี้กันตลอดวัน

แต่แล้ว ในเวลาประมาณ 22.00 น. รอบทำเนียบรัฐบาลก็ปรากฏกำลังทหารและรถถังกระจายกำลังคุมจุดต่างๆ ไว้ทั่ว และที่สุดก็เข้าคุมภายในทำเนียบรัฐบาล สถานีโทรทัศน์ สถานที่ราชการที่สำคัญต่างๆ รวมไปถึงบ้านพักของ พ.ต.ท.ทักษิณในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69

"รัฐบาลได้ก่อให้เกิดการแบ่งฝ่าย จึงทำการปฏิรูปใหม่"


และในเวลา 23.00 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่องได้ออกประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วย ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไว้ได้แล้ว

เหตุผลแรกๆ ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ใช้ในการยึดอำนาจในครั้งนี้ก็คือ

"เป็นที่ปรากฏการณ์แน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น"

หากย้อนดูถึงความขัดแย้งตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกล่าวอ้างนั้น

ก็จะเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่เหตุการณ์หนึ่ง


"มีการชุมนุมขับไล่ ทักษิณ นานแล้ว"


นั่นคือ เหตุการณ์ที่มีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่ไม่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณออกมาเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน

และยังรุนแรงถึงขั้นมีการปะทะกันให้เห็นเกิดขึ้น

กระบวนการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เด่นชัดและเห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปลายปี 2548

เมื่อมีการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่มี "นายสนธิ ลิ้มทองกุล" เป็นผู้ดำเนินรายการ ออกจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.)

จนทำให้เกิดการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรตามสถานที่ต่างๆ นำมาสู่การชุมนุมขับไล่ครั้งใหญ่ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

และขยายไปเป็นการชุมนุมในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"

ทั้งที่ลานพระรูปทรงม้าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และชุมนุมยืดเยื้อที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และอีกครั้งที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 5 มีนาคม

นอกจากการชุมนุมใน กทม. แล้ว ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ มีการชุมนุมกันในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกหลายแห่ง

และนอกจากจะมีการชุมนุมขับไล่แล้ว ก็ยังมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย


"ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ"


อาทิ การตั้งโต๊ะล่า 50,000 ชื่อเพื่อถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณของเครือข่ายนักศึกษารักประชาชน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักเรียนเพื่อประชาธิปไตย ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายแพทย์อาวุโส

การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ต่อเนื่องและขยายตัวออกไป จนมีแม่ค้ากลุ่มหนึ่งตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณในระหว่างที่รับประทานอาหารอยู่ในย่านซอยละลายทรัพย์ เมื่อวันที่ 37 มีนาคม

แต่ก็ไม่แต่เพียงกลุ่มขับไล่เท่านั้น หากแต่ในช่วงหลัง กลับปรากฏกลุ่มสนับสนุน คอยติดตามให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ จน 2 กลุ่มเกิดการปะทะกันทั้งทางวาจา รุนแรงไปถึงการปะทะกันทางร่างกาย

ครั้งแรกในวันที่ 22 กรกฎาคม เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงพยาบาลศิริราช เกิดมีกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านตะโกนใส่กันจนเกิดความโกลาหล

และหลังจากนั้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปตรวจราชการที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม มีทั้งกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านมารอที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 จนหวิดวางมวยใส่กัน

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ไปยัง จ.ตาก ก็มีข่าวว่า มีกลุ่มต่อต้านมาชุมนุมที่ศาลากลาง แต่ไม่มีการปะทะกัน

เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน


"ยึดอำนาจก่อนการชุมนุมขับไล่ทักษิณอีกครั้ง"


วันที่ 19 สิงหาคม เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเป็นประธานเปิดตัวหนังสือและซีดีที่ระลึกนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน

มีประชาชนตะโกนไล่ จนทำให้ผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณเข้าไปรุมทำร้าย และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีผลักผู้หญิงที่ตะโกนขับไล่จนล้ม

ต่อเนื่องอีกในวันที่ 20 สิงหาคม ระหว่างการประชุมเครือข่ายประชาสังคม หยุดระบอบทักษิณ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีกลุ่มตัวแทนองค์กรประชาชนรักความสงบมาตะโกนต่อต้าน นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ตัวแทนเครือข่าย จนเกิดการโต้เถียงกันระหว่าง 2 ฝ่าย

และอีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ภายหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับจากการเป็นประธานเปิดงานดิจิทัล ทีเค พาร์ค ที่อุทยานการเรียนรู้ส่วนบริการ ชั้น 8 อาคารเซ็นทรัล เวิลด์ โดยมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีการวิจารณ์ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบทำร้ายกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณด้วย

สถานการณ์บานปลายมากยิ่งขึ้นจนหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า จะรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการแบ่งแยกมวลชน จนทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นตรึงเครียดมากขึ้น เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศชุมนุมยืดเยื้ออีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน ประกาศไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณที่อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐอเมริกากลับประเทศไทย ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า จะมีการระดมมวลชนจากต่างจังหวัดมาต่อต้านการชุมนุมครั้งนี้

แต่แล้ว การชุมนุมทั้งหลายก็ต้องยุติลง เมื่อเกิดการยึดอำนาจในคืนวันที่ 19 กันยายน

ที่มีข้อสัญญาในท้ายของแถลงการณ์ว่า เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของคนไทยทุกคน


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์