เอแบคโพลล์ชี้ปชช.เบื่อเลือกข้าง ฉุดความนิยมมาร์ค-แม้ววูบทั้งคู่ 53.4%ขออยู่ตรงกลางไม่เลือกใคร

เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจพบ ประชาชนเบื่อเลือกข้าง ฉุดความนิยมทั้ง"อภิสิทธิ์-ทักษิณ"วูบลงทั้งหมด ต้องการเสื้อเหลือง-แดงสมานฉันท์

ดร.นพดล  กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์  มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ผลวิจัยเชิงสำรวจ และผลวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง ฐานสนับสนุนนักการเมืองกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบระหว่าง นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ และ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร และมิตรภาพสัมพันธ์คนเสื้อเหลือง - แดง ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 27 จังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย  กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระแก้ว  ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น  อุดรธานี สกลนคร  หนองคาย น่าน เชียงใหม่  เชียงราย นครสวรรค์  สุโขทัย พิษณุโลก สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  ยะลา และนราธิวาส   จำนวนทั้งสิ้น  4,286 ครัวเรือน ดำเนินโครงการสำรวจระหว่างวันที่  22 - 24 ตุลาคม  2552


ผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ทุกเพศทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ทุกรายได้และทุกภูมิภาค และโดยภาพรวม


- ร้อยละ  53.4 ขออยู่ตรงกลางยังไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดระหว่าง นายอภิสิทธิ์-พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ
- ร้อยละ 25.0 สนับสนุน  พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร
- ร้อยละ 21.6 สนับสนุน  นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ


อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า ประชาชนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะสนับสนุน นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ โดยร้อยละ 25.4 ของผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ ในขณะที่ร้อยละ 20.3 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  และในกลุ่มผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 29.0 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ในขณะที่ร้อยละ 20.3 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แต่ในกลุ่มประชาชนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 26.5 ยังคงสนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และร้อยละ 20.4 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ


เมื่อจำแนกผู้ตอบแบบสอบถามออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า ฐานสนับสนุนของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังคงมีมากกว่า นายอภิสิทธิ์ ในกลุ่ม เกษตรกรและผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 27.8 ต่อร้อยละ 20.4 กลุ่มคนว่างงาน ร้อยละ 27.7  ต่อร้อยละ 21.4 แม้แต่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 23.0 ต่อร้อยละ 17.7 และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ร้อยละ 22.5 ต่อร้อยละ 18.9 ในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ได้รับการสนับสนุนในกลุ่ม พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 20.3 ต่อร้อยละ 14.8 ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ส่วนกลุ่มพ่อค้า ธุรกิจส่วนตัวสนับสนุนนักการเมืองทั้งสองเท่ากันคือร้อยละ 25.1


เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบสิ่งที่น่าพิจารณาสำหรับนายอภิสิทธิ์ คือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และแม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มากกว่านายอภิสิทธิ์ คือ ภาคเหนือร้อยละ 33.6 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ร้อยละ 15.3 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 35.5 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ร้อยละ 11.2 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 21.9 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ร้อยละ 17.4 สนับสนุน นายอภิสิทธิ์


ส่วนภาคกลางใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 20.2 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และร้อยละ 22.7 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ นอกจากนี้ ฐานสนับสนุนในภาคใต้ก็มีเกินกว่าครึ่งหนึ่งมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือภาคใต้ สนับสนุนนายอภิสิทธ์ร้อยละ 53.6 เพียงร้อยละ 3.4 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ


ดร.นพดล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อนักการเมืองทั้งสอง พบว่า แนวโน้มตกต่ำลงทั้งสองคน เพราะคนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดย ฐานสนับสนุนของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ตกลงจากร้อยละ 39.7 ในเดือนกันยายน 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 25.0 ส่วนฐานสนับสนุนของ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะตกลงจากร้อยละ 27.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 21.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ดังนั้น กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์แทนเพื่อดึงฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อตนเองให้เพิ่มสูงมากขึ้น


ผลสำรวจครั้งนี้ยังพบสิ่งที่ฝ่ายการเมืองทั้งที่สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และ นายอภิสิทธิ์  น่าพิจารณาคือ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 ต่างก็อยากเห็นมิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีของคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะที่เพียงร้อยละ 7.4 ไม่อยากเห็นและร้อยละ 8.0 ไม่มีความเห็น


ผลสำรวจยังย้ำให้เห็นสิ่งที่น่าพิจารณาในการขับเคลื่อนการเมืองไทยในอนาคตคือ
5 อันดับแรกวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สาธารณชนไม่อยากเห็น พบว่า ส่วนใหญ่หรือ
- ร้อยละ 92.1 ไม่อยากเห็นการใช้ความรุนแรง ทำร้ายกัน
- ร้อยละ 90.8 ไม่อยากเห็นการชุมนุมปิดถนน ชาวบ้านเดือดร้อน
- ร้อยละ 87.7 ไม่อยากเห็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก
- ร้อยละ 82.6 ไม่อยากเห็นการโจมตี ตอบโต้ใช้อารมณ์
- ร้อยละ 81.8 ไม่อยากเห็นการปิดหู ปิดตาประชาชน บิดเบือนความจริง


เมื่อถามถึงท่าทีของ พล.อ.ชวลิต  ยงใจยุทธ ในการพบกับผู้นำกัมพูชา พบว่า ประชาชนก่ำกึ่งกันคือ
- ร้อยละ 42.9 เห็นด้วย เพราะ เป็นเรื่องปกติใครจะพบใครไม่สำคัญ /เชื่อในเจตนาดีของ พล.อ.ชวลิต / น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศ / ไม่มีผลอะไร / ควรมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งสองประเทศ
- ร้อยละ 40.2 ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะวุ่นวาย ขัดแย้งบานปลาย / อาจมีผลประโยชน์แอบแฝง / ไม่ควรเข้ามายุ่งกับการเมืองอีกแล้ว / เกรงจะสร้างความสับสน เป็นต้น
- ร้อยละ 16.9 ไม่มีความเห็น


ดร.นพดล กล่าวว่า แม้คนไทยส่วนใหญ่เลือกอยู่ตรงกลางมากขึ้น โดยสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิเสธของคนไทยต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แข็งกร้าวและนำไปสู่ความแตกแยกของคนในครอบครัว ชุมชนและในสังคมไทย ตรงกันข้ามประชาชนที่อยู่ตรงกลางมักจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่มีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นก็มักจะทำให้คนไทยที่อยู่ตรงกลางแบ่งออกเป็นสองฝ่ายมากพอๆ กัน จึงน่าเป็นห่วงในจุดนี้


นอกจากนี้ ผ.อ.เอแบคโพลล์ ยังกล่าวว่า จากการวิจัยเชิงคุณภาพ  ด้วยการสนทนากลุ่ม และสัมภาษณ์เชิงลึก จากประชาชนทุกสาขาอาชีพ พบบางประเด็นที่สำคัญ คือ ส่วนมากยอมรับว่า นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นคนดี แต่จุดอ่อนของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ อยู่ตรงที่ความห่างเหิน ไม่ใกล้ชิดประชาชนอย่างแท้จริง ไม่รวดเร็วฉับไวต่อความเดือดร้อนของประชาชน แตกต่างไปจากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร ที่ลงพื้นที่ใกล้ชิดชาวบ้าน เข้าถึงชาวบ้านด้วยตนเอง แต่ นายอภิสิทธิ์  จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง อยู่กับคนชนชั้นสูง เพราะภาพข่าวที่ปรากฏมักอยู่กับเวทีสัมมนา เปิดงาน บรรยายพิเศษตามงานต่างๆ  ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมองว่า เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วมีอำนาจมากต้องสามารถแก้ปัญหาเดือดร้อนได้รวดเร็วฉับไว และไม่ชอบการพูดแก้ตัว ไม่ชอบคำพูดสวยหรูที่ไม่มีผลงานจับต้องได้


ส่วนข้อห่วงใยของประชาชนคือ กลัวว่านายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จะเสียโอกาสทำงานเพื่อประชาชน และประชาชนเองก็กลัวว่าจะเสียโอกาสได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนดีไป


 สำหรับคนกรุงเทพฯ มองว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะมีผลงานโดดเด่นให้คนกรุงเทพมหานครได้มากกว่านี้ เพราะทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกรัฐมนตรีอยู่พรรคการเมืองเดียวกัน ส่วนข้อเสนอแนะในการเพิ่มฐานสนับสนุนให้ทำงานเพื่อประชาชนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ ประการแรก ลงพื้นที่ชนบทห่างไกลให้มากขึ้น ประการที่สอง ลดการเปิดงาน หรือออกงาน บรรยายพิเศษลง ประการที่สาม เพิ่มเวลาแก้ปัญหาในระดับชุมชนให้เห็นผลชัดเจน รวดเร็วฉับไวมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาปากท้อง ปัญหาที่ทำกิน ปัญหายาเสพติด ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน


จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 50.8  เป็นหญิง ร้อยละ 49.2  เป็นชาย  ตัวอย่างร้อยละ  8.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.3  อายุระหว่าง 20 - 29 ปี ร้อยละ  27.7  อายุระหว่าง 30 - 39 ปี ร้อยละ 23.7  อายุระหว่าง 40 - 49 ปี และ ร้อยละ  17.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 76.5  สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี รองลงมาคือร้อยละ 21.9  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.6  สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี  ตัวอย่างร้อยละ 31.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป   ร้อยละ 29.6  ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว   ร้อยละ 12.2   ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ  9.2  ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.2  เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ  ร้อยละ  6.2  เป็นนักเรียน/นักศึกษา  ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์