ถกร่วม 2 สภา ส.ส.-ส.ว.ประชุมสายซ้ำซาก วิป รบ.ยังหนุนขึ้นเบี้ยประชุม โดนรสนาเหน็บทำงานดีหรือยัง

ถกร่วม 2 สภา "ส.ส.-ส.ว."ประชุมสายซ้ำซาก วิป รบ.ยังหนุนขึ้นเบี้ยประชุม โดน"รสนา"เหน็บทำงานดีหรือยัง

ถกร่วม 2 สภา "ส.ส.-ส.ว." มาประชุม"สาย"เหมือนเดิม ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เห็นชอบ 4 ฉบับ "วิปรัฐบาล"ร้องหนุนขึ้นเบี้ยประชุม เพิ่มสวัสดิการ อ้างค่าตอบแทนน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน "รสนา"เหน็บทำงานดีหรือยัง ชี้ควรจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายวันตามวันที่มาทำงานจริง

ประชุมร่วมรัฐสภายังช้ากว่ากำหนด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมของรัฐสภา มีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศ โดยนายชัยกำชับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาประชุมพร้อมเพรียงในเวลา 09.30 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน แต่เมื่อถึงเวลามีสมาชิกร่วมประชุมบางตา ขณะที่นายชัยขึ้นนั่งบัลลังก์ประธานที่ประชุม เวลา 10.00 น. แต่ปรากฏว่า มีสมาชิกมาลงชื่อร่วมประชุมเพียง 215 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมกึ่งหนึ่งที่ 312 คน ทำให้นายชัยสั่งเลื่อนประชุมไปเป็นเวลา 10.30 น. อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันคือกว่าสมาชิกมาประชุมครบองค์ประชุมก็เลยมาเป็นเวลา 11.00 น.


จากนั้นเวลา 10.35 น. นายชัยขึ้นนั่งบัลลังก์ เป็นประธานการประชุมอีกครั้ง หลังสมาชิกมาลงชื่อครบองค์ประชุม และนำเข้าสู่วาระกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ 4 ฉบับ ต่อจากการประชุมเมื่อคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน ได้แก่ 1.กรอบการเจรจากับสหภาพยุโรป กรณีสหภาพยุโรปขอเปลี่ยนแปลงตารางข้อผูกพันภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าสัตว์ปีกแปรรูป ภายใต้องค์การการค้าโลก 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา 3.ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐคูเวตว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และ 4.บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะมนตรีสหพันธ์สวิสและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของทั้งสองฝ่ายและพ้นจากนั้นไป


ทั้งนี้ ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 ชั่วโมง ที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาทั้ง 4 ฉบับ


"ปู่ชัย"ยัน"ปธ.ส.ว."ทำถูกต้อง


นายชัยกล่าว ถึงกรณีที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แจ้งความดำเนินคดีกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภากับข้าราชการรัฐสภา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีนับองค์ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนว่า การทำงานของนายประสพสุข ไม่มีข้อผิดพลาดและเจ้าหน้าที่รัฐสภาไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ ทุกอย่างเป็นการทำตามหน้าที่ การที่นายประสพสุขไม่ขานองค์ประชุมถือเป็นสิทธิของประธานในที่ประชุมโดยชอบธรรม ส่วนการที่นายประสพสุขสั่งพักการประชุมเพื่อให้บรรยากาศการประชุมดีขึ้น เนื่องจากขณะนั้นต่างฝ่ายต่างอยากเอาชนะคะคาน ตนขอยืนยันว่า นายประสพสุขทำหน้าที่ถูกต้องและไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา ก็ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนจะให้ความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อแจ้งความดำเนินคดีแล้วเป็นหน้าที่ของตำรวจในการรวบรวมพยานหลักฐานว่าจะเอาผิดได้หรือไม่


ปธ.วิปรัฐบาลหนุนขึ้นเบี้ยประชุม


ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมเสนอ ครม.ขึ้นค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการให้ ส.ส.และ ส.ว.ได้แก่ เบี้ยเลี้ยงประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เบี้ยประชุม กมธ. การเบิกค่าเดินทางตามจริง และสวัสดิการรักษาพยาบาลว่า มีข้อพิจารณาคือปรับเพิ่มเงินเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระเบียบปกติของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเงินค่าตอบแทนของข้าราชการ และการปรับตามเงื่อนไขเวลาหรือตามดัชนีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าปรับเพิ่มตามเหตุผลนี้ ตนสนับสนุนเพราะปรับเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ทำงานกันหนักพอสมควร ควรได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ต้องยอมรับความเป็นจริง เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของรัฐบาล แต่เป็นประธาน กมธ.สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะเสนอผ่านรัฐมนตรี ส่วนปัญหาการขาดประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เกิดปัญหาสภาล่ม ต้องแยกจากกรณีการขึ้นค่าตอบแทน โดยถ้าเป็นการเสนอของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งเพิ่มเอง ตนไม่เห็นด้วย เพราะไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่จะเสนอขึ้นเงินกันตอนนี้


บ่นเงินเดือนน้อยกว่า ส.ส.เพื่อนบ้าน


นายชินวรณ์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกันเงินเดือนหรือค่าตอบแทนของนายกรัฐมนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีระบอบประชาธิปไตย ถือว่านายกรัฐมนตรีหรือนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนในการทำหน้าที่น้อยมาก อยากเรียกร้องว่าทำอย่างไรที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยออกกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง เพื่อให้เงินค่าตอบแทนกับนักการเมืองที่เข้ามาทำงานให้ประเทศในฐานะที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเอาเงินของรัฐ แต่ขณะเดียวกันต้องเพิ่มให้มีบทบัญญัติของกฎหมายเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น โทษประหารชีวิตเหมือนประเทศไต้หวัน และคดีไม่มีอายุความด้วย และเรียกทรัพย์สินคืนมาให้ประเเทศทั้งหมด ซึ่งถ้าทำอย่างนี้จะเป็นการสร้างการเมืองที่เป็นธรรมาภิบาล ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพอย่างแท้จริง ให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของอำนาจ


"รสนา"ค้าน ถามทำหน้าที่ดีพอหรือยัง


ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ประธาน กมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า ขอคัดค้านการขึ้นสิทธิประโยชน์ให้ ส.ส.-ส.ว. เพราะปัจจุบันค่าตอบแทนทั้งหลาย ที่ได้รับจากรัฐก็กำหนดในอัตราที่พยายามจะให้ประโยชน์สูงสุดแล้ว แต่ผู้แทนประชาชนจำนวนมากไม่ได้สำนึกในคุณค่าที่ประชาชนมอบให้และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับ ก็มากกว่าคนทำงานกินเงินเดือน หรือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งอันที่จริงการจ่ายค่าตอบแทนให้ ส.ส.-ส.ว. ควรจ่ายรายวันตามจริงที่มาทำงานหรือมาประชุมลงมติ ประชาชนเห็นเราเป็นผู้ทรงเกียรติ จึงเลือกเราเข้ามารักษาผลประโยชน์ของประชาชน และปกติการขึ้นค่าตอบแทนในองค์กรต่างๆ เขาต้องดูว่าจะขึ้นค่าตอบแทนให้เมื่อทำประโยชน์ให้องค์กร ไม่ใช่จะขึ้นสุ่มสี่สุ่มห้า ฉะนั้นต้องตรวจดูเลยว่าสมาชิกมาทำหน้าที่หรือไม่ ขาดประชุมหรือไม่ หรือมาเซ็นชื่อแล้วก็ไม่ร่วมประชุม หรืออยู่ประชุมแต่ไม่ลงมติเพื่อให้องค์ประชุมล่มเพื่อเล่นเกมการเมือง วันนี้นักการเมืองไม่มีจริยธรรมทางวิชาชีพ แล้วจะมาขอขึ้นค่าตอบแทนอีก คงไม่สมควรอย่างยิ่ง จะเห็นว่าสมาชิกมาประชุมกันพร้อมเพรียงในวันปฏิญาณตนเท่านั้น นอกนั้นหายหมด


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์