ภาคประชาสังคม ซัดอาเซียนไม่จริงใจปชช.คว่ำบาตรพบผู้นำ พิธีเปิดกร่อยผู้นำมาแค่4ล้มถ่ายรูปหมู่


เปิดฉากอาเซียนซัมมิทกร่อยสุดๆ ผู้นำเข้าร่วมพิธีแค่ 4 ประเทศเป็นเหตุต้องยกเลิกถ่ายภาพหมู่ มิหนำซ้ำภาคประชาสังคมฉุนไม่ให้ความสำคัญอย่างแท้จริงคว่ำบาตรพบปะผู้นำ ซัดไม่จริงใจกับปชช.

ผู้นำอาเซียนแค่4ชาติร่วมพิธีเปิด


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 อย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 23 ตุลาคม ที่ห้องรอยัล ดุสิต แกรนด์ บอลรูม-รอยัล ดุสิต ฮอลล์ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน โดยมีผู้นำอาเซียนเข้าร่วมในพิธีเปิดเพียง 4 ชาติ คือ ผู้นำพม่า ลาว เวียดนาม และสิงคโปร์ ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ นายกรัฐมนตรีบรูไน ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ไม่ได้เข้าร่วมในพิธี เนื่องจากเพิ่งเสด็จมาจากการเยือนรัสเซีย


สำหรับผู้นำ 4 ชาติที่ยังเดินทางมาไม่ถึงประเทศไทย ส่งผู้แทนเข้าร่วมในพิธีเปิด โดยกัมพูชา คือ นายจาม ประดิษ รัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงพาณิชย์ มาเลเซีย คือ ดาโต๊ะ อานิฟะห์ บิน ฮาจิ อามาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วม


พิธีเปิดประชุมผู้นำอาเซียนเริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลงอาเซียน เวย์ ซึ่งเป็นเพลงประจำอาเซียน จากนั้นเป็นการแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอนยกรบ ตามด้วยการฉายสารคดี 42 ปี อาเซียน มีเนื้อหาเริ่มตั้งแต่การลงนามก่อตั้งอาเซียน ความร่วมมือและผลงานของอาเซียนในด้านต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


ชู3ด้านรวมประชาคมอาเซียน


นายอภิสิทธิ์กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนเป็นความพยายามที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับอาเซียน แต่ภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้คือการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบให้ได้ในปี 2553 โดยเน้นใน 3 ด้านหลัก คือ เป็นประชาคมแห่งการปฏิบัติ ประชาคมแห่งการเชื่อมโยง และเป็นประชาคมของประชาชน


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อาเซียนต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายหลายรูปแบบ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และการเกิดโรคระบาด ที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ แต่ยังมีภารกิจอีกมากที่ต้องดำเนินต่อไป ที่สำคัญคือ ต้องนำวิธีใหม่ๆ มาใช้ในการผลักดันความร่วมมือของอาเซียน โดยสนับสนุนบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียนให้มากขึ้น


"ประเทศไทยขอให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเร่งให้สัตยาบันความตกลงต่างๆ รวมทั้งทำให้กฎบัตรอาเซียนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนŽ นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อถึงเวลาส่งมอบตำแหน่งประธานให้กับเวียดนาม อาเซียนจะอยู่บนเส้นทางที่มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่เน้นการปฏิบัติและมีความเชื่อมโยงมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน"


ยกเลิกถ่ายรูปหมู่เหตุไร้5ผู้นำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ผู้นำอาเซียนถึง 5 ประเทศไม่ได้เข้าร่วมในพิธีเปิด ทำให้ทางการไทยตัดสินใจยกเลิกการถ่ายภาพหมู่ของผู้นำอาเซียนหลังพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีขึ้นทุกครั้งหลังการเปิดประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงค่ำที่ผู้นำอาเซียนมีกำหนดจะพบกันระหว่างการหารือในงานเลี้ยงอาหารค่ำของผู้นำอาเซียนในเวลา 19.00-22.00 น. ก็ยังไม่ชัดเจนว่าผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะเข้าร่วมครบทั้งหมดหรือไม่ เพราะผู้นำอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างเดินทางมาถึงในช่วงดึกทั้งสิ้น แต่ในช่วงเช้าวันที่ 24 ตุลาคม ระหว่างเวลา 08.00-09.00 น. ได้กำหนดให้เป็นเวลาสำหรับการหารืออย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าผู้นำอาเซียนจะเข้าร่วมในการหารือดังกล่าวทั้งหมด


ภาคประชาสังคมคว่ำบาตรผู้นำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพิธีเปิดประชุมแล้วเสร็จ ผู้นำอาเซียนเริ่มต้นพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน และผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน อย่างไรก็ตาม เวทีการพบปะระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคประชาสังคมต้องล้มไป หลังจากที่ผู้แทนภาคประชาสังคมจาก 10 ประเทศในอาเซียนตัดสินใจคว่ำบาตรการประชุมดังกล่าวโดยไม่เข้าร่วมพบปะกับผู้นำ เนื่องจากเห็นว่าอาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง


โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลหกประเทศ ประกอบด้วย พม่า กัมพูชา ลาว บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีความพยายามที่จะส่งตัวแทนที่รัฐบาลเป็นผู้คัดเลือกเข้าร่วมในเวทีดังกล่าวในฐานะผู้แทนภาคประชาชนแทนที่จะให้ผู้แทนภาคประชาชนคัดเลือกกันเอง โดยมีเพียง 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่เป็นผู้แทนจากภาคประชาชนที่แท้จริง ทำให้ผู้แทนภาคประชาสังคมรับไม่ได้และรู้สึกไม่พอใจที่ผู้แทนภาคประชาสังคมของ 6 ประเทศถูกจำกัด


นอกจากนี้ ตัวแทนภาคประชาชนยังได้รับการประสานจากอาเซียนว่า การพบปะกับผู้นำอาเซียนจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้แทนภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อผู้นำ โดยจะให้มีเพียงการยื่นแถลงการณ์และข้อเรียกร้องที่ได้รวบรวมจากที่ประชุมเวทีคู่ขนานของภาคประชาชนที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้เท่านั้น อีกทั้งกำหนดการยังเป็นลักษณะที่เปิดโอกาสให้ผู้นำอาเซียนเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้นำอาเซียนเอง ทำให้ตัวแทนทั้งหมดและผู้จัดงานภาคประชาชนเห็นตรงกันว่าควรจะคว่ำบาตรไม่เข้าพบผู้นำอาเซียนไปเลย และจะใช้วิธีแถลงข่าวกับสื่อมวลชนแทน
น.ส.เด็บบี้ โรว์ ผู้ประสานงานของเครือข่ายทางเลือกอาเซียนว่าด้วยเรื่องพม่า ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศไทยเมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 22 ตุลาคม ว่า รายชื่อภาคประชาสังคมหลายประเทศถูกปฏิเสธจากรัฐบาล ที่ต้องการส่งตัวแทนซึ่งเป็นคนที่รัฐบาลกำหนดมาแล้วให้เข้าร่วมแทน การกระทำครั้งนี้ขัดกับกฎบัตรอาเซียนที่ส่งเสริมให้มีการพบปะกับภาคประชาชน และยังแสดงถึงการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศเหล่านี้อีกด้วย


เอ็นจีโอฉุนห้ามตัวแทน5ปท.คุยผู้นำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 13.30 น. ตัวแทนภาคประชาสังคมชาติอาเซียนกว่า 20 คน เดินทางมาที่โรงแรม เชอราตัน จ.เพชรบุรี เพื่อแถลงข่าวแสดงความไม่พอใจ กรณีที่ตัวแทนภาคประชาสังคมจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา พม่า ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับตัวแทนภาคประชาสังคมอาเซียน ซึ่งมีกำหนดการเวลา 11.50 น.เวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมสามารถฟังได้แต่ห้ามแสดงความคิดเห็น ทำให้ตัวแทนจากไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แสดงสปิริตโดยการลุกออกจากห้องประชุม จนเหลือตัวแทนไม่กี่ชาติเท่านั้นที่ยังอยู่ในห้องประชุม


แม่ชีเครสเซนเชีย แอล ลูเซโร ตัวแทนภาคประชาสังคมจากฟิลิปปินส์ กล่าวว่า พวกเราได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย วันนี้เวลา 07.00 น. ว่าตัวแทนจาก 5 ประเทศถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุม ส่วนประเทศที่เข้าร่วมก็ถูกสั่งไม่ให้พูดใดๆ ยกเว้นนายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้ดำเนินรายการเท่านั้น การปฏิเสธตัวแทนซึ่งถูกเลือกมาจากประชาชน ถือเป็นการปฏิเสธกระบวนการประชาธิปไตย ที่สำคัญพฤติกรรมของรัฐบาลกัมพูชา พม่า ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่จะตั้งขึ้นในวันเดียวกัน


อภิสิทธิ์ หารือทวิภาคีผู้นำบรูไน-พม่า


วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ได้หารือทวิภาคีกับ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า โดย พล.อ.เต็ง เส่ง ได้ฝากคำอวยพรจาก พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำพม่าต่อพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ดีขึ้น พม่าระบุว่าไทยเป็นเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกันเป็นระยะทางยาว จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยพม่ายึดถือหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติและจะไม่ยอมให้บุคคลใดใช้พื้นที่ของพม่าเพื่อดำเนินการใดๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณพม่าที่สนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียน พร้อมระบุว่า ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและประธานอาเซียนบอกกับทุกประเทศว่าควรมีปฏิสัมพันธ์กับพม่า ซึ่งน่ายินดีที่หลายประเทศจะมีปฏิสัมพันธ์กับพม่ามากยิ่งขึ้น และเสนอให้พม่ารายงานพัฒนาการในประเทศระหว่างประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 24 ตุลาคม


นายอภิสิทธิ์ระบุด้วยว่า หวังจะเยือนพม่าอย่างเป็นทางการในโอกาสแรกหลังการเลือกตั้งในพม่า และต้องการขอพบกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยระหว่างการเยือน เพื่อสนับสนุนกระบวนการทั้งหมดในสายตาของประชาคมโลก


นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการหารือทวิภาคีระหว่างนายอภิสิทธิ์กับสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ นายกรัฐมนตรีบรูไน ว่าได้หารือในเรื่องสำคัญๆ ที่จะมีความร่วมมือกัน อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาทางการเกษตร การจัดตั้งกองทุนและการลงทุนร่วมกันระหว่างไทยกับบรูไน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์