“เลิศรัตน์”เปิดทางส.ว.ล่าชื่อแก้ไขรธน.

คมชัดลึก :“เลิศรัตน์ ” เปิดทางส.ว.ล่าชื่อแก้รธน.เอง รับวิป 3 ฝ่าย ขาด "พท." เดินหน้าลำบาก "เพื่อไทย"ซัดปชป.ไม่จริงใจเล็งล้มโต๊ะแก้รธน.

(16 ต.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์  รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะวิปวุฒิสภา กล่าวภายหลังการหารือกับ คณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานรัฐสภา ว่า กรอบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ทั้งหมด โดยยกร่างแก้ไขรวมเป็น 1 ร่าง 6 ประเด็น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วันคงจะแล้วเสร็จ ส่วนจะตัดทอนหรือเพิ่มลด ในประเด็นใดบ้าง เบื้องต้นให้คงตามคณะกรรมการสมานฉันท์ฯทั้งหมด แต่ท้ายสุดจะเพิ่มหรือลดประเด็นใดบ้างนั้น คงต้องแล้วแต่ท่านนายกฯจะตัดสินใจอย่างไร

 ส่วนที่นายประสิทธิ์  โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี จะล่าชื่อส.ส.และส.ว.ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่รอมติวิป 3 ฝ่ายนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่สามารถดำเนินการได้เลย เพราะขณะนี้ต้องเข้าใจว่า การประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายที่เราต่างคาดหวังกันนั้น ขณะนี้เหลือเพียง วิปรัฐบาล และวิปวุฒิเท่านั้น เนื่องจาก วิปฝ่ายค้านได้ถอนตัวไป และคงเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ เพราะมันไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย การยอมรับอะไรต่าง ๆ คงด้อยค่าลง ส่วนจะแก้หรือไม่แก้ หรือการทำประชามติก่อนแก้ คงแล้วแต่ท่านนายกฯจะตัดสินใจ

"เพื่อไทย"ซัดปชป.ไม่จริงใจเล็งล้มโต๊ะแก้รธน.

 ในการประชุมคณะปฏิบัติการการเมืองของพรรคเพื่อไทย โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยตัวแทนแต่ละภาคเข้าร่วม นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกทม.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ นายชวลิต วิชยสุทธ์ ส.ส.สัดส่วน เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

 นายพร้อมพงศ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เห็นความไม่จริงใจของพรรคประชาธิปัตย์มีความกลับไปมา ทำความต้องการกลุ่มต่าง ๆ เช่น พันธมิตรฯ ทหาร และพรรคร่วมรัฐบาล เงื่อนไขต่าง ๆที่ออกมาเป็นระยะ ไม่ว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ การทำประชามติ ล้วนเป็นการทำเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น พรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอาด้วย พรรคประชาธิปัตย์ จึงได้โอกาสที่จะล้มโต๊ะ

 อย่างไรก็ตามจากท่าทีล่าสุดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายในพรรคตัวเอง กลุ่มหนึ่งไม่อยากให้แก้ไข ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคอยากให้มีการแก้ไข เนื่องจากทราบมาว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจถูกยุบ จากกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท และเงินสนับสนุน กกต.29 ล้าน ที่อนุกรรมการกกต.จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมกกต.ชุดใหญ่ในต้นเดือนพ.ย.นี้

 " ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ลักษณะที่แปลกออกไป โดยเหมือนกับอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา237 ห้ามยุบพรรคการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้หากกกต.ตัดสินให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จริง กระบวนการต่าง ๆ จะต้องใช้เวลาอีกนาน ซึ่งถ้ารัฐบาลตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์"นายพร้อมพงศ์ ระบุ

 พรรคเพื่อไทยยังคงมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้นทุกกระบวนการของสภาฯที่กำลังจะทำในขณะนี้ เราจะไม่ไปร่วมปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการไปเอง โดยพรรคเพื่อไทยจะออกไปรณรงค์ต่อประชาชน ในการนำรัฐธรรมนูญ2540 กลับมาใช้ ไม่ยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างรัฐธรรมนูญ2550 เพราะได้มีการยุบพรรคที่ประชาชนศรัทธาไปถึง2ครั้ง ดังนั้นพรรคจะจัดสัมนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์