สัญญาณไทยรักไทย อยากเปลี่ยน´ผู้นำ´

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : สัญญาณไทยรักไทยอยากเปลี่ยน"ผู้นำ"


ท่ามกลางอุณหภูมิการเมือง ที่ภาคประชาชนและเครือข่ายนักวิชาการ ตลอดจนกลุ่มพันธมิตรฯเดินหน้าประกาศจัดกิจกรรมและขึ้นเวทีชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้นายกฯทักษิณ "วางมือการเมือง" โดยการขับเคลื่อนมีต่อเนื่อง
ในขณะที่พรรคไทยรักไทยและคนในรัฐบาล ต่างยกเอา "การเลือกตั้ง" และให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสินว่าจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำงานการเมืองต่อไปหรือไม่

แต่ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คนในไทยรักไทยต่างอึดอัด ไม่รู้ว่าหัวหน้าพรรคจะตัดสินใจอย่างไร เพราะเมื่อถูกสื่อจี้ถามก็บอกว่าแล้วจะมีคำตอบเร็วๆนี้ ซึ่งความไม่ชัดเจนก็ส่งผลสะเทือนกับแผนการหาเสียงของพรรคด้วย เพราะเสียงสะท้อนจากคนชนบทต่างสอบถามบรรดาอดีต ส.ส.ที่ลงวพื้นที่ถึงท่าทีชัดเจนว่าตกลงจะเว้นวรรคหรือจะเป็นนายกฯต่อไป


กระแส "ไม่เอาทักษิณ" ที่ยังขยายตัวไปไม่หยุดแล้ว

นอกจากกระแส "ไม่เอาทักษิณ" ที่ยังขยายตัวไปไม่หยุดแล้ว ตัวแปรทางด้านคดียุบพรรคก็ยังเป็นสิ่งที่ฉุดความรู้สึกคนในไทยรักไทย ให้เกิดหวั่นไหวในอนาคตด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคลื่นใต้น้ำในไทยรักไทยจากบรรดากลุ่มมุ้งต่างๆ ที่มีการเตรียมหาทางหนีทีไล่ ทั้งการจัดตั้งพรรค "นอมินี" ไว้รองรับเฉพาะกิจ

อีกทั้งความพยายามจะหาตัวตายตัวแทน พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะหากไม่ถึงที่สุดก็ไม่จำเป็นต้องสละพรรคทิ้ง เนื่องจากไทยรักไทยยังมีจุดสามารถขายได้ ทั้งนโยบายประชานิยมที่คนในชนบทยังให้ความนิยมสูง

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามผลักดัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขึ้นนั่งตำแหน่ง "นายกฯนอมินี" เห็นได้จากการปล่อยข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้คนใกล้ชิดพวกสายตรงนายกฯทักษิณ จะออกมาเบรกและบอกเสมอว่าหลังเลือกตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ถึงจะตัดสินใจอนาคตการเมืองของตัวเองก็ตาม

ประการหนึ่ง ที่กลุ่มมุ้งในพรรค อยากให้มีการปรับเปลี่ยน ก็เพราะวิเคราะห์แล้วว่าหากพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงนั่งตำแหน่งนายกฯต่อไป การต่อต้านก็ไม่หมดสิ้น และอาจทวีรุนแรงถึงขั้นแตกหัก สู้ให้เว้นวรรคและปล่อยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปฎิรูปการเมืองแล้วค่อยกลับมาก็จะเหมาะสมกว่า


แต่ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับนิ่งเฉย และดูเหมือนว่าจะไม่รับเงื่อนไขการเมืองแบบนี้ด้วย !


ส่วนหนึ่งจะว่าไปแล้ว เป็นการคัดค้านจากกลุ่มสายตรง"จันทร์ส่องหล้า" ที่เกรงว่าหากนายสมคิดขึ้นสู่ตำแหน่ง อำนาจในไทยรักไทยจะเสียศูนย์และถูกยึดกุมจากกลุ่มที่สนับสนุนนายสมคิด

ทั้งนี้แหล่งข่าวในไทยรักไทย ระบุว่า กลุ่มวังน้ำยมของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่มีอดีตส.ส.อยู่ในก๊วนกว่าร้อยคนให้การสนับสนุนนายสมคิดเต็มกำลัง และมีการพบปะกันบ่อยครั้ง ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาฯพรรค ก็หันเอียงมาข้างนี้ ด้วยเหตุที่เกิดขัดแย้งกับหัวหน้าพรรคในหลายๆเรื่อง

โดยชนวนสำคัญแว่วว่ามาจากเรื่อง"สนามบินสุวรรณภูมิ"เป็นหลัก และยิ่งแตกแยกเมื่อครั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ถือหางข้าง นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล หรือ"เฮียเพ้ง" รองเลขาฯพรรค นั่งรักษาการ รมว.คมนาคม หนุนให้เฮียเพ้งไปดูแลเรื่องรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สาย หักหน้านายสุริยะอย่างเจ็บปวด

ยังไม่นับรวมกลุ่มมุ้งอื่นๆ ที่เริ่มรวมตัวตั้งป้อมกับกลุ่มสายตรงของพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นในไทยรักไทยจึงมีอาการคลื่นใต้น้ำ


ล่าสุด ..


น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย ได้ออกมายืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังลงเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 และเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป ดังนั้นทุกนโยบายของพรรคต้องขับเคลื่อนต่อไป ในอนาคตการจะรับตำแหน่งการเมืองใดๆหรือไม่ เป็นสิทธิส่วนบุคคลของพ.ต.ท.ทักษิณที่จะตัดสินใจ

ส่วนความชัดเจนในการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของนายสมคิด ที่มีข่าวว่าจะไม่ลงสมัคร ซึ่งเท่ากับตัดสิทธิ์จะเป็น"นายกฯนอมินี" เพราะการโหวตเลือกนายกฯต้องเป็นส.ส.เท่านั้น ในเรื่องนี้ น.ต.ศิธา ตอบว่า นายสมคิดยังเป็นหนึ่งในประธานคณะกรรมการรณรงค์การประชาสัมพันธ์เลือกตั้ง มีส่วนคิดแคมเปญการเลือกตั้ง ซึ่งมีความสำคัญกับพรรค ฉะนั้นเมื่อทำงานเลือกตั้งให้กับพรรคแล้ว คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ท่านจะไม่ลงสมัคร

"ณ ปัจจุบันท่านยังมีใจและยินดีที่จะร่วมกับงานของพรรคไทยรักไทย อย่างไรก็ตามการตัดสินใจสุดท้ายต้องขึ้นอยู่ที่ตัวของท่าน"

กระนั้นก็ดี ความเห็นจากฝ่ายสายตรงของนายกฯทักษิณ อย่าง น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีที่มีแกนนำพรรคบางคนออกมาสนับสนุนนายสมคิด ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หาก พ.ต.ท.ทักษิณ เว้นวรรคทางการเมือง ว่า ทุกคนมีสิทธิ์สนับสนุนกันได้ แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้ประชาชนสับสน เพราะในกระบวนการประชาธิปไตย มีความแตกต่างเกิดขึ้นได้


ท่าทีเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรเลย เป็นการเฉไฉกลบเกลื่อนคลื่นใต้น้ำในพรรค ที่กลุ่มมุ้งภายในรวมตัวส่งสัญญาณขอเปลี่ยน "นายกฯคนใหม่" !


"จุดนี้ก็เป็นข้อยืนยันอีกครั้งว่า ความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ทำกันอย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา ในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว เวลาที่ส่งตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็มีการต่อสู้กันภายในพรรค แต่พอใครได้เป็นแล้วก็ช่วยเหลือกัน ให้เกียรติกัน"




แหล่งข่าว: กรุงเทพธุรกิจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์