สิงคโปร์ห่วงไทย-กัมพูชาโกรธกัน กระทบอาเซียน

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. เอเอฟพีรายงานว่า

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์วิตกต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน หวังว่า เพื่อนทั้งสองประเทศจะคิดถึงผลประโยชน์โดยรวมของอาเซียนและหาทางแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างรวดเร็ว ด้วยจิตใจไมตรีของความเป็นเพื่อนบ้านกัน

 วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมกลุ่มผู้นำความร่วมมือลุ่มน้ำโขงที่ญี่ปุ่น ในเวทีที่นายฮุน เซน ก็ไปร่วมด้วย แต่ทั้งสองไม่มีหมายพบปะเจรจากัน ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งเดินทางไปด้วย โทรศัพท์แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ว่า

สืบเนื่องจากแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวาน ทางรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแล้ว 1 เรื่อง คือ เอ็มโอยู หรือ บันทึกความใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชา อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทย ซึ่งกินพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร อุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรอื่นๆ

  เอ็มโอยูดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 44 ในวาระที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเมื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ทางรัฐบาลไทยปัจจุบันเห็นว่า

อาจเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในการเจรจาดังกล่าว เนื่องจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ นั้นทราบถึงรายละเอียดของขั้นตอน ท่าที และความลับต่างๆ ของทางราชการไทย รวมทั้ง เอ็มโอยูนี้ไม่มีความคืบหน้ามาเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว ทางรัฐบาลไทยจึงเห็นสมควรให้ยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว โดยคาดว่าจะนำเข้าครม. และอนุมัติยกเลิกในวันอังคารหน้าที่จะถึงนี้แล้วจึงแจ้งให้ทางกัมพูชารับทราบ ซึ่งขั้นตอนทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้นระบุว่า ทำได้ และจะใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือนในการยกเลิกนับตั้งแต่วันที่ ครม.อนุมัติ

 ด้านสนธิสัญญาและความร่วมมืออื่นๆนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมนำมาพิจารณา โดยจะต้องเป็นพันธกรณีที่เกี่ยวข้องระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาในอดีตทั้งหมด

 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก ทางรัฐบาลไทยแสดงความไม่พอใจการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา นำมาซึ่งการทบทวนความร่วมมือต่างๆของทางรัฐบาลไทย และการถอนเอกอัครราชทูตของทั้ง 2 ฝ่ายกลับประเทศของตน แต่ยังไม่มีการตัดความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด ยังคงมีอุปทูตของทั้ง 2 ประเทศรักษาการณ์แทนประจำสถานเอกอัครราชทูตของตนและมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามปกติเพื่อรักษาความปลอดภัยสถานทูตตามสนธิสัญญาเจนีวา ตลอดจนพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศยังคงเปิดให้ประชาชนสัญจรผ่านไปมาได้ตามปกติ

  ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า

ไทยยังคงเน้นใช้วิธีการทางการทูตตอบโต้กัมพูชา กรณีแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และรัฐบาลพร้อมลดระดับความสัมพันธ์ลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นอาจปิดด่านตามแนวชายแดน หากกัมพูชายังตอบโต้ไทยอย่างแข็งกร้าว ยืนยันว่า เราได้ตัดสินใจทำทุกอย่าง อย่างพอเหมาะพอดีกับเหตุการณ์ ที่ทำไปเพราะเราจำเป็นต้องทำ ไม่มีอะไรเกินเลย

 นายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านกฎหมายและเขตแดน ในฐานะประธานฝ่ายไทยในคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา

ให้สัมภาษณ์ถึงการตอบโต้ทางการทูตของฝ่ายไทยต่อกัมพูชาที่แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษาด้านด้านเศรษฐกิจ และที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า เป็นการตอบโต้ธรรมดาที่รุนแรงกว่าขั้นทำหนังสือประท้วง ส่วนที่กัมพูชาเรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับนั้น ถือเป็นการตอบโต้ไทยกลับในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูต ไม่มีอะไรต้องดำเนินการเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายอย่างไร ถ้าคลี่คลายไปในทางที่ดี ความสัมพันธ์จะกลับคืนโดยอัตโนมัติ


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์