ทูตมะกันห่วงปมมาบตาพุด ถามมาร์คจะจบอย่างไร เครือข่ายคนตะวันออกยื่นป.ป.ช.สอบนายกฯ-ครม.


เอกอัครราชทูตสหรัฐเป็นกังวลปัญหา "มาบตาพุด" เอ่ยปากถามจะจบลงอย่างไร "มาร์ค" แจงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญเก่าสู่ใหม่ ไม่กระทบโครงการที่อนุมัติแล้ว ปตท.อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด เครือข่ายคนตะวันออก ยื่นป.ป.ช.สอบมาร์ค-ครม.

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า นายอีริค จี จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย นำคณะนักธุรกิจ 20 คนจาก 20 ประเทศในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งจีนและอินเดีย เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่คณะนักธุรกิจเหล่านี้มาร่วมประชุมในเวทีภาคเอกชนก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
 

" นายจอห์นได้สอบถามนายกฯถึงปัญหามาบตาพุด จังหวัดระยองว่า จะจบลงอย่างไร ซึ่งนายกฯชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใดๆ ด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการปรับปรุงขบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงการจัดทำการรายงานด้านสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นจากเดิมเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาสู่ฉบับใหม่ และไม่มีผลกระทบต่อโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้ว ขณะเดียวกันนายกฯยังยืนยันกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯว่าได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เร่งแก้ไขกฎระเบียบให้ชัดเจน ซึ่งทางสหรัฐฯเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี " นายเกียรติกล่าว
 

ด้านนายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ กลุ่มปตท. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้คุ้มครองชั่วคราว 76 โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อให้มีโอกาสนำข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้องชี้แจงต่อศาลโดยตรง เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งนอกจากกลุ่ม ปตท. จะดำเนินงานตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด และปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายของภาครัฐอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ จ.ระยองอย่างต่อเนื่อง
 

นายปรัชญากล่าวว่า จากการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงานจำนวน 3,000 คน จาก 11 บริษัทของกลุ่ม ปตท. ใน จ.ระยอง ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไม่พบว่าพนักงานมีความผิดปกติใดๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งอันเกิดจากการปฏิบัติงานภายในโรงงาน  นอกจากนั้นสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดไม่ได้มีปัญหารุนแรงแต่อย่างใด จากข้อมูลรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2551) พบว่าจำนวนประชากรใน จ.ระยองที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเท่ากับ 0.5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรืออยู่ในลำดับที่ 21 ของจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
 

นายปรัชญากล่าวว่า โครงการลงทุนของกลุ่ม ปตท. ทั้ง 25 โครงการเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยแล้ว และไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีการวางแผนและลงทุนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะไม่ทำให้มลพิษในพื้นที่สูงขึ้น ยังกลับจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
 

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า วันเดียวกันนี้เดินทางไปยื่นหนังสือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากอนุมัติโครงการ 76 แห่งในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ถือเป็นการจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ
 

นายสุทธิกล่าวว่า นอกจากนี้กรณีที่รัฐบาลแก้ มาตรา 51 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรคสองนั้น ทางเครือข่ายฯไม่เห็นด้วยเพราะไม่ได้ให้อิสระกับการตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านเห็นว่าเป็นการแก้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรคสอง โดยเตรียมจะยื่นเรื่องให้ ส.ว. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ช่วยตรวจสอบว่าเนื้อหาที่ปรับแก้ มาตรา 51 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 นั้นสอดคล้องกับมาตรา 67 วรรคสองจริงหรือไม่ และท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องพึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความในประเด็นนี้ด้วย
 

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เรียกประชุมอุตสาหกรรมจังหวัด ที่มีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ระยอง จันทบุรี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สระบุรี ขอนแก่น เชียงราย เพื่อทำความเข้าใจขอบเขตการทำงาน รวมทั้งมอบนโยบายไว้เป็นแนวทางในการทำงานเชิงลึกร่วมกับกระทรวง โดยหยิบยกกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุดและความไม่ชัดเจนของมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ  เป็นตัวตั้งหากเกิดปัญหาลักษณะเดียวกันในจังหวัดอื่น
 

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ได้มอบ 4 นโยบายเบื้องต้น คือ
1.อุตสาหกรรมจังหวัดต้องติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดอย่างใกล้ชิด เช่น ปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด และมลพิษ ใน จ.สระบุรี โดยต้องเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน และรายงานผลกระทบให้กระทรวงรับทราบ อย่างกรณีปัญหาม็อบที่ จ.สระบุรี อุตสาหกรรมจังหวัดต้องอธิบายและชี้แจงการแก้ปัญหาให้เกิดความเข้าใจให้ได้
2.ควรแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร เช่น ระบบการจัดการขยะของโรงงาน ที่ต้องดูแลตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึงกระบวนการกำจัดขั้นสุดท้าย ว่ามีหน่วยงานใดดูแลและรับผิดชอบ หากเกิดปัญหาขึ้น
3. อุตสาหกรรมจังหวัดสามารถเสนอแนะเชิงนโยบายมายังกระทรวงได้ และให้เพิ่มความรอบคอบเรื่องการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ เช่น วัตถุดิบที่โรงงานใช้ผลิตมีจำกัดหรือไม่ และจะส่งเสียต่อประชาชนจนเกิดภาวะขาดแคลนจนทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นหรือไม่ และ
4.เน้นย้ำให้อุตสาหกรรมจังหวัดสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ และชุมชนในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องปรับภาพลักษณ์ เพราะกรณีที่มาบตาพุดทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อกระทรวง ดังนั้นอุตสาหกรรมจังหวัดต้องเป็นแขนขาที่มีประสิทธิภาพของกระทรวงให้ได้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์